28 ต.ค. 2024 เวลา 00:00 • หนังสือ

คนประสบความสำเร็จระดับสูงล้วนอ่านหนังสือ

วอร์เรน บัฟเฟตต์ อ่านหนังสือวันละราวห้าหกชั่วโมง มาร์ก คิวบัน อ่านหนังสือวันละสามชั่วโมง บิล เกทส์ รักการอ่าน แม้จะยุ่งก็หาเวลาอ่านหนังสือปีละห้าสิบเล่ม
1
วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้คร่ำหวอดในวงการธุรกิจและหุ้น ซึ่งเป็นสายอาชีพที่ไม่น่าจะต้องสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ แต่บัฟเฟตต์อ่านหมด เขาแนะนำนักศึกษาให้อ่านหนังสือวันละ 500 หน้า
เขาบอกว่าการอ่านนั้นเหมือนดอกเบี้ยทบต้น ใคร ๆ ก็ทำได้ “แต่ผมรับรองว่ามีไม่กี่คนที่จะทำ”
2
มาร์ก คิวบัน นักธุรกิจพันล้านชาวอเมริกัน เห็นว่าการลงทุนที่ดีที่สุดในชีวิตคือการอ่านหนังสือ เขาบอกว่า คนส่วนมากไม่ยอมสละเวลาเพื่อหาข้อได้เปรียบในความรู้
ก็คือการอ่าน
เขาบอกว่าการอ่านทำให้เขาได้เกิดเป็นวันนี้ เขายังบอกว่าสิ่งที่เขาอ่านเป็นสาธารณะ ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมีใครทำ
2
นักธุรกิจ อีลอน มัสก์ อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก อ่านตั้งแต่นิยายแฟนตาซี เช่น The Lord of the Rings ไปจนถึงหนังสือเกี่ยวกับจรวด อายุเก้าขวบเขาอ่านนิยายไซไฟวันละสิบชั่วโมง และยังอ่าน Encyclopedia Britannica ทั้งชุด
สตีฟ จ๊อบส์ ก็ศึกษารอบด้าน แม้แต่เรื่องปรัชญาตะวันออกและเซน
คนเหล่านี้ยืนอยู่บนที่สูง การงานรัดตัว เวลามีจำกัด แต่ทำไมเสียเวลาอ่านหนังสือ?
สังคมมนุษย์เราเดินไปในทิศทางที่แยกอาชีพย่อยยิบขึ้น เราสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้นจนกระทั่งคนเก่งรอบตัวมีน้อยลงเรื่อย ๆ
1
นี่อาจเป็นเรื่องดีที่เรามีเซียนในทุกวงการช่วยพัฒนาวิทยาการไปไกลขึ้น แต่ก็อาจเป็นจุดอ่อน เพราะทำให้คนจดจ่ออยู่ในเรื่องเดียว จนเกิดความคิดความเชื่อว่าตนเองไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องอื่นที่ดูไม่เกี่ยวกับอาชีพการงาน
5
นักธุรกิจอ่านประวัติศาสตร์มนุษย์ ทนายความอ่านชีววิทยา สถาปนิกอ่านจักรวาลวิทยา พ่อค้าอ่านปรัชญา ฯลฯ (นักเขียน อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก เคยกล่าวว่า นักการเมืองควรอ่านนิยายวิทยาศาสตร์) ล้วนเป็นเรื่องที่ดูไม่จำเป็นและเสียเวลาเปล่า
ทว่าความจริงคือ ทุกศาสตร์ในโลกสัมพันธ์กันหมด ยิ่งรู้มากเรื่อง ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเชื่อมโยงแต่ละเรื่อง แต่ละศาสตร์ ยิ่งมีความรู้รอบตัวกว้าง ยิ่งได้เปรียบ ยิ่งมีโอกาส มันอาจไม่ปรากฏภาพให้เห็นชัดในตอนแรก แต่เมื่อจังหวะลงตัว ข้อมูลมาประสานกัน ก็คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และนวัตกรรมได้
4
บางคนมีเป้าหมายชัดเจนว่าอนาคตจะเป็นอะไร และตัดสายวิชาที่ดูไม่เกี่ยวกับทางที่เขาเลือกทิ้งโดยสิ้นเชิง เช่น เรียนแพทย์ ก็ทิ้งหนังสือประวัติศาสตร์ ปรัชญา เรียนกฎหมายก็ทิ้งเรื่องวิทยาศาสตร์ เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็ไม่เคยสนใจเรื่องดาราศาสตร์ จะเป็นนักฟุตบอล ก็ทิ้งทุกวิชา เพราะไม่ทำให้เตะบอลดีขึ้น ฯลฯ ทั้งนี้เพราะมองผ่าน ๆ ว่าวิชาเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับสายงาน
วิธีคิดแบบนี้ทำให้มองโลกแคบ
จริงอยู่ การรู้จริงสิ่งเดียวอาจทำให้ประสบความสำเร็จ แต่หากไม่เติมความรู้ โลกทัศน์ใหม่ ๆ ก็เหมือนคนตัวใหญ่หัวเล็กลีบ เพราะพัฒนาตัวเองแค่จุดเดียว
โชคดีที่เรามีตัวอย่างมากพอที่จะยืนยันว่า คนประสบความสำเร็จระดับสูงมักสนใจหลายอย่าง อยากรู้ทุกเรื่อง
ความหลากหลายทางความคิดเป็นสิ่งที่จำเป็น
2
นี่เองทำให้การอ่านต้องเข้ามาอยู่ในสมการชีวิตของเรา
มิเพียงต้องอ่าน ยังต้องอ่านหลากหลาย
จาก มากกว่าสามสิบสอง / วินทร์ เลียววาริณ
โฆษณา