24 ต.ค. เวลา 07:48 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Power of The Act: กฎหมายกับความ “ถูก” และ “สมเหตุสมผล” ของค่าไฟฟ้า

คำถามที่ว่าไฟฟ้าที่เราใช้แพงหรือไม่? คงเป็นคำถามที่มีการถามและมีการตอบกันอยู่ตลอด บทความนี้จะเสนอวิธีการคิดว่าพลังงานจะถูกหรือจะแพงเป็นเพราะปัจจัยใด เป็นเพราะต้นทุนใด และที่สำคัญ “รัฐ” กำกับดูแลการคิดค่าบริการในกิจการพลังงานดังกล่าวได้อย่างไร
การกำกับดูแลอัตราราคาไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายนั้นเป็นไปตามกฎหมายฉบับใด และกฎหมายเหล่านั้นมีกลไกการกำกับดูแลที่มีศักยภาพแล้วหรือไม่ หรือว่าความท้าทายในการกำกับอัตราค่าไฟฟ้านั้นเกิดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากการใช้อำนาจกำกับดูแลเพื่อควบคุมต้นทุนพลังงานและท้ายที่สุดแล้ว เราควรตั้งคำถามใหม่ว่า ค่าไฟฟ้าควรอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลโดยไม่ได้ติดกรอบว่าค่าไฟฟ้าต้องถูกเท่านั้นได้หรือไม่ ?
*ใครกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้า กกพ. หรือ กพช. ?
หากมองไฟฟ้าเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง และการให้บริการไฟฟ้าเป็นบริการประเภทหนึ่งแล้ว คงไม่แปลกถ้าหากผู้ขายและผู้ให้บริการจะคิดราคาให้สินค้าและบริการที่ตนเสนอขายนั้นอยู่ราคาที่สูงที่สุด ดังนั้น ผู้ที่จะทำหน้าที่กำกับดูแลราคาสินค้าและบริการจึงต้องเป็นคนละคนกับผู้ขายและผู้ให้บริการ หากจะมีการกำกับราคาของสินค้าและบริการ
ผู้กำกับดูแลต้องมีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นกลางในการกำกับดูแลราคาของสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันการกำกับดูแลนั้นก็มิอาจเป็นไปโดยปราศจากสภาพของสังคมและเศษฐกิจตามความเป็นจริงในแต่ละยุค หากสินค้าและบริการเป็นไฟฟ้า คำถามคือกฎหมายกำหนดหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลอัตราราคาไฟฟ้านั้นเป็นของหน่วยงานใดและจะเป็นไปตามเงื่อนไขใด
ใครควรจะรู้ต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการดีที่สุด? หากตอบว่า “ผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ” ก็เป็นไปได้ที่กฎหมายควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าเสนอค่าบริการในการประกอบกิจการผลิต จัดให้ได้มา การจัดส่ง การจำหน่ายไฟฟ้า หรือการควบคุมระบบไฟฟ้า
ซึ่งจะเป็นไปตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติว่าให้ผู้รับใบอนุญาตเสนออัตราค่าบริการเพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการพิจารณาต้องมีขั้นตอนที่โปร่งใส และต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย
กกพ. จะพิจารณาอัตราค่าบริการที่เสนอตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งมีหลักเกณฑ์สำคัญคือจะต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็จะต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต
อย่างไรก็ตาม มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ กกพ. ต้องกำกับดูแลอัตราค่าบริการให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 64 ซึ่งบัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนดนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน จะเห็นได้ว่า กกพ. ยังคงเป็นองค์กรกำกับดูแล แต่ต้องอยู่ในกรอบแห่ง “นโยบายและแนวทาง” ที่ กพช. เห็นชอบด้วย
กพช. มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 6(2) กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ หากพิจารณาจากถ้อยคำของกฎหมายแล้วจะเห็นได้ว่า กพช. มิได้เป็นผู้กำกับดูแลอัตราราคาไฟฟ้า แต่เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาเท่านั้น เช่นหากรัฐมีนโยบายลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน กพช. อาจมีมติให้ กกพ. ใช้อำนาจกำกับดูแลโดยการตรึงราคาค่าไฟฟ้าเอาไว้ในช่วงเวลาหนึ่ง
ในการกำหนด “หลักเกณฑ์การกำหนดราคา” ในทางปฏิบัตินั้น กพช. อาจลงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าโดยกำหนดให้โครงสร้างนั้น “ควร” สะท้อนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าตามหลักต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost) ที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับ การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และลักษณะการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศโดยรวม
อีกทั้งโครงสร้างค่าไฟฟ้านั้นต้องสะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ (Allowed Revenue) ของการไฟฟ้า ซึ่งคิดจากต้นทุนในการบริการที่คำนึงถึงการรักษาเสถียรภาพ และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยจำแนกตามประเภทผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันกับภาคเอกชน รวมทั้งเป็นกลไกของภาครัฐในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพด้านไฟฟ้า
*กฎเกณฑ์ในการทำให้ค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของตนเองและไฟฟ้าที่รัฐซื้อจากโรงไฟฟ้าเอกชน มีต้นทุนจากระบบส่งไฟฟ้า และการเป็นศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ส่วนการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็มีต้นทุนจากการใช้งานระบบจำหน่ายและค้าปลีกไฟฟ้า ผู้ประกอบการเหล่านี้จะ “เสนอ” อัตราค่าบริการตามหลักเกณฑ์ใดเพื่อให้ กกพ. ตรวจสอบและกำกับดูแลให้เป็นไปตามนโยบายที่ กพช. กำหนด
การออก “กฎเกณฑ์กติกา” เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามนั้นไม่ใช่การใช้อำนาจรัฐโดยหน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) แต่เป็นอำนาจในการกำกับดูแลซึ่ง กกพ. เป็นผู้ใช้อำนาจนี้ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแล (Regulator) ซึ่ง กกพ. ได้ออกประกาศ กกพ. เรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electricity Tariff Regulatory Framework) พ.ศ. 2564
ที่กำหนดให้อัตราค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจะเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้า (ในตลาดค้าปลีก) นั้น กกพ. จะกำหนดจากอัตราค่าไฟฟ้าฐาน (Base Tariff) ตามรอบการกำกับ อัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับปรุงค่าเชื้อเพลิง (Fuel Adjustment Tariff) ในระหว่างรอบการกำกับที่เปลี่ยนแปลงทุกสี่เดือน และตามค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ (Policy Expenses) ในระหว่างรอบการกำกับที่เปลี่ยนแปลงทุกสี่เดือน
กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ในฐานะผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าถูกประกาศ กกพ. กำกับดูแลมิให้คิดกำไรได้สูงสุดตามดุลพินิจในฐานะผู้ประกอบการ หากแต่จะต้องเป็นไปตามหลักการที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้รับผลตอบแทนไม่เกินรายได้พึงได้รับสูงสุด (Maximum Allowed Revenue) โดยกำหนดสูตรในการคำนวณรายได้สูงสุดคือ MAR = OPEX + DEP + TAX + RETURN + @
โดย MAR หมายถึง รายได้พึงได้รับสูงสุด (Maximum Allowed Revenue) ตามประเภทของใบอนุญาต มีหน่วยเป็นบาท OPEX หมายถึง ประมาณการค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (Operation Expense) มีหน่วยเป็นบาท DEP หมายถึง ประมาณการค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ฐาน (Depreciation) มีหน่วยเป็นบาท TAX หมายถึง ประมาณการภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax) มีหน่วยเป็นบาท RETURN หมายถึง
ผลตอบแทนของกิจการตามประเภทใบอนุญาตซึ่งอ้างอิงสินทรัพย์ฐาน (Regulatory Asset Base) และอัตราผลตอบแทน (Rate of Return) ที่เหมาะสม มีหน่วยเป็นบาท @ หมายถึง ค่าใช้จ่ายจากเหตุสุดวิสัย มีหน่วยเป็นบาท
หาก กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กฟผ. สามารถส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวมาในต้นทุนการผลิตไฟฟ้าได้ โดยข้อ 10 ของประกาศ กกพ. ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า สำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ผู้มีหน้าที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้า
ทั้งที่เป็นสัญญาระหว่างผู้มีหน้าที่กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น (Power Purchase Agreement) หรือกับหน่วยงานภายในของผู้มีหน้าที่เองที่ กกพ. เห็นชอบ (Internal Power Purchase Agreement) ให้ผู้มีหน้าที่ซึ่งเป็นคู่สัญญาประมาณการค่าใช้จ่ายดำเนินงานจากต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้า (Prudent Cost of Service) โดยประมาณการจากค่าซื้อไฟฟ้าจากแต่ละสัญญา
*ต้นทุนค่าไฟฟ้า
เมื่อต้นทุนจากการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนซึ่ง กฟผ. มีโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ จึงย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่ราคาที่ กฟผ. จ่ายจะถูกรวมเข้ามาในต้นทุนค่าไฟฟ้าและถูกส่งผ่านมาให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายในท้ายที่สุด หาก กฟผ. สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งประกาศ กกพ. เรื่อง หลักเกณฑ์การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้า พ.ศ. 2564 กำหนดให้ กฟผ. สั่งโรงไฟฟ้าประเภทที่มีข้อกำหนดดตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (ซึ่งเรียกว่า “ประเภท Must Take”) ก่อนจะสั่งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าประเภทที่มีต้นทุนต่ำที่สุด (ซึ่งเรียกว่า “ประเภท Merit Order”)
ดังนั้น หาก กฟผ. “ผูกปิ่นโต” รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภท Must Take เอาไว้เป็นจำนวนมากย่อมหมายความว่าต้นทุนจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นก๊าซธรรมชาติย่อมมีมากไปด้วย คำถามคือในปัจจุบันระบบไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นพึ่งพาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติมากเพียงใด
ในปัจจุบัน กฟผ. (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) เผยแพร่ข้อมูลกำลังผลิตตามสัญญาของระบบว่า กฟผ. มีกำลังการผลิต 16,261.02 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 32.12%) IPP 18,973.50 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 37.48%) SPP 9,155.88 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 18.08%) Foreign 6,234.90 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 12.32%)
นอกจากนี้ กฟผ. ได้แสดงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. (ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) เอาไว้ว่า ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนมากที่สุดในระบบผลิตพลังงานในระบบของ กฟผ. กล่าวคือ 63.24% ผลิตไฟฟ้าได้ถึง 95,584.18 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (เทียบกับพลังงานหมุนเวียนที่มีสัดส่วนเพียง 16.93% ผลิตไฟฟ้าได้ 25,585.39 กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
*ราคาก๊าซธรรมชาติ
คำถามคือ ก๊าซธรรมชาติ ที่โรงไฟฟ้าซื้อมาผลิตไฟฟ้านั้นมีราคาอย่างไร หากผู้ขายก๊าซธรรมชาติขายก๊าซธรรมชาติ “แพง” ตั้งแต่แรกค่าไฟฟ้าย่อมแพงเพราะต้นทุนนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ไม่ได้ใช้บังคับผู้ประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งอาจขายก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหากแต่เป็นพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ และมาตรา 58 บัญญัติว่าการขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เพื่อใช้ภายในราชอาณาจักร ให้ผู้รับสัมปทานขายในราคาที่ตกลงกับคณะกรรมการปิโตรเลียมโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแต่ราคาที่ตกลงกันนั้นต้องไม่สูงกว่าราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติที่ส่งออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความแตกต่างของคุณภาพและค่าขนส่งด้วย
นอกจากนี้ ข้อ 11(4) แบบสัมปทานปิโตรเลียม (ชธ/ป2) ยังระบุให้ผู้รับสัมปทานต้องขายหรือจำหน่ายภายในประเทศ รวมทั้งขายหรือจำหน่ายให้แก่รัฐบาลเพื่อใช้ในโครงการใด ๆ ซึ่งรัฐบาลส่งเสริมก่อนการส่งออกไปขายหรือจำหน่ายนอกประเทศ
ราคาของก๊าซธรรมชาติที่จำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ซึ่งถูกจัดหาและค้าส่งโดยผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติอีกชั้นหนึ่งตาม ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์การคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2565 โดยเรียกก๊าซธรรมชาติเพื่อโรงไฟฟ้านี้เรียกว่า “Pool Gas” โดย กกพ. จะคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติ (Energy Pool Gas) โดยต้องปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน ทั้งทางด้านอัตราค่าบริการ ค่าปรับ และคุณภาพการให้บริการ
กล่าวได้ว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่จะถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าและถูกส่งผ่านมายังผู้ใช้ไฟฟ้านั้นถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขั้นการขายโดยผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมซึ่งขายก๊าซธรรมชาติ และในขั้นการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติโดยผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติให้กับโรงไฟฟ้า
*ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่รับต้นทุนจากก๊าซธรรมชาติได้หรือไม่ ?
ตราบเท่าที่มีการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ ผู้ใช้ไฟฟ้าย่อมต้องจ่ายต้นทุนที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ ผู้เขียนเห็นว่าวิธีการหนึ่งที่จะลดภาระต้นทุนนี้คือการลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรืออาจเรียกได้ว่าลดความสำคัญของโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลง ยกตัวอย่างเช่น หากราคาไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายนั้นเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน ไฟฟ้านี้ย่อมไม่มีต้นทุนจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ
หากมีการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนระหว่างเอกชนตามตลาดที่มีการแข่งขันกันแล้ว รัฐควรปล่อยให้มีการคิดราคาค่าไฟฟ้าสีเขียวนี้ได้โดยปล่อยให้ตลาดทำงานให้มากที่สุดในการดึงราคาไฟฟ้าให้ต่ำลง ผู้เขียนเห็นว่าตลาดผลิตและค้าปลีกไฟฟ้านั้นเป็นตลาดที่แข่งขันได้ ไม่ได้เป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดตามธรรมชาติ
ทั้งนี้ ข้อ 17 ของประกาศ กกพ. เรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electricity Tariff Regulatory Framework) พ.ศ. 2564 ก็ได้เปิดช่องแสดงร่องรอยของการปล่อยให้ตลาดทำงานนี้โดยระบุว่าหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าซึ่งกำหนดให้กิจการผลิตไฟฟ้าสามารถส่งผ่านต้นทุนจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น “ไม่ใช้” กับกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าซื้อไฟฟ้าจากตลาดแข่งขัน (Contestable Market) หรือจากการทำสัญญาทวิภาคี (Bilateral Contract)
การลดสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาตินั้นไม่ได้หมายความว่าระบบพลังงานของประเทศไทยจะเลิกพึ่งพาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติทั้งหมดทันที ไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนมีความผันผวนไม่แน่นอน
ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะต้องมีความมั่นคงและเชื่อถือได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนก่อความเสี่ยงจากความไม่สมดุลจากการจ่ายหน่วยไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายและการใช้ไฟฟ้าจากระบบโครงข่าย ดังนั้น โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติจึงยังมีความจำเป็นในฐานะโรงไฟฟ้าที่ใช้สร้างความมั่นคงและเชื่อได้ของระบบไฟฟ้า แต่ควรลดบทบาทลง
ในแง่ของต้นทุนนั้น การซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนระหว่างเอกชนนั้นแม้จะไม่มีต้นทุนจากก๊าซธรรมชาติแต่ก็ยังมีต้นทุนจากการใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการส่งไฟฟ้าในทางกายภาพหรือส่งมอบไฟฟ้าแบบเสมือน ระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะมีภาระมากขึ้นในการรับเอาหน่วยไฟฟ้าเหล่านี้มาบริหารจัดการความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าของประเทศโดยรวม ต้นทุนเหล่านี้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ซื้อไฟฟ้าจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนนี้จะต้องจ่าย
ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนขอเสนอให้เราทุกคนพิจารณาคำถามเกี่ยวกับราคาไฟฟ้าใหม่โดยเปลี่ยนคำถามว่าค่าไฟฟ้า “ถูกที่สุดหรือไม่” ให้กลายเป็น ค่าไฟฟ้าที่จ่ายนั้น “สมเหตุสมผลหรือไม่” หากเราใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (มาก) การแบกรับต้นทุนจากก๊าซธรรมชาติย่อมเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะถูกกำกับให้เป็นราคาที่ดีที่สุด ถูกที่สุดเพียงใด
แต่หากเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ควรรับก็เป็นต้นทุนที่ไม่สมเหตุสมผล ส่วนต้นทุนจากการบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรักษาความสมดุลและความมั่นคงเชื่อถือได้ของระบบโครงข่ายไฟฟ้าควรเป็นต้นทุนที่ผู้ใช้ไฟฟ้าควรช่วยกันรับผิดชอบ ต้นทุนเหล่านี้อาจลดลงจนกลายเป็นต้นทุนที่ทั้งสมเหตุสมผลและไม่แพงก็เป็นได้
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
โฆษณา