24 ต.ค. เวลา 13:19 • การเมือง

ตรวจคดี 4 ปี ‘ม.112’ ส่องชะตากรรม 'แกนนำม็อบ'

สถานการณ์การเมือง ณ ขณะนี้ร้อนแรงไม่แพ้กรณี “ดิ ไอคอน กรุ๊ป” โดยเฉพาะ 2 ปมใหญ่ที่ยังคาราคาซัง ได้แก่ กรณีเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับสอบ 6 คำร้อง “ยุบพรรคเพื่อไทย” กล่าวหาว่า “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ครอบงำ หรือชี้นำพรรค
รวมถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) ส่งข้อมูลข้อเท็จจริงภายใน 15 วัน กรณี “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย จากกรณีข้างต้นเช่นเดียวกัน มาเพื่อพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่
อีกปมหนึ่งคือในวันที่ 24 ต.ค.นี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดลงมติรับรองรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “รายงานศึกษานิรโทษกรรม” ซึ่งเป็นการนัดครั้งที่ 2 หลังจากเมื่อ 17 ต.ค. 2567 ที่ประชุมสภาฯได้พิจารณาเรื่องนี้ แต่หาข้อยุติไม่ได้ จน “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” รองประธานสภาฯ คนที่ 1 สั่งปิดการประชุมไป
ประเด็นที่น่าสนใจในร่างศึกษานิรโทษกรรมครั้งนี้ คือศึกษาวิธีการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยรายงานฉบับนี้นี้ “ถูกยื้อ” เข้าสู่สภาฯมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่มีการตั้ง กมธ.ขึ้นมาพิจารณา เมื่อ 1 ก.พ. 2567 ปัจจุบันผ่านมากว่า 9 เดือนแล้วยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นชิ้นเป็นอัน
ปัจจัยสำคัญคือ ความเห็นที่ยังไม่ลงรอยกันกรณีการนิรโทษกรรม ควรรวมถึงคดีตามประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 112” ด้วยหรือไม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม นั่นคือ ขั้วรัฐบาลหลายพรรค คัดค้านไม่ควรรวมมาตราดังกล่าว บางพรรคเห็นว่า ถ้าจะรวมมาตรา 112 ควรมีเงื่อนไข ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน เช่น พรรคประชาชน (ปชน.) เห็นว่าสมควรรวมมาตรา 112 ลงไปด้วย หรืออย่างน้อยควรรวมแบบมีเงื่อนไข เป็นต้น
สำหรับบุคคลถูกดำเนินคดีตาม “มาตรา 112” ที่ได้รับความสนใจจากสังคมขณะนี้ ย่อมมีชื่อของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ พาดพิงเบื้องสูง ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง ผบ.ทบ. (ขณะนั้น) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ และ อสส.เพิ่งมีความเห็นควรสั่งฟ้องเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ปัจจุบันคดีของ “ทักษิณ” อยู่ในการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว โดยจะมีการสืบพยานปากแรกในวันที่ 1 ก.ค. 2568
แต่นอกจาก “ทักษิณ” แล้ว นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาซึ่งเกิดปรากฎการณ์ “ตาสว่างรอบ 2” ผ่านการนำของ “ม็อบราษฎร” ชุมนุมประท้วง “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เรื่อยมาจนถึงช่วงต้นปี 2565 มีแกนนำม็อบ และมวลชนหลายคนถูกจับกุม และตั้งข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง และคดีตามมาตรา 112 จำนวนไม่น้อย
ในฐานข้อมูลของ “ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน” ที่รับทำคดีให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม ผู้เสียหาย หรือเหยื่อทางการเมือง เผยแพร่ข้อมูลสถิติว่า นับตั้งแต่ 24 พ.ย. 2563 เป็นต้นมา ถึง 20 ต.ค. 2567 มีบุคคลถูกจับกุมข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 275 คน ใน 307 คดี ในจำนวนนี้มีเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 20 คน ถูกดำเนินคดี 24 คดี โดยสรุปมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 77 คดี คดีที่อยู่ในชั้นศาลจำนวน 163 คดี
โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็น ประชาชนไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 162 คดี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร้องทุกข์ 11 คดี คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปร้องทุกข์ 9 คดี คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ร้องทุกข์ 1 คดี ส่วนที่เหลือคือคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา
โดยพฤติการณ์ส่วนใหญ่ที่ถูกตั้งข้อหามาจาก การปราศรัยในที่ชุมนุม 59 คดี การแสดงออกอื่น ๆ เช่น การติดป้าย พิมพ์หนังสือ แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น 72 คดี คดีเกี่ยวกับการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ 169 คดี และยังไม่ทราบสาเหตุ 7 คดี
สำหรับ “แกนนำม็อบ” ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 มีอย่างน้อย 12 คน เช่น “อานนท์ นำภา” มี 25 คดี ปัจจุบันศาลตัดสินไปแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 14 ปี 20 วัน “พริษฐ์ ชิวารักษ์” หรือ “เพนกวิน” มี 14 คดี โดยศาลตัดสินแล้ว 1 คดี โทษจำคุก 2 ปี แต่เจ้าตัวได้หลบหนี และลี้ภัยอยู่ต่างประเทศในขณะนี้ เช่นเดียวกัน “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่มีคดีติดตัว 9 คดี ตัดสินแล้ว 1 คดีโทษจำคุก 4 ปี แต่เจ้าตัวหลบหนีลี้ภัยไปแล้วเช่นกัน
ขณะที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล มี 10 คดี เบนจา อะปัญ 8 คดี ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 6 คดี พรหมศร วีระธรรมจารี 6 คดี ชูเกียรติ แสงวงค์ วรรณวลี ธรรมสัตยา เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี ส่วน “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อดีตแกนนำม็อบช่วงปี 2563-2564 แต่ปัจจุบันเขาอ้างว่ากลับตัวกลับใจ และยอมรับคำสารภาพทุกข้อหา มีคดีติดตัว 8 คดี
นี่ยังไม่นับบรรดา “มวลชน” ที่ติดสอยห้อยตาม “ม็อบราษฎร” อีกหลายคนที่ต้องโทษติดคุกในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และคดีตามมาตรา 112 อีกหลายคดีเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดคือบุคคลที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยคดีทั้งหมดอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ดังนั้นกลุ่มคนข้างต้น จะได้รับอานิสงค์ในการ “นิรโทษกรรม” ตามที่พรรคการเมืองบางพรรคตั้งเป้าไว้หรือไม่ คงต้องติดตามกัน
โฆษณา