24 ต.ค. เวลา 13:26 • ปรัชญา

หลักการครองใจคน

ความปรารถนา​ดี​ ใครเล่าจะเข้าใจ ความจริงใจ​ที่มี​ ใครเล่าจะนึกหา​ การทำงานผิดที่ผิดเวลา​ ย่อมนำพาความทุกข์​ใจมาสู่ตน
.
ย้อนไป 2500 กว่าปีก่อน​ กิเลส​ของมนุษย์​เป็นเช่นไร 2500 กว่าปีที่ผ่านมา​ กิเลส​ของมนุษย์​ก็ยังคงเป็นเเบบเดิมไม่เคยเปลี่ยน​ ซึ่งพระธรรม​คำสอนของพระพุทธเจ้า​ยังทรงเเก้เหตุเเห่งทุกข์​ได้เช่นใด 2500 กว่าปีที่ผ่านมา​ ก็ยังคงเเก้เหตุเเห่งทุกข์​ได้จริงอย่างเดิมไม่เคยเปลี่ยน​เช่นเดียวกัน
หากให้คำนิยามพระธรรมคำสอนของ​พระพุทธ​เจ้า​ นั่นก็คือ​หลักธรรมความเป็น​จริง ปฏิบัติ​ได้จริง​ เเละเห็นผลจริง​ที่มาจนถึงทุกวันนี้​
.
เราควรนำมาฝึกปฏิบัติ ​เเละประยุกต์ใช้​ในชีวิต​ประจำวันเพื่อพัฒนา​ตัวเราเอง​ ในขณะที่ยังมีลมหายใจ​เอาชนะอุปสรรค​ในการเดินทางใช้ชีวิต​ได้อย่างมีประสิทธิภาพ​ เเละมีความสุขกับคนรอบข้าง​ ทั้งในที่ทำงาน​ รวมทั้งภายในครอบครัว​เราอีกด้วย
“สังคหวัตถุ 4 ประการ” ธรรมที่เป็นเครื่องประสานใจคนให้เป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกัน เเละอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ประกอบไปด้วย (ทาน)​ การให้แบ่งปัน​เอื้อเฟื้อ​เผื่อ​แผ่, ( ปิยวาจา) ​พูดด้วยคำไพเราะ ​หรือพูดด้วยความจริงใจ, (อัตถจริยา) ​ช่วยเหลือ​ซึ่งกันเเละกัน, (สมานัตตตา) ​ประพฤติ​ตนให้เสมอต้นเสมอปลาย
เป็นอีกหนึ่งหลักธรรมของพระพุทธ​เจ้า​ ที่เรานั้นควรนำมาประยุกต์ใช้​ ให้เป็นขั้นพื้นฐาน​ ในการดำรงชีวิต​ เพื่อคอยสร้างความสัมพันธ์​ที่ดีต่อคนรอบข้าง​ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว​หรือคนในองค์กรที่​เราปฏิบัติ​งานอยู่เป็นต้น
เราสามารถฝึกปฏิบัติ ​เเละนำมาประยุกต์ใช้​หลักธรรม​ สังคหวัตถุ ​4 ประการได้ดังนี้
.
“ทาน”​ คือการที่เรารู้จักเเบ่งปันเอื้อเฟื้อ​เผื่อ​แผ่ต่อผู้อื่นด้วยความเต็มใจ​ แบ่งปันด้วยการไม่คาดหวังสิ่งใดตอบแทน​ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ​ หรือความรู้ที่เรามี คุณธรรม​ในข้อนี้ยังช่วยให้ตัวเราลดความตระหนี่​ ความละโมบ​ ความไม่เห็นเเก่ตัวได้ดีอีกเช่นด้วยกัน
“ปิยวาจา”​ คือการ​พูดจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพ​ไพเราะ​ให้เกียรติ​ซึ่งกันและกัน​ เช่นว่าพูดจาด้วยความจริงใจ​ไม่พูดโกหก​เพื่อหาผลประโยชน์​จากผู้อื่น ไม่พูดจากระทบกระทั่ง​ยุยง​ต่อผู้อื่น​จนนำมาซึ่งความแตกเเยก​ และไม่พูดจาเพ้อเจ้อ​ขายฝันให้ผู้อื่นหลงเชื่อในสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
.
คุณธรรมของ​ปิยวาจา​ก็เปรียบ​เสมือน​การพูดจาดีเป็นศรีเเก่ปาก จะนำพาให้เรามีความน่าเชื่อถือ เเละเป็นที่ยอมรับ​กับคนรอบข้าง​ได้ดียิ่งขึ้น
“อัตถจริยา​” คือการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจและเต็มกำลังที่ตัวเรานั้นได้ช่วยเหลือ​โดยปราศจากเงื่อนไข​ใด ๆ​ เช่นว่าช่วยกิจกรรม​ต่าง ๆ ทั้งในองค์​กรและสาธารณ​ประโยชน์​ในทางสังคม​ คุณธรรม​ข้อนี้​ในยามที่เราลำบากจะมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูล​เราได้ดีอย่างแน่นอน
“สมานัตตา”​ คือการที่เรา​รู้จัก​ฝึกตนให้มีความมั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย​ ไม่หลงลืมตัว ไม่ถือตัว​ เคยปฏิบัติ​ดีต่อผู้อื่นเช่นไรก็ย่อมปฏิบัติ​สิ่งนั้นไม่แปรเปลี่ยน​ รวมถึงไม่เอารัดเอาเปรียบ​ต่อผู้​อื่น​ เเละมีความเสมอภาค​กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ผูกมิตรภาพ​กับผู้อื่น ช่วยกันเเก้ไขปัญหา​ร่วมทุกข์​ร่วมสุขไปพร้อมกัน​ คุณ​ธรรม​ในข้อนี้​ จะนำพาให้เรา​ได้กัลยาณมิตร​ที่ดีต่อกันอีกมากมาย
ดังนั้นเเล้ว​ การที่เราต้องพบเจอผู้คนมีทั้งพอใจเเละไม่พอใจในตัวเรานั้น​ จงมองให้เป็​นเรื่อง​ธรรม​ดาของชีวิต​ การจะเปลี่ยน​ใจผู้อื่น​ ก็ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลง​ตัวเราก่อนด้วยเช่นกัน​
.
จงเคารพ​คนด้วยความเป็นคนอย่างใจจริง และจงอย่าเคารพ​คนเพียงเพราะหวังในอำนาจบารมีจากเขา เพราะสิ่งเหล่านี้ ไม่อาจสร้างความมั่นคงต่อจิตใจของเราได้อย่างถาวร
หลักธรรม​สังคหวัตถุ 4 ประการนี้​ หากเรามีความเพียร​มีความตั้งใจ​ปฏิบัติ​อย่างเต็มที่เเล้ว​ คุณธรรม​เหล่านี้ จะนำพาให้เรามีความสุขในการใช้ชีวิต ​เเละยังช่วยให้เราสามารถครองใจผู้อื่นได้อย่างมีความสุขอีกด้วย
.
ผู้เขียน: Never Give Up
โฆษณา