24 ต.ค. เวลา 08:00 • การเมือง

คิดข้ามช็อต การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2024

[#FutureofPolitics] ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024 จะเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายภูมิภาคทั่วโลก
นับเป็นการท้าชิงระหว่างผู้สมัครคนสำคัญ ได้แก่ กมลา แฮร์ริส (59 ปี) รองประธานาธิบดีหญิงคนแรกและคนปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาจากพรรคเดโมแครตที่เปลี่ยนม้ากลางศึกแทน โจ ไบเดน ที่ถอนตัวไป ที่ได้รับการยอมรับเรื่องการมีบุคลิกเป็นที่ชื่นชอบและมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือทั้งยังมีจุดเด่นในเรื่องของสิทธิสตรี การช่วยปกป้องสวัสดิการด้านสุขภาพของประชาชน และมีความรู้ความสามาถในด้านกฎหมายที่มีจุดยืนค่อนข้างเป็นกลางที่อาจทำได้รับให้ฐานเสียงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ในขณะที่อีกหนึ่งผู้ท้าชิงคนสำคัญจากพรรคริพับลิกัน ได้แก่ โดนัลด์ ทรัมป์ (78 ปี) ประธานาธิบดีสมัยก่อนหน้าที่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ ทรัมป์ให้ความสำคัญกับการสร้างคะแนนนิยมในหมู่ผู้ใช้แรงงาน สหภาพแรงงาน และคนชายขอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบคนเข้าเมือง
และถึงแม้ว่าตัวทรัมป์เองยังต้องเผชิญปัญหาภาพลักษณ์ที่เสียหายจากการพยายามล้มผลการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2020 รวมถึงความท้าทายทางกฎหมายหลายประเด็นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2024 แต่ในยุคที่เศรษฐกิจถดถอยและผู้คนให้ความสำคัญกับปากท้องเป็นหลัก ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าพลเมืองสหรัฐอเมริกาจะให้โอกาสทรัมป์กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง
หากทรัมป์ได้รับชัยชนะเพียง 1 จาก 3 รัฐสำคัญ ได้แก่ วิสคอนซิน เพนซิลเวเนีย และมิชิแกน ก็จะเป็นที่แน่นอนว่าทรัมป์จะได้รับชัยชนะในศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ก็มีแนวโน้มว่าชัยชนะใน 3 รัฐสำคัญดังกล่าวอาจตกเป็นของแฮร์ริส หากทำให้ผู้มีสิทธิโหวต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชนและผู้หญิงอายุน้อยซึ่งสนับสนุนการยุติการตั้งครรภ์ให้ถูกกฎหมายออกมาเลือกตั้ง หรือเว้นแต่ว่าคะแนนนิยมจะเทไปในทิศทางอื่น เช่น ผู้ท้าชิงอิสระ เป็นต้น
หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง นอกจากจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกที่ผู้หญิงได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีแนวโน้มที่รัฐบาลสมัยหน้าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการฑูตแบบดั้งเดิมและการสร้างพันธมิตรเพื่อจัดการปัญหาระดับโลก
เช่น วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสาธารณสุข การรักษาเสถียรภาพในไต้หวันและคาบสมุทรเกาหลี การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกเพื่อลดอิทธิพลของจีน เป็นต้น ควบคู่ไปกับความพยายามในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การจ้างงานในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ
หากทรัมป์ชนะและกลับมาเป็นประธานนาธิบดีเป็นครั้งที่สอง นโยบายจะมุ่งเป้าไปที่มาตรการเพื่อรักษาผลกระโยชน์และลดการขาดดุลทางการค้า เช่น การปรับอัตราภาษีสินค้านำเข้าให้สูงขึ้น เป็นต้น มีการวิเคราะห์ว่าทรัมป์มองความสัมพันธ์ทางการฑูตเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงการทหารเพื่อกำราบจีน เช่น การเรียกร้องให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สนับสนุนและเป็นฐานที่ตั้งของกองทัพสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ จุดยืนของทรัมป์ยังชัดเจนในเรื่องการยกระดับการทำสงครามทางการค้ากับจีนผ่านการตั้งกำแพงภาษีและกลวิธีทางเศรษฐกิจ
แต่ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาก็จะยังคงต้องดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถทางการทหาร รวมถึงทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนอีกครั้ง สหรัฐอเมริกาจะยังคงให้การสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกต่อไป เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น
ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่นี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจและดำเนินการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยในลักษณะที่จะไม่เป็นการบีบคั้นให้ต้องเลือกข้างมากจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเด็นความมั่นคงระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา เพราะเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากจีน และหลายประเทศที่ไทยเลือกเป็นพันธมิตรร่วมกับจีนก็เป็นประเทศที่มีความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม พันธมิตรด้านกลาโหมระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาก็ยังคงเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ข้อตกลงทางการค้าและภาษีศุลกากรซึ่งไทยมีร่วมกับทั้งสองฝั่งก็มีรายละเอียดที่ผูกพันซับซ้อนและอยู่ในหลายวงความร่วมมือ ทำให้ประเทศไทยยังคงต้องจับตามองท่าทีความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาต่อไป เพราะส่งผลต่อการค้าและการรักษาความสงบในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com หรือติดตามที่ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #USElection #2024Election #MQDC
โฆษณา