24 ต.ค. เวลา 07:17 • การเมือง

ชี้ชะตา ‘นักโทษ’ คดี ม.112 โหวตแนวทางนิรโทษกรรม วันนี้

นัดหมายชี้ชะตาวันนี้ สำหรับการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
แนวคิดของการนิรโทษกรรม เริ่มต้นมาจากทุกพรรคการเมืองชูนโยบายสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ จึงเดินหน้าแนวคิดนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง โดยเร่งเครื่องพิจารณามาตั้งแต่ เดือน ก.พ. 2567
สภาฯได้พิจารณาในเนื้อหาของรายงานที่ กมธ. ศึกษา พร้อมเสนอความเห็นไปในทิศทางสนับสนุน และไม่สนับสนุน รวมถึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมไปแล้ว เมื่อ 17 ต.ค. และให้ "กรรมาธิการ” ได้ชี้แจงในรายละเอียดสำคัญเสร็จเรียบร้อย
โดยเฉพาะการโหวต “ข้อสังเกตของกรรมาธิการ” ที่ขอส่งต่อไปยัง “คณะรัฐมนตรี - สำนักงานศาลยุติธรรม-สำนักงานอัยการสูงสุด-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ” ควรรับทราบหรือควรปฏิบัติ ซึ่งมัดรวมสาระแล้วมี 6 ประเด็น
1.ขอให้ “ครม.” ตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อคืนความปรองดองสมานฉันท์
2.แนะนำให้ใช้ข้อมูลของสำนักงานศาลยุติธรรม ต่อคดีที่ควรได้รับนิรโทษกรรม
3.ฐานความผิดที่จะได้สิทธินิรโทษกรรม ควรยึดจากแรงจูงใจทางการเมือง
“สำหรับฐานความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และ มาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว”
4.ไม่นิรโทษกรรม คดีมาตรา 288 ฆ่าผู้อื่น และมาตรา 289 ฆ่าผู้อื่นโดยเหตุฉกรรจ์
5.ระหว่าง ครม. ยังไม่ตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรพิจารณาการอำนวยความยุติธรรม คือ เร่งรัดการสอบสวน ของ สตช. หรือ ดีเอสไอ ขณะที่คดีที่อยู่ในชั้นสั่งฟ้องของอัยการ ให้เร่งพิจารณา สั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดี เฉพาะกรณีความผิดที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง
สำหรับฐานความผิดอื่น อาทิ ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย ก่อการร้าย ยาเสพติด ลักทรัพย์ หรือ มาตรา 112 ให้ดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว และจัดหาทนายให้ผู้ต้องหา สำหรับคดีที่ศาลพิจารณาใช้ดุลยพินิจเลื่อนคดีหรือจำหน่ายคดีชั่วคราว
6.คืนสิทธิทางการเมืองให้กับผู้ได้รับนิรโทษกรรม
อย่างไรก็ดีในการอภิปรายของ สส. เมื่อ 17 ต.ค. นั้นสิ่งที่เห็นไม่ตรงกันคือ “การนิรโทษกรรม” ที่รวมถึง “คดี 110 และ 112” ด้วย ซึ่งสาระประเด็นนี้จะนำไปสู่การตัดสินใจว่า จะ “รับรายงานกรรมาธิการ” หรือ “เห็นชอบกับข้อสังเกตของกรรมาธิการ” หรือไม่
โดยทิศทางการโหวตนั้น ขณะนี้สามารถจะแบ่งความเห็นได้เป็น 2 ทาง คือ “ฝ่ายสนับสนุน รายงานและข้อสังเกตของกรรมาธิการ” คือ “พรรคประชาชน-พรรคเป็นธรรม-พรรคไทยก้าวหน้า” ขณะที่ฝ่ายไม่สนับสนุน ได้แก่ “พรรคภูมิใจไทย-พรรคประชาธิปัตย์-พรรครวมไทยสร้างชาติ-พรรคชาติไทยพัฒนา-พรรคชาติพัฒนา”
ขณะที่พรรคที่ยังเสียงแตก คือ “พรรคเพื่อไทย”
ท่าทีพรรคเพื่อไทย เตรียมจะขอมติ สส. อีกครั้ง ในช่วงเช้าวันที่ 24 ต.ค. เพื่อเป็นมติให้ สส. เพื่อไทย โหวตในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้แตกแถวแม้แต่เสียงเดียว โดยก่อนหน้านี้ “แพทองธาร-แกนนำเพื่อไทย” ออกมายืนยันว่าจะไม่แตะทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ม. 112
สำหรับพรรคอื่นที่ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนนั้น ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับ “รายงานของกรรมาธิการ” แต่มีข้อกังวลคือ “ผลโหวต” จะถูกอ้างอิง และผลักให้เป็น “พวกของอีกฝ่าย” ทันที โดยมีความกังวลจะถูกสังคมตราหน้าว่า “เป็นฝั่งที่ไม่จงรักภักดี” ด้วยเหตุผลที่ว่า “มาตรา 112 ตามผลการศึกษานั้นไม่ฟันธงชัดเจน”
