25 ต.ค. เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

รู้จัก Final Tax เมื่อถูกหักภาษีแล้ว ไม่ต้องรวมยื่นภาษีสิ้นปีอีกก็ได้

โดยส่วนใหญ่เมื่อเรามีเงินได้ (เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เงินปันผล) ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งมีหลายคนมักจะเข้าใจประเด็นนี้ผิดไป คือ คิดว่าเราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วก็คือจบ ถือว่าเสียภาษีแล้ว ไม่ต้องยื่นตอนสิ้นปีก็ได้
1
แต่ความจริงแล้ว มีเงินได้บางประเภทที่เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว เรามีสิทธิ์เลือกได้ว่านำมารวมยื่นหรือไม่รวมยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนสิ้นปีก็ได้
ส่วนเงินได้บางประเภท เช่น เงินเดือน ค่าจ้างต่างๆ เป็นการหักจ่ายภาษีล่วงหน้าเท่านั้น และต้องนำรายได้ก้อนนั้นไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีสิ้นปีตามปกติด้วย
วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ “Final Tax” หรือ ภาษีสุดท้าย ที่เราถูกหักภาษีไว้แล้วจบได้ นอกจากนี้ถ้าเรา Final Tax มาร่วมวางแผนภาษีด้วย ก็อาจช่วยให้ประหยัดเงินจ่ายภาษีได้เยอะเลย
“Final Tax” (ภาษีสุดท้าย) คือ เงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว โดยผู้มีเงินได้สามารถเลือกที่จะนำมารวมหรือไม่รวมคำนวณ ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตอนปลายปีได้ ส่วน Advance Tax (ภาษีล่วงหน้า) คือ ภาษีที่จัดเก็บก่อนล่วงหน้าและนำส่งให้กับสรรพากรไว้ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำเงินได้ส่วนนี้ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
ปัจจุบัน เงินได้ที่ได้รับสิทธิ์ Final Tax และพบบ่อยๆ มี 5 ประเภท
1. ดอกเบี้ยต่างๆ (เช่น เงินฝาก พันธบัตรและหุ้นกู้) - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
2. ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตราสารหนี้ - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
3. กำไรจากการโอนขายตราสารหนี้ - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15%
4.เงินปันผล - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10%
5.เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ (ได้ทางมรดก และไม่มุ่งค้าหรือหากำไร) - อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นอัตราก้าวหน้า โดยสำนักงานที่ดินคิดภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้
ดังนั้น สำหรับคนที่จะวางแผนภาษีด้วย Final Tax เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราจะต้องรู้จักประเภทของเงินได้ของตัวเองก่อน และรู้ว่าเงินได้ใดที่ได้สิทธิ Final Tax บ้าง รวมถึงต้องรู้วิธีการคำนวณภาษีภาษีแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อจะได้คำนวณเปรียบเทียบดูก่อนว่า ระหว่างวิธีรวม กับ วิธีไม่รวม Final Tax วิธีไหนประหยัดภาษีมากกว่ากัน
เทคนิคง่ายๆ ในการดูว่าวิธีไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน คือ ถ้าฐานภาษีของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีปลายปี เท่ากับหรือสูงกว่า อัตรา Final Tax แนะนำให้เลือกเสีย Final Tax เลยดีกว่า ทั้งนี้เพื่อความถูกต้องแม่นยำ แนะนำให้ลองคำนวณทั้ง 2 วิธีแล้วเปรียบเทียบดีกว่า
2
โฆษณา