24 ต.ค. 2024 เวลา 04:27 • ประวัติศาสตร์

“เพชรโคอินัวร์ (Koh-i-Noor)“ ตำนานเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ผู้มีอำนาจต่างปรารถนา

“เพชรโคอินัวร์ (Koh-i-Noor)“ คือหนึ่งในอัญมณีที่โด่งดังที่สุดชิ้นหนึ่งในโลก
ความเป็นมาของเพชรโคอินัวร์นั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด หากแต่นักประวัติศาสตร์ส่วนมากเชื่อว่าเพชรชิ้นนี้ถูกขุดพบในเหมืองที่อินเดียในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 12 และศตวรรษที่ 14
1
ตั้งแต่นั้นมา เพชรโคอินัวร์ก็ได้ถูกเปลี่ยนมือไปอีกหลายครั้ง ต่างตกอยู่ในความครอบครองของพระประมุขหลายดินแดน และต่างก็สร้างความรุนแรง เกิดการรบราฆ่าฟันกันเพื่อเพชรโคอินัวร์ ทำให้หลายคนลือกันว่าเพชรโคอินัวร์เป็นเพชรต้องคำสาป
เพชรโคอินัวร์ (Koh-i-Noor) จำลอง
หลังจากจักรวรรดิอังกฤษพิชิตจักรวรรดิซิกข์ (Sikh Empire) ได้ในสมัยศตวรรษที่ 19 อังกฤษก็ได้ยึดครองเพชรโคอินัวร์เป็นของตนเอง และตั้งแต่นั้นมา เพชรโคอินัวร์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของมหามงกุฎแห่งสหราชอาณาจักร
1
เราลองมาดูเรื่องราวของเพชรที่โด่งดังนี้กันครับ
สำหรับประวัติของเพชรโคอินัวร์นั้นค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจน
เชื่อกันว่าต้นกำเนิดของเพชรโคอินัวร์มาจากเหมืองกอลคอนดาในอินเดีย และเพชรเม็ดนี้ก็ได้ถูกเปลี่ยนมือไปแล้วอย่างน้อย 700 ปี
1
เดิมที เพชรโคอินัวร์เป็นเพชรขนาด 186 กะรัต ทำให้เพชรโคอินัวร์เป็นหนึ่งในเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจากบันทึกนั้น ราชินีจากอัฟกานิสถานในสมัยศตวรรษที่ 18 ที่มีพระนามว่า “วูฟาเบกัม (Wufa Begum)” ได้เคยตรัสถึงความล้ำค่าของเพชรโคอินัวร์ว่า
1
“หากว่าชายที่แข็งแรงจะต้องโยนหินสี่ก้อน ก้อนที่หนึ่งทางเหนือ อีกก้อนหนึ่งทางใต้ อีกก้อนทางตะวันออก อีกก้อนทางตะวันตก และก้อนที่ห้าโยนขึ้นฟ้า และหากช่องว่างระหว่างหินแต่ละก้อนจะปกคลุมด้วยทองคำ ทองคำทั้งหมดก็ยังไม่เท่ากับมูลค่าของเพชรโคอินัวร์เลย”
1
นั่นแสดงให้เห็นว่าเพชรโคอินัวร์นั้นล้ำค่ามหาศาล
และจากบันทึกหลายฉบับ ก็ระบุว่าจักรวรรดิโมกุลได้ครอบครองเพชรโคอินัวร์ในช่วงที่ปกครองอินเดียในระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 17
ในปีค.ศ.1628 (พ.ศ.2171) “จักรพรรดิชาห์ชะฮัน (Shah Jahan)” รัชกาลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโมกุล ได้ทรงมีรับสั่งให้สร้าง “บัลลังก์นกยูง (Peacock Throne)” ซึ่งเป็นบัลลังก์ที่ประดับด้วยเพชรนับร้อยเม็ด และบนยอด ก็คือเพชรโคอินัวร์
1
บัลลังก์นกยูง (Peacock Throne)
ในปีค.ศ.1739 (พ.ศ.2382) “จักรพรรดินาเดอร์ชาห์ (Nader Shah)” กษัตริย์ผู้ปกครองเปอร์เซีย ได้ทรงยกทัพมารุกรานอินเดีย เข่นฆ่าผู้คนเป็นจำนวนมาก ยึดครองกรุงเดลี และเข้าค้นพระคลังมหาสมบัติของจักรวรรดิโมกุล
1
จักรพรรดินาเดอร์ชาห์ (Nader Shah)
เมื่อจักรพรรดินาเดอร์ชาห์ทอดพระเนตรเห็นเพชรโคอินัวร์ พระองค์ทรงอุทานออกมาว่า “โคอินัวร์” ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า “ภูเขาแห่งแสง” และตั้งแต่นั้น เพชรโคอินัวร์ก็ได้ชื่ออย่างเป็นทางการและรู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้
1
แต่ต่อมา จักรพรรดินาเดอร์ชาห์ก็ถูกปลงพระชนม์ และเพชรโคอินัวร์ก็ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในความครอบครองของรัชกาลต่อมา และก็เปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
และในต้นศตวรรษที่ 19 เพชรโคอินัวร์ก็ตกไปอยู่ในมือของ “มหาราชารณชีต สิงห์ (Ranjit Singh)“ ผู้ก่อตั้งและผู้ปกครองจักรวรรดิซิกข์
1
ต่อมา มหาราชารณชีต สิงห์ ได้ประชวรและสวรรคตในปีค.ศ.1839 (พ.ศ.2382) และผลที่ตามมา ก็คือสงครามแย่งบัลลังก์
ในช่วงเวลานี้ เพชรโคอินัวร์ก็ถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ตามอำนาจที่แปรเปลี่ยน จนกระทั่งจักรวรรดิซิกข์ได้แต่งตั้งมหาราชาองค์ใหม่ นั่นคือ “มหาราชาทุลีป สิงห์ (Duleep Singh)” พระราชโอรสวัยห้าพรรษาของมหาราชารณชีต สิงห์
1
และบนพระกรของมหาราชาทุลีป สิงห์ ก็คือเพชรโคอินัวร์ที่ประดับบนพระกร
มหาราชาทุลีป สิงห์ (Duleep Singh)
เพชรโคอินัวร์อยู่ในความครอบครองของจักรวรรดิซิกข์เรื่อยมา จนกระทั่งปีค.ศ.1849 (พ.ศ.2392) อังกฤษได้เข้ายึดครองรัฐปัญจาบ และได้กักขังพระราชมารดาของมหาราชาทุลีป สิงห์
1
จากนั้น อังกฤษก็บังคับให้มหาราชาทุลีป สิงห์วัย 10 พรรษาลงนามในสนธิสัญญา ซึ่งระบุให้ยกจักรวรรดิซิกข์และเพชรโคอินัวร์แก่ราชสำนักอังกฤษ
1
สำหรับอังกฤษ การได้ครอบครองเพชรโคอินัวร์เป็นเหมือนการบ่งบอกว่าอังกฤษได้ครอบครองอำนาจเหนืออินเดีย ดังนั้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1850 (พ.ศ.2393) เพชรโคอินัวร์จึงเดินทางมาถึงพระราชวังบักกิ้งแฮม และได้ถูกนำออกแสดงในงานนิทรรศการครั้งใหญ่ในปีค.ศ.1851 (พ.ศ.2394)
ปีต่อมา ค.ศ.1852 (พ.ศ.2395) ราชสำนักอังกฤษได้ทำการตัดเพชรบางส่วนออกเพื่อให้เพชรสมบูรณ์ที่สุด ทำให้แต่เดิม จากขนาด 186 กะรัต เหลือเพียง 105.6 กะรัต และถูกนำไปประดับบนเข็มกลัดของ “สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria)” พระประมุขแห่งสหราชอาณาจักร
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria)
หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียสวรรคตในปีค.ศ.1901 (พ.ศ.2444) เพชรโคอินัวร์ก็ถูกเปลี่ยนมือไปในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราชวงศ์อังกฤษได้ย้ายเพชรโคอินัวร์และเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ ไปเก็บไว้ในกระป๋องคุกกี้ และนำไปฝังไว้ใต้พระราชวังวินด์เซอร์เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกยึดครอง
เมื่อสงครามจบลง เพชรโคอินัวร์ก็กลับคืนไปเก็บไว้ยังหอคอยลอนดอน และเป็นเพชรยอดมงกุฎของราชวงศ์อังกฤษตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เพชรโคอินัวร์ได้ปรากฎโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้ายในงานพระบรมศพของ “สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี (Queen Elizabeth The Queen Mother)” ในปีค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) โดยเพชรโคอินัวร์เปล่งแสงระยิบระยับบนมงกุฎซึ่งอยู่บนโลงพระบรมศพ
1
ในปัจจุบัน หลายคนมองว่าเพชรโคอินัวร์คือสัญลักษณ์ของการรุกรานและความรุนแรง
ตั้งแต่อินเดียได้รับอิสรภาพในปีค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) อินเดียก็ได้เรียกร้องหลายครั้งให้อังกฤษส่งคืนเพชรโคอินัวร์ ส่วนปากีสถานก็เรียกร้องให้คืนเพชรโคอินัวร์ในปีค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) และอัฟกานิสถานก็เรียกร้องอย่างเดียวกันในปีค.ศ.2000 (พ.ศ.2543)
3
หากแต่รัฐบาลอังกฤษก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องเหล่านี้มาโดยตลอด โดยอ้างว่าอังกฤษได้รับเพชรโคอินัวร์มาอย่างถูกต้อง ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความเห็นว่า เหตุผลหนึ่งที่เพชรโคอินัวร์ยังไม่ถูกส่งคืนเจ้าของ นั่นก็เพราะเป็นการยากที่จะตัดสินว่าใครควรจะเป็นผู้ที่ครอบครองเพชรโคอินัวร์กันแน่
1
แต่หลายคนก็แสดงความเห็นว่าหากจะทำให้ถูกต้อง อังกฤษควรต้องส่งคืนเพชรโคอินัวร์ไปยังชาติแรกที่เพชรโคอินัวร์ปรากฎ หรืออย่างน้อยก็ควรจะทำประกาศให้ทราบว่าเพชรโคอินัวร์มาอยู่ในความครอบครองของอังกฤษได้อย่างไร
สำหรับปัจจุบัน ราชวงศ์อังกฤษยังไม่มีแผนที่จะคืนเพชรโคอินัวร์แก่อินเดียหรือประเทศใด ซึ่งก็ต้องรอดูว่าในอนาคต ความกดดันของประเทศต่างๆ จะทำให้อังกฤษยอมคืนเพชรโคอินัวร์หรือไม่
โฆษณา