29 ต.ค. 2024 เวลา 06:00 • ไลฟ์สไตล์

อยู่ในทะเลก็ไม่รอด! พบ ‘ไมโครพลาสติก’ ใน ‘โลมา’ เป็นครั้งแรกของโลก

ในปีนี้นักวิทยาศาสตร์พบ “ไมโครพลาสติก” พลาสติกจิ๋วที่มีความยาวน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร ปนเปื้อนอยู่ในร่างกายมนุษย์หลายส่วน จากการกินและการหายใจ ซึ่งจะเคลื่อนตัวไปยังอวัยวะอื่น ทั่วร่างกาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ได้
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล” อย่างโลมา ก็มีไมโครพลาสติกอยู่ในเนื้อเยื่อด้วยเช่นกัน โดยพบว่าระบบหายใจเป็นช่องทางที่ทำให้วาฬและโลมาสัมผัสไมโครพลาสติกได้ง่าย
ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและการบริโภคไมโครพลาสติกคิดเอาไว้อยู่แล้วว่า “การหายใจ” จะเป็นช่องทางที่ทำให้วาฬและโลมาได้รับไมโครพลาสติกในร่างกาย ซึ่งคล้ายกับที่มนุษย์ก็เคยสูดอนุภาคขนาดเล็กเข้าไปเช่นกัน และการศึกษาใหม่ล่าสุดนี้ก็ช่วยพิสูจน์สมมติฐานของนักวิทยาศาสตร์ได้
เพื่อทดสอบลมหายใจของโลมา นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างจากโลมาปากขวดป่า 11 ตัว โดยมี 6 ตัวจากอ่าวบาราทาเรีย ของรัฐลุยเซียนา และอีก 5 ตัวจากอ่าวซาราโซตา ในฟลอริดา ซึ่งระหว่างการประเมินสุขภาพการจับแล้วปล่อยในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2023
ทีมศึกษาได้นำจานเพาะเชื้อไปไว้ที่ “ช่องหายใจ” ซึ่งเป็นทางที่โลมาจะหายใจเข้าและหายใจออก หลังจากตรวจสอบจานเพาะเชื้อภายใต้กล้องจุลทรรศน์ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของโลมามีอนุภาคไมโครพลาสติกอย่างน้อยหนึ่งอนุภาคฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ
ชนิดของพลาสติกที่พบในโลมาคล้ายคลึงกับที่พบในการหายใจของมนุษย์ โดยพบโพลีเอสเตอร์ พลาสติกที่มักใช้ในเสื้อผ้ามากที่สุด โดยอนุภาคเหล่านี้หลุดออกมาจากเสื้อผ้าอยู่เสมอ ทุกครั้งที่สวมใส่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อซักเสื้อผ้า
ฟองอากาศที่เกิดจากพลังงานคลื่นสามารถปล่อยไมโครพลาสติกสู่ชั้นบรรยากาศได้ 100,000 เมตริกตันต่อปี ดังนั้นโลมาและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่น ๆ หายใจบนผิวน้ำ จึงอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสสารพิษเป็นพิเศษ
โฆษณา