หากย้อนรอยที่มาของผลการศึกษาของ “กรรมาธิการ” จะพบว่าเกิดขึ้นหลังจากที่ “พรรคประชาชน” ที่ขณะนั้นยังเป็น “พรรคก้าวไกล” เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง ซึ่งรวมถึง คดีมาตรา 112 ต่อสภาฯ เมื่อ 17 ม.ค. 2567 ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์กันว่า อาจเป็นความไม่เหมาะสมและสุ่มเสี่ยง ให้ “สังคมเกิดความขัดแย้ง” จากความเห็นต่างของประชาชน ในประเด็น “มาตรา 112” หรือไม่
ต่อมา “พรรครวมไทยสร้างชาติ"​ โดย วิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร ได้นำเสนอร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาว่าด้วยการนิรโทษกรรม ชื่อว่า “ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข” เมื่อ 25 ม.ค.2567 ที่มีเนื้อหา ไม่รวมคดี 112 ไว้ในการล้างผิด ทำให้ “ภาคประชาชน-นักเคลื่อนไหว” เห็นประเด็นว่าอาจถูกลอยแพ จึงระดมรายชื่อยื่นเป็นร่างกฎหมายอีกฉบับต่อสภาฯ เมื่อ 14 ส.ค. 2567
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีร่างกฎหมายสังคมสันติสุขอีกฉบับที่เสนอโดย “กลุ่มพรรคเล็ก1เสียง” และมี “ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาชาติ” ร่วมลงชื่อสนับสนุน
ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า “พรรคเพื่อไทย” คิดอ่านจะเสนอเช่นกัน แต่ต้องเบรกไว้ก่อน เนื่องจากมีครหาเกี่ยวโยงกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาผิด ม.112เช่นกัน ว่าอาจเสนอเพื่อประโยชน์ของ “นายใหญ่”
ในจังหวะนั้น เพื่อยั้งความขัดแย้งในสังคม “พรรคเพื่อไทย” จึงเสนอญัตติให้สภาฯ ตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ผู้เสนอคือ “ขัตติยา สวัสดิผล” และพิจารณาเมื่อ 1 ก.พ. 2567 และสภาฯ ได้เห็นพ้องให้ตั้ง กมธ.35 คน จากนั้นกมธ. ได้ใช้เวลาศึกษารายละเอียด รวม 7 เดือนกว่า ตั้งแต่ 8 ก.พ. ถึง 25 ก.ค. และส่งรายงานให้ สภาฯ พิจารณา เมื่อ 17 ต.ค.
การศึกษาของ “กรรมาธิการ” ต้องยอมรับว่า การนิรโทษกรรม คดีมาตรา 110 และ มาตรา 112 เป็นประเด็นที่เห็นแย้งและไม่มีข้อสรุป ที่สามารถเห็นพ้องต้องกันได้ แม้ “กมธ.” ทั้งฝั่ง “เพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” จะหาทางประนีประนอมกับ “กรรมาธิการที่มาจากพรรคอื่น” ด้วยการกำหนดให้มี “คณะกรรมการกลั่นกรองคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง” ซึ่งหมายถึง คดีมาตรา 110 และ มาตรา 112
ทว่าจนแล้วจนรอด “กรรมาธิการ” ไม่มีทางออกร่วมกันได้ จึงเสนอให้ในบรรจุข้อความเห็นของกรรมาธิการ ทุกคน ไว้ในเล่มรายงาน ซึ่งจำแนกความเห็นของกรรมาธิการได้ 3 แนวทาง คือ แนวทางแรก ไม่นิรโทษกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แนวทางสอง นิรโทษกรรมไร้เงื่อนไข และ แนวทางสาม คือ นิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข ทั้งการตั้งกรรมการกลั่นกรอง มีมาตรการห้ามไปทำผิดซ้ำอีก เป็นต้น
โดยประเด็นนี้ จึงเป็นการเปิดช่องให้ “สส.” อภิปรายเนื้อหารายงานอย่างกว้างขวาง และทำให้ “พรรคการเมือง” ใช้เป็นเวทีแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า “ไม่เอามาตรา 112” และ “สนับสนุนนิรโทษกรรมมาตรา 112”
การลงมติเพื่อตัดสินในวันที่ 24 ต.ค. “วิสุทธิ์ ไชยณรุณ” ประธานวิปรัฐบาล บอกว่า ไม่มีประเด็นกังวล เพราะผลที่ได้ไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ไม่ใช่การการันตีหรือบังคับให้ “รัฐบาลหรือหน่วยงาน” ต้องรับไปปฏิบัติ รวมถึง “สภาฯ” ที่มีหน้าที่ออกกฎหมายในชั้นต่อไป
ต้องยอมรับว่าทิศทางของการลงมติต่อข้อสังเกตกรรมาธิการฯ หากเป็นไปตามแนวทางที่เสนอไว้ต่อสภาฯ เสียงโหวต อาจสะท้อนความไม่มีเอกภาพของ “รัฐบาล”
ดังนั้นทางที่ประนีประนอมและรักษาภาพไว้ คือ การตัดบางเนื้อหาออกไป เช่น กรณีที่จะส่งข้อสังเกตไปยัง ครม. และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้ “รายงานศึกษา” ไม่ต้องถูกตีตก
ขณะที่ผลการศึกษานั้น จะถูกยกขึ้นหิ้ง ของสภาฯ ไว้แบบนั้น
ทว่าหากเลือกทางดังกล่าว ต้องเผชิญความเสี่ยงที่ “ฝ่ายค้าน” หยิบไปโจมตีได้ว่า “รัฐบาลไม่จริงใจ” ต่อการสร้างความปรองดองในประเทศ ผ่านกระบวนการล้างผิดด้วยกฎหมาย ทำให้ “พรรคสีส้ม” ชิงแต้มการเมืองจาก “พรรคสีแดง” ยืนหนึ่ง-ยืนเดี่ยว อยู่ในขั้วเสรีนิยมสุดโต่ง.
โฆษณา