23 ต.ค. เวลา 04:52 • ข่าวรอบโลก

“อินเดีย” และ “จีน” ผ่อนคลายความตึงเครียดบริเวณชายแดน

ก่อนการพูดคุยกันแบบทวิภาคีในที่ประชุมสุดยอด BRICS ในรัสเซียวันนี้
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เจรจาทางการทูตและการทหารจากอินเดียและจีนได้ติดต่อกันอย่างใกล้ชิดในเวทีต่างๆ ส่งผลให้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกลไกการลาดตระเวนตาม “แนวเส้นควบคุมแท้จริง (Line of Actual Control: LAC)” บริเวณพื้นที่ชายแดนอินเดีย-จีน ซึ่งนำไปสู่การแบ่งเขตและในที่สุดก็สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ในอดีตได้
วิกรม มิศรี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย
“เหมา หนิง” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังเน้นย้ำถึงความคืบหน้าล่าสุดในการถอนทหารบริเวณชายแดนกับอินเดีย “สถานการณ์บริเวณชายแดนจีน-อินเดียโดยทั่วไปมีเสถียรภาพและอยู่ภายใต้การควบคุม”
อ้างอิง: [1]
วิกรม มิศรี (ซ้าย) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เครดิตภาพ: / IANS เหมา หนิง (ขวา) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เครดิตภาพ: AP
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2020 เกิดการปะทะกันระหว่างทหารอินเดียและจีนบริเวณหุบเขา Galwan ในดินแดนลาดักห์ ตอนเหนือสุดของอินเดียที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนกับจีน การปะทะกันครั้งนั้นไม่มีการใช้อาวุธปืน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บ
ปัญหาคือพรมแดนระหว่างอินเดียและจีนยังไม่ได้ถูกแบ่งเขตหรือกำหนดขอบเขตอย่างชัดเจน พรมแดนดังกล่าวเรียกว่า “แนวเส้นควบคุมแท้จริง (LAC)” มีความยาว 3,488 กม. ถือเป็นพรมแดนที่มีข้อพิพาทยาวที่สุดในโลก นอกจากนี้ปักกิ่งยังอ้างสิทธิ์ในพื้นที่ 3,500 ตารางกิโลเมตรของรัฐอรุณาจัลประเทศ ซึ่งเป็นรัฐชายแดนของอินเดีย ในขณะที่นิวเดลีก็ยังไม่เห็นด้วยกับ “การเข้ามาปกครองอย่างผิดกฎหมายของจีน” ในพื้นที่ 43,000 ตารางกิโลเมตรของเขตสหภาพอินเดียในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์
เครดิตภาพ: The China-Global South Project
และเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา จึงมีการประกาศว่ากองทัพของจีนและอินเดียได้บรรลุข้อตกลงที่จะทำการลาดตระเวนตามจุดพิพาทตามแนวพรมแดนตามกำหนดการที่ทั้งสองประเทศตกลงกันไว้ โดยถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการยุติการเผชิญหน้าทางทหารที่กินเวลานานกว่า 4 ปี ในความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายได้กลับมาหารือถึงสถานการณ์ก่อนความขัดแย้งในปี 2020 - อ้างอิง: [2]
เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ผ่อนคลายความตึงเครียดที่ชายแดนดังกล่าวเกิดขึ้นในวันก่อนการประชุมสุดยอด BRICS ที่เมืองคาซานของรัสเซีย ซึ่งอาจเป็นเหตุผลเชิงบวกสำหรับการเจรจาทวิภาคีระหว่างผู้นำประเทศต่างๆ ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ โดย “สี จิ้นผิง” กับ “นเรนทรา โมดี” จะมีพูดคุยกันแบบทวิภาคีในวันนี้อีกด้วย (23 ตุลาคม 2024) ซึ่งถือว่าเป็นวันที่สองของการประชุมสุดยอด BRICS 2024 - อ้างอิง: [3]
ภาพเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2024 เครดิตภาพ: Reuters
เรียบเรียงโดย Right Style
23rd Oct 2024
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: (บน) – The Quint (ล่าง) – BIJUBORO / AFP / Getty Images>
โฆษณา