24 ต.ค. เวลา 06:27 • ท่องเที่ยว
วัดใหญ่ชัยมงคล

ไหว้พระ ขอพร วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา

สวัสดีค่ะชาวสายมู วันนี้เราจะมาแนะนำสถานที่อันโด่งดัง ของจังหวัดอยุธยา ได้แก่
“วัดใหญ่ชัยมงคล” เพราะว่าที่นี่นับได้ว่าเป็นแหล่งรวมโบราณสถานที่น่าสนใจมากมาย และมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักกับที่นี่ให้มากขึ้นกันเลยดีกว่า
  • ประวัติความเป็นมา และความสำคัญ
รูปภาพจาก en-rb-thailand.org
ที่วัดใหญ่ชัยมงคลแห่งนี้นับได้ว่าเป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดอยุธยา โดยชื่อเดิมของวัดใหญ่ชัยมงคล คือ “วัดป่าแก้ว” ซึ่งที่นี่มีอายุเก่าแก่ยาวนานกว่า 665 ปี ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาในสมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง เมื่อปี พ.ศ. 1900 สร้างขึ้นเพื่อรองรับคณะพระภิกษุสงฆ์ที่ได้ไปบวชเรียนจากสำนักรัตนมหาเถระ จากประเทศศรีลังกา และในภายหลังพระนเรศวรมหาราชได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดป่าแก้วใหม่ หลังจากที่ทำการศึกยุทธหัตถีชนะ มังกะยอชวาพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงษาวดีในสมัยนั้น
และได้ทำการเปลี่ยนชื่อวัดแห่งนี้เป็น “วัดใหญ่ชัยมงคล” สถานที่แห่งนี้ถือเป็น
• สัญลักษณ์แห่งชัยชนะ พระเจดีย์ชัยมงคลถือเป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงชัยชนะครั้งสำคัญของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการทำยุทธหัตถี
• เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและศึกษา วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นวัดสำคัญที่ถูกใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาและปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและการศึกษาของพระสงฆ์
  • ด้านสถาปัตยกรรม
รูปภาพจาก en-rb-thailand.org , travel.kapook.com
ในด้านการท่องเที่ยวนั้นวัดใหญ่ชัยมงคลถือว่าเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมที่วิจิตร งดงามมาก ทั้งองค์เจดีย์ใหญ่ศิลปะแบบอยุธยาโบราณที่ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่ามาจนถึงปัจจุบันนี้
พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชัยมงคลพระประธานของวัด พระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมุมถ่ายภาพที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความสวยงามของประวัติศาสตร์
• พระเจดีย์ใหญ่ชัยมงคล
เจดีย์นี้เขาว่ากันว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะจากยุทธหัตถี เจดีย์มีฐานเป็นทรงหกเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของเจดีย์ในยุคอยุธยา
• พระอุโบสถ
พระอุโบสถของวัดใหญ่ชัยมงคลสร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย มีหลังคาลดหลั่นเป็นชั้น ๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่เด่นของอุโบสถในยุคนั้น มีช่องหน้าต่างและประตูที่ประดับด้วยลวดลายไทยโบราณที่งดงาม ภายในพระอุโบสถมีพระประธานที่ชาวบ้านมักมากราบไหว้ขอพร
• พระพุทธไสยาสน์ (พระนอน)
พระพุทธไสยาสน์ที่วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นพระพุทธรูปนอนขนาดใหญ่ที่มีความยาวประมาณ 42 เมตร มีความสง่างามและเป็นศิลปะสมัยอยุธยา ลักษณะของพระพุทธไสยาสน์มีความประณีตทั้งในรายละเอียดของพระพักตร์และการออกแบบผ้าห่มที่ครอบคลุมพระวรกาย
  • กิจกรรมไฮไลท์ที่สายมูห้ามพลาด
รูปภาพจาก en-rb-thailand.org , travel.kapook.com
• สักการะเจดีย์ชัยมงคล
เจดีย์ชัยมงคลถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการรบยุทธหัตถี ที่เป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของคนไทย การสักการะและขอพรที่เจดีย์นี้จึงมักเชื่อมโยงกับความสำเร็จ ชัยชนะในการต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน หรือเรื่องส่วนตัว สายมูที่มาขอพรมักจะอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่กำลังทำ หรือเพื่อให้พ้นจากเคราะห์กรรม
• ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัย
ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัยเป็นศาลไม้สักทองทั้งหลัง เชื่อกันว่าดวงพระวิญญาณของพระราชโอรสในพระครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์หรือพระนางเรือร่ม มเหสีองค์ที่ 5 ในรัชกาลที่ 5 สถิตอยู่ที่นี่ ซึ่งในขณะนั้นทารกมีอายุในครรภ์ 5 เดือน ศาลเจ้าพ่อสิทธิชัยมีความศักดิสิทธิมาก ชาวอยุธยาเชื่อว่าไม่ว่าบนบานสานกล่าวอะไรก็ได้สมความประสงค์ทุกอย่าง
• การไหว้พระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์
พระพุทธไสยาสน์เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการแสดงถึงความสงบสุขและการหลุดพ้นจากความทุกข์ การกราบไหว้พระนอนเชื่อกันว่าจะนำพาความสุขและความสงบมาให้กับชีวิต นิยมขอพรเรื่องสุขภาพ
• การขอพรจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เหมาะสำหรับ ผู้ที่ต้องการเสริมดวงด้านการเรียนการสอบและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานพระนเรศวรมหาราชเป็นที่รู้จักในฐานะผู้มีความกล้าหาญและปกป้องแผ่นดินไทย การขอพรจากพระองค์จึงมักเกี่ยวข้องกับการเสริมพลังใจและความกล้าในการเผชิญหน้ากับอุปสรรคในชีวิต ผู้ศรัทธาหลายคนเชื่อว่าการขอพรเช่นนี้จะช่วยให้สามารถฝ่าฟันความยากลำบากไปได้
  • ข้อมูลที่ควรรู้ และข้อปฏิบัติ
รูปภาพจาก www.thairath.co.th
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเยือนวัดใหญ่ชัยมงคลได้ทุกวัน ตลอดทั้งปีตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม และเพื่อแสดงความเคารพและให้เกียรติสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ นักท่องเที่ยวควรแต่งกายให้สุภาพ ผู้หญิงควรสวมเสื้อมีแขน ไม่ควรใส่เสื้อแขนกุด หรือกางเกงขาสั้น ควรสวมกระโปรงหรือกางเกงขายาว นอกจากนี้ไม่ควรกระทำสิ่งใดๆ ที่ไม่เหมาะสม เป็นอันตราย หรือสร้างความเสียหายต่อตัวโบราณสถาน เช่น ปีนป่าย เข้าไปในพื้นที่ห้าม
จัดทำโดย 661210154 ศุภธิดา สามารถ 661211295 ธนิกานต์ เจริญสุข 661211297 นิจวรีย์ ด้วงกลึง 661211310 สุกัญญา หลำวรรณะ 661212155 รัตนพรรณ ศิริวรวงศ์เกษม 661212162 อรนภา บุญเส็ง
โฆษณา