25 ต.ค. เวลา 03:00 • ประวัติศาสตร์
สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

กาลครั้งหนึ่งในเอเชีย กับ อัลเฟรด เฮนรี่ แกร์เบอร์ วิศวกรผู้สร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ

เมื่อกล่าวถึงสถานีรถไฟกรุงเทพ หลายคนคงนึกถึงการออกแบบอาคารในรูปแบบสถาปัตยกรรมยุคเรเนสซองก์แบบฟื้นฟูที่นำโดย มาริโอ ตามานโญ และ อัลเฟรโด ริกาซซี แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของสถานีรถไฟแห่งนี้ ได้แก่ โถงหลังคาเหล็กโค้งประดับกระจก ที่ออกแบบโดย “แกร์เบอร์” วิศวกรชาวเยอรมัน
แกร์เบอร์เป็นใคร? ชีวิตของเขาเป็นอย่างไร?
แกร์เบอร์ หรือ อัลเฟรด อองรี แกร์เบอร์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ.1888 ในตระกูลพ่อค้าพาณิชย์แห่งมักเดบวร์ก จบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงสร้างจากราชวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเบอร์ลิน (วิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเบอร์ลิน ในปัจจุบัน) ช่วงที่เขาเป็นนักศึกษา ได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังอินเดียและตะวันออกไกล โดยทำงานในเรือขนถ่านหิน
ค.ศ.1913 แกร์เบอร์เดินเข้าทางเข้าสู่สยามในฐานะวิศวกรหลวง ร่วมสร้างทางรถไฟสายเหนือและสถานีรถไฟกรุงเทพแห่งที่ 2 (สถานีรถไฟกรุงเทพแห่งแรกริมคลองผดุงกรุงเกษมตรงข้ามโรงเรียนสายปัญญา) แกร์เบอร์ได้ดัดแปลงโครงสร้างสถานีรถไฟเดิมที่คาร์ล ดอห์ริงได้วาดไว้ เป็นอาคารหลังคาโค้ง ด้านในเป็นโถงชานชาลากว้าง 50 เมตร ยาว 150 เมตร ประดับด้วยแผงกระจกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงเวลานั้น สถานีกรุงเทพเปิดดำเนินการในปี ค.ศ.1916
ด้านในอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ
ส่วนแกร์เบอร์ยังคงทำงานในสยามต่อ จนเมื่อสยามประกาศสงครามกับเยอรมนีในปีถัดมา แกร์เบอร์และวิศวกรชาวเยอรมันถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวที่อินเดีย
แกร์เบอร์เดินทางกลับเยอรมนีในปี ค.ศ.1920 และได้รับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมจากวิทยาลัยเทคโนโลยีเดรสเดินจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “ป้อมปราการเก่าในสยาม” (Alt-Siamesische Befestigungsanlagen) ซึ่งในวิทยานิพนธ์ประกอบด้วยการสำรวจป้อมปราการและผืนป่าทางตอนเหนือของสยามในช่วงเวลานั้น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีไม่ได้รับความเสียหายมาก จึงไม่มีงานก่อสร้างให้แกร์เบอร์รับผิดชอบ เขาจึงตัดสินใจรับงานเป็นที่ปรึกษาการจัดหางาน เขียนบทความเรื่องการสร้างทางรถไฟสายเหนือและสถานีรถไฟกรุงเทพลงในวารสาร Zentralblatt der Bauverwaltung ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ.1922
วารสาร วารสาร Zentralblatt der Bauverwaltung
ในปี ค.ศ.1923 กษัตริย์อมานุลลาห์แห่งราชอาณาจักรอัฟกานิสถาน ได้เชิญชวนแกร์เบอร์และวิศวกรชาวเยอรมันไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ดารุลอามาน (ตอนใต้ของกรุงคาบูล) โดยที่เขามีส่วนรับผิดชอบในการสร้างพระราชวังทาชเบค เขาอยู่ในอัฟกานิสถานจนถึงปี ค.ศ.1925 ตลอดระยะเวลา 2 ปีในดินดนแห่งนี้ เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง “โมเสกอัฟกัน: ประสบการณ์ในประเทศปิด” (Afghanischen Mosaiken. Erlebnisse im verschlossenen Land)
พระราชวังทาชเบค ปี 2007
เขากลับไปเยอรมนีเพื่อทำงานในสำนักงานจัดหางานตามเมืองต่างๆของเยอรมนีได้แก่ เออร์ฟวร์ท (1928) สเตตติน (1932) ฮัมบูร์ก (1934) ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานจัดหางานแห่งบรานชไวก์ ก่อนย้ายไปอยู่ที่เวเซอร์-เอมส์ในปี ค.ศ.1943
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แกร์เบอร์เหมือนเจ้าหน้าที่รัฐเยอรมนีทั่วไป ที่ต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์เพื่อให้ทราบว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ เขาทำงานเป้นเจ้าหน้าที่ของรัฐจนถึง 60 ปี ในปี ค.ศ.1948 จึงเกษียณออกมาทำงานในบริษัทก่อสร้างจนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ.1961 รวมอายุได้ 73 ปี
ที่มา
-วันวิสข์ เนียมปาน, “สุริยากับชายแปลกหน้าที่สถานีกรุงเทพ” ใน เรื่องเล่าชาวเกาะ (กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2567) หน้า 178-191.
โฆษณา