24 ต.ค. เวลา 10:01 • สุขภาพ

เรื่อง โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลางชนิดเอ็นเอ็มโอ (Neuromyelitis Optica) ตอนที่ 1

บทความโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เเพทย์หญิงนาราพร ประยูรวิวัฒน์ เเละ รองศาสตราจารย์ เเพทย์หญิงจิราพร จิตประไพกุลศาล
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคปลอกประสาทอักเสบ (inflammatory demyelinating disease) ของระบบประสาทส่วนกลาง เป็นโรคที่มีการอักเสบของปลอกประสาทที่หุ้มเส้นประสาทในสมอง เส้นประสาทตา และไขสันหลัง เนื่องจากปลอกประสาทมีหน้าที่สำคัญในการนำกระแสประสาท เมื่อปลอกประสาทมีการอักเสบจะส่งผลให้การนำกระแสประสาทของอวัยวะนั้นผิดปกติ ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงของโรค เช่น เส้นประสาทตาอักเสบทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัด หรือ ไขสันหลังอักเสบทำให้มีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง เป็นต้น
โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง ชนิดที่พบบ่อยมี 2 โรค ได้แก่ มัลติเพิลสเคอโรสิสหรือเอ็มเอส (multiple sclerosis หรือ MS) และนิวโรมัยอิลัยติสออฟติกาหรือเอ็นเอ็มโอ (neuromyelitis optica หรือ NMO) ชื่อเรียกเฉพาะในภาษาไทยของโรคมัลติเพิลสเคลอโรสิส คือ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
บทความนี้ ขอใช้ชื่อ 2 โรคนี้โดยย่าว่า โรคเอ็มเอสและโรคเอ็นเอ็มโอ โรคทั้งสองมีลักษณะอาการและอาการแสดงหลายอย่างคล้ายกัน แต่สาเหตุ กลไกการเกิดโรค รวมถึงการรักษาแตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันสามารถให้การรักษาเพื่อควบคุมโรคทั้งสองได้ดี จึงจำเป็นต้องให้การวินิจฉัยแยกโรคให้ถูกต้อง เพื่อการรักษาที่เหมาะสมในระยะยาว
บทความนี้ขอกล่าวถึงโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ
โรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่ปัจจัยที่อาจมีส่วนทำให้เกิดโรค ได้แก่ กรรมพันธุ์ ชนชาติ (คนไทย คนในประเทศแถบเอเชียพบบ่อยกว่าคนผิวขาว) การติดเชื้อไวรัสบางชนิด (เชื้อ Epstein Barr virus หรือเชื้ออีบีวี ) เป็นต้น มักเกิดโรคในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบได้ตั้งแต่ผู้ป่วยอายุน้อยจนถึงอายุมากกว่า 80 ปี พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี
กลไลการเกิดโรค
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอ็นเอ็มโอ จะมีสารต่อต้านภูมิหรือแอนติบอดี (antibody) สร้างโดยเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง (ลิมโฟไซต์) แล้วปล่อยแอนติบอดีเข้าในกระแสเลือด ผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาทตา สารต่อต้านภูมิจะไปจับกับตัวรับสาร (receptor) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของผนังเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นช่องการผ่านของน้ำ (aquaporin channel) อยู่บนผิวเซลล์ของระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อสารต่อต้านภูมิจับกับตัวรับสาร จะเกิดการทำลายเซลล์ ทำให้เกิดอาการผิดปกติ
สารต่อต้านภูมินี้ ไม่พบในคนทั่วไป จะพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ อ
สาเหตุที่ร่างกายของผู้ป่วยสร้างสารต่อต้านภูมินี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด จึงยังไม่สามารถรักษาที่จุดกำเนิดโรคนี้
อาการและอาการแสดงของโรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ
เส้นประสาทตาอักเสบ ทำให้มีอาการตามัวลงอย่างเฉียบพลันในเวลาเป็นวันถึงหลายสัปดาห์ ความรุนแรงเป็นได้ตั้งแต่อาการตามัวเพียงเล็กน้อยจนถึงตาบอดมืดสนิท อาการตามัวมักเป็นตาข้างเดียวและภาพที่มองไม่ชัดมักเริ่มจากบริเวณตรงกลางของลานสายตา อาการอื่นที่พบร่วมได้แก่ กลอกตาแล้วรู้สึกปวดภายในเบ้าตา
ไขสันหลังอักเสบ ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติได้หลายลักษณะ ได้แก่ อาการชาบริเวณแขน ขา ลำตัว กล้ามเนื้อแขนหรือขาอ่อนแรง โดยอาการชาหรืออ่อนแรงอาจเป็นที่แขนขาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง และมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากันในแต่ละข้างได้ การควบคุมขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะผิดปกติ อาจเป็นเบ่งถ่ายปัสสาวะอุจจาระไม่ออกหรือกลั้นไม่อยู่ อาการไขสันหลังอักเสบของผู้ป่วยโรคเอ็นเอ็มโอมักรุนแรงกว่าโรคเอ็มเอส และฟื้นตัวน้อยกว่า
ปลอกประสาทอักเสบในสมอง ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติได้หลายแบบ ขึ้นกับตำแหน่งของรอยโรค ได้แก่ อาการเห็นภาพซ้อน เดินเซ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก ซึมลง สะอึกไม่หยุด คลื่นไส้อาเจียนต่อเนื่องที่ไม่ทราบสาเหตุ โรคการหลับผิดปกติ ความรู้สึกตัวลดลง เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนน้อยมีอาการชักได้
อาการเกร็งกล้ามเนื้อของแขนหรือขาเป็นพัก ๆ นานครั้งละประมาณครึ่งถึงหนึ่งนาที แล้วคลายตัวได้เอง บางรายมีอาการปวดอย่างรุนแรงร่วมด้วยขณะที่กล้ามเนื้อกำลังเกร็งตัว
อย่างไรก็ตาม อาการดังที่กล่าวมาไม่จำเพาะต่อโรคใดโรคหนึ่ง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง
การตรวจเพิ่มเติม
ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มักจะให้ภาพที่ไม่ละเอียดพอต่อการวินิจฉัยโรค
ภาพคลื่นแม่เหล็กหรือเอ็มอาร์ไอ (magnetic resonance imaging หรือ MRI) ส่วนที่มีอาการ เช่น ไขสันหลัง เส้นประสาทตาและสมอง
การตรวจจอประสาทตาโดยใช้เครื่องมือ ได้แก่ การถ่ายภาพจอประสาทตา การตรวจการนำกระแสประสาทตาและการตรวจความหนาจอประสาทตา
การตรวจเลือด ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคและวางแผนการรักษา
การตรวจน้ำไขสันหลัง มีความจำเป็นเพื่อวินิจฉัยแยกโรค โดยในโรคเอ็มเอสจะพบว่ามีเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติได้ และตรวจหาสารบ่งชี้การอักเสบได้
การรักษาโรคเอ็นเอ็มโอ
การรักษาประกอบด้วย การรักษาจำเพาะและการรักษาอาการต่าง ๆ ของโรค
การรักษาจำเพาะ แบ่งเป็