23 ต.ค. เวลา 11:20 • ประวัติศาสตร์

ความตายของ “คุลศัน กุมาร (Gulshan Kuma)“ ผู้ก่อตั้งช่อง Youtube ที่มีคนตามมากเป็นอันดับ 2 ของโลก

ในปีค.ศ.2018 (พ.ศ.2561) โลกของ Youtube ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองขั้ว แบ่งชัดเจนระหว่างช่อง “Pewdiepie” กับ ”T-Series”
และผลก็ออกมา ผู้ชนะคือ T-Series ซึ่งมีจำนวนผู้ Subscribes มากกว่า และปัจจุบันก็เป็นช่อง Youtube ที่มีผู้ Subscribes มากเป็นอันดับสองของโลก โดยมีจำนวนผู้ Subscribes ในปีค.ศ.2024 (พ.ศ.2567) กว่า 276 ล้านคน เป็นรองเพียง MrBeast เท่านั้น
หากแต่ที่น่าเศร้าก็คือ “คุลศัน กุมาร (Gulshan Kuma)“ ผู้ก่อตั้ง T-Series ไม่สามารถมีอายุยืนยาวพอที่จะเห็นความสำเร็จของสิ่งที่ตนได้ก่อตั้งขึ้น เนื่องจากกุมารได้ถูกมือปืนสามคนสังหารด้วยกระสุนกว่า 16 นัดกลางถนนในเวลากลางวันแสกๆ
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
1
คุลศัน กุมาร (Gulshan Kuma)
อินเดียก่อนยุค 90 (พ.ศ.2533-2542) นั้นต่างจากปัจจุบันมาก
เศรษฐกิจของประเทศถูกควบคุมจากรัฐอย่างเข้มงวด ภาครัฐมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วน มีอำนาจผูกขาดในทุกด้าน ภาคเอกชนล้วนไม่มีอิสระ ต้องถูกควบคุมจากภาครัฐอย่างเข้มงวด
แต่หลังจากปีค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) รัฐบาลอินเดียได้เริ่มเปิดให้ภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น เกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ มากมาย เทคโนโลยีต่างๆ หลั่งไหลเข้าสู่อินเดีย และที่ดูจะน่าจับตามองที่สุด ก็คือ “อุตสาหกรรมบันเทิง”
ในเวลานั้น เครื่องเล่นเทปกำลังเป็นสิ่งที่แพร่หลายทั่วๆ ไป การแข่งขันกันในอุตสาหกรรมดนตรีก็กำลังมาแรง โดยคู่แข่งขันรายสำคัญก็คือ “TIPS” กับ ”T-Series”
ผู้ก่อตั้ง T-Series คือ “คุลศัน กุมาร (Gulshan Kuma)“ ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการร้านเทปที่เจ๊งไปแล้ว และย้ายไปยังมุมไบเพื่อตั้งบริษัทดนตรี T-Series
T-Series ประสบความสำเร็จอย่างมาก อัลบั้มที่ T-Series ผลิตออกจำหน่าย ต่างขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย อัลบั้มหลายอัลบั้มของบริษัทยังคงติดอันดับอัลบั้มขายดีในอินเดียแม้จะผ่านมานานกว่าสิบปี
แต่ในยุค 90 (พ.ศ.2533-2542) ก็ได้เกิดกลุ่มธุรกิจอีกกลุ่มในอินเดีย
นั่นคือ “องค์กรอาชญากรรม”
“ดาวูด อิบราฮิม (Dawood Ibrahim)” เป็นหัวหน้าแก๊งอาชญากรรม “D-Company” ซึ่งเป็นแก๊งอาชญากรรมรายใหญ่ในอินเดีย ก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบ ทั้งกรรโชกเงิน เรียกค่าไถ่ ฆ่า วางระเบิด และค้ายาเสพติด
ศูนย์บัญชาการของ D-Company อยู่ในตะวันออกกลาง แต่แก๊งก็มีคนของตนอยู่ในมุมไบ และ D-Company ก็ได้ขู่กรรโชกเงินจากกุมาร แต่กุมารปฏิเสธ ไม่ยอมจ่ายค่าคุ้มครอง
วันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) กุมารได้ไปวัดในมุมไบ และด้วยความที่ตำรวจที่ทำหน้าที่คุ้มกัน ดูแลความปลอดภัยให้กุมารเกิดป่วย ทำให้วันนั้นกุมารไม่มีใครที่คอยดูแลความปลอดภัยให้
ดาวูด อิบราฮิม (Dawood Ibrahim)
ในขณะที่กุมารเดินออกมาจากวัดและตรงไปยังรถของตน ก็ปรากฎมีมือปืนสามคนออกมาล้อมเขาไว้และกระหน่ำยิงเขา
กุมารรีบวิ่งหนี หากแต่สุดท้ายก็โดนต้อนจนมุม และถูกกระหน่ำยิง
กุมารและคนขับรถได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หากแต่กุมารนั้นไม่รอด เสียชีวิต แต่คนขับรถนั้นรอดมาได้ และเป็นพยานสำคัญที่ชี้ตัวมือปืน
ตำรวจอินเดียก็ทำการสอบสวนคดีนี้ และมีรายชื่อผู้ต้องสงสัยมากมาย
บริษัทคู่แข่งก็ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง หรือว่าน้องชายของกุมารเองก็ต้องสงสัยเนื่องจากอยากจะขึ้นมาครอบครอง T-Series ซะเอง รวมถึงศิลปินในสังกัด T-Series อย่าง “นาดีม ไซฟี (Nadeem Saifi)” ที่ขัดแย้งกับตัวกุมารเองก็ต้องสงสัยเช่นกัน
นาดีม ไซฟี (Nadeem Saifi)
ไซฟีนั้นเป็นนักแต่งเพลงมือทอง หากแต่มีปัญหากับกุมารเนื่องจากอัลบั้มก่อนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และหลังจากเหตุฆาตกรรมกุมาร ไซฟีก็รีบหนีไปประเทศอังกฤษทันที ทำให้ไซฟียิ่งเป็นที่น่าสงสัยมากขึ้น
ว่ากันว่าไซฟีนั้นจ่ายเงินแก่ D-Company เป็นจำนวน 250,000 รูปี (ประมาณหนึ่งล้านบาท) ให้เก็บกุมาร ซึ่งรัฐบาลอินเดียก็ได้ทำเรื่องไปยังทางการอังกฤษ ขอให้ส่งตัวไซฟีกลับมารับโทษ แต่อังกฤษปฏิเสธ และไซฟีก็ได้รับสัญชาติอังกฤษไปแล้ว ทำให้ศาลยกฟ้อง
2
ส่วนตัวมือปืนทั้งหมดนั้นถูกจับกุมได้ในที่สุด และถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต
ในทุกวันนี้ T-Series คือช่อง Youtube ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ยังคงมีทั้งอัลบั้มและภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง
โฆษณา