22 ต.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ซื้อขายหุ้น 1 ครั้ง ต้องเสียค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง?

รู้หรือไม่! เวลาซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทย นอกจากจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่บริษัทโบรกเกอร์เรียกเก็บแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ อีกด้วยนะ
วันนี้จะพาทุกคนมาเจาะลึกกับค่าธรรมเนียมเวลาซื้อขายหุ้น ซึ่งถือเป็นต้นทุนแฝงของการลงทุน ที่หลายคนอาจยังไม่รู้
ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้
1. ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์
เป็นค่าคอมฯ ที่จ่ายให้กับโบรกเกอร์ (Brokerage Fee) ในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์ที่เลือก ประเภทบัญชี และวิธีการซื้อขาย
ตัวอย่างเช่น
- กรณีซื้อขายผ่านเจ้าหน้าที่ จะอยู่ที่ประมาณ 0.25% ของมูลค่าซื้อขาย
- กรณีซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ บัญชี Cash Balance = 0.15% ของมูลค่าซื้อขาย และบัญชี Cash Account = 0.20% ของมูลค่าซื้อขาย
2. ค่าธรรมเนียมซื้อขายขั้นต่ำ
บางโบรกเกอร์มีกำหนดขั้นต่ำเวลาซื้อขาย ส่วนมากจะมีขั้นต่ำ 50 บาท/วัน หากในวันนั้นเราซื้อขายหุ้นแต่ค่าคอมฯ ไม่ถึง 50 บาท ก็จะถูกคิดค่าคอมฯ ที่ 50 บาท
3. ค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะเรียกเก็บ 0.007% ของมูลค่าซื้อขาย ประกอบด้วย
- ค่าธรรมเนียมตลาด (SET Trading Fee) = 0.005%
- ค่าธรรมเนียมชำระราคา-ส่งมอบ (TSD Clearing Fee) = 0.001%
- ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล (Regulatory Fee) = 0.001%
4. ค่าธรรมเนียมตัดเงินจากบัญชีธนาคาร หรือ ATS Fee
เฉพาะบัญชี Cash Account จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มเข้ามา 14 บาทต่อครั้ง เป็นค่าบริการที่ต้องชำระให้ธนาคารเมื่อมีหักเงินซื้อขายหุ้นในบัญชีเงินฝากธนาคารอัตโนมัติ
5. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
จะต้องมีการคิด VAT 7% ของค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่เราจ่ายให้โบรกเกอร์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ (ไม่ได้คิดจาดยอดเงินลงทุนทั้งหมดนะ)
สำหรับค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมซื้อขายขั้นต่ำ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของโบรกเกอร์ที่เราสนใจได้เลย
หากเป็นมือใหม่และมีเงินเริ่มต้นลงทุนไม่มากนัก แนะนำให้เลือกเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมซื้อขายขั้นต่ำจะดีกว่า เพราะหากซื้อขายหุ้นบ่อยครั้งและต้องเสียค่าธรรมเนียมขั้นต่ำด้วย จะยิ่งทำให้มีต้นทุนในการซื้อขายหุ้นเพิ่มขึ้น และยังไปกัดกินกำไรให้ลดลงอีกด้วย
แม้ค่าธรรมเนียมจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นอีกสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม ดังนั้นจึงควรเลือกให้สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนของตัวเองนะ
โฆษณา