Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Thitinavatar Ditheekarun
•
ติดตาม
24 ต.ค. เวลา 09:10 • สิ่งแวดล้อม
ม.มหิดลเปิดกลยุทธ์ ‘สมดุลน้ำ - สมดุลเศรษฐกิจ’
“แผนปฏิบัติการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” คือ หนึ่งใน 6 แผนพัฒนาพื้นที่อีอีซี หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีสู่การเป็น “เขตเศรษฐกิจชั้นนำแห่งอาเซียน” ของประเทศไทย
ซึ่ง “การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” ที่แข็งแกร่ง จะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับ “การขับเคลื่อนชุมชน” ให้เกิดความตระหนักต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน ที่ไม่ได้เป็นเพียง “ผู้นำการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชน” เช่นที่ผ่านมา แต่ยังครอบคลุมถึง “การส่งเสริมและสนับสนุนปัจจัยทางสภาวะแวดล้อม” อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้อำนวยการ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย การประปาส่วนภูมิภาค และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จากการลงพื้นที่อีอีซีสำรวจพฤติกรรมการใช้น้ำของประชาชนในเขตพื้นที่อีอีซี เพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบ “สมดุลน้ำ - สมดุลเศรษฐกิจ” โดยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่แล้วในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ “Journal of Environment and Sustainability Indicators" เมื่อเร็วๆ นี้
พบว่าประเทศไทยยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการ “บริหารจัดการน้ำ” จากสมมุติฐานที่ว่า ”ไม่มีผู้ใดยอมรับโดยง่ายว่าใช้น้ำเปลือง คิดกันแต่ว่าทุกวันนี้ใช้น้ำกันอย่างประหยัดอยู่แล้ว“ หนึ่งในเหตุผลสำคัญ เนื่องจากเป็นบริการโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ใช้ต้องลงทุน จึงคิดว่าไม่น่าจะมีผู้ใดกล้าใช้น้ำเปลือง
แต่เมื่อมาพิจารณาในรายละเอียด โดยไม่ได้มองแค่เพียง “การใช้น้ำส่วนบุคคล” แต่ยังรวมถึงระดับ “ครัวเรือน” และ “ชุมชน” พบว่ามีอัตราการใช้น้ำใน “ความเป็นจริง” ที่แตกต่างจากการใช้น้ำใน “ความรู้สึก”
เช่นเดียวกับการทำ “บัญชีรายรับ - รายจ่าย” ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการ “ควบคุมค่าใช้จ่าย” หากจ่ายโดยไม่ลงรายละเอียดเลยว่าใช้จ่ายในเรื่องอะไร เพื่ออะไร เป็นจำนวนเงินเท่าใด ก็อาจไม่ทันได้ตระหนักถึง “ตัวการสำคัญ” ที่ทำให้ “รายจ่ายเกินรายรับ”
โดยในการบรรลุเป้าหมายเพื่อลดใช้น้ำให้ได้ร้อยละ 15 ตามนโยบายรัฐ ไม่ได้นับเฉพาะ “ภาคอุตสาหกรรม” ที่ส่วนใหญ่ถึงพร้อมด้วย “ระบบควบคุมการใช้น้ำ” เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ “ต้นทุน” อยู่แล้ว หรือ “การสูญเสียในระบบท่อ” ที่อาจเกิดขึ้นได้กับท่อที่อยู่ในบริเวณชั้นใต้ดินโดยทั่วไป แต่คือ “ภาพรวมของชุมชน” ที่ต้องหันกลับมาดูแล “การสื่อสารภายในบุคคล” (Self - Perception)
โดยผู้วิจัยได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ “กลยุทธ์ประหยัดน้ำเพิ่ม” ตามบทสรุปของงานวิจัยที่ได้จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) พบว่า ชุมชนสนใจเรื่อง “การใช้เทคโนโลยี” ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “อำนาจในการใช้จ่าย” ซึ่งอาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่การเปลี่ยนไปใช้ “ก๊อกประหยัดน้ำ” การสร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน“ ที่เป็นการนำน้ำไปเก็บไว้ในชั้นใต้ดิน แล้วค่อยนำกลับมาใช้ในยามคับขัน ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยี “เปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดพร้อมใช้” ซึ่งต้องอาศัย “ต้นทุน” เป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนหลักจากทางภาครัฐ
อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “การวางระบบบริหารจัดการน้ำ” ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้อย่างประหยัด และคุ้มค่าเพิ่มมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาถึง “คุณภาพน้ำ” ร่วมด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่
www.mahidol.ac.th
ภาพจาก สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิตินวตาร ดิถีการุณ นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
รองศาสตราจารย์ ดร.ธันวดี สุขสาโรจน์ ผู้อำนวยการ และอาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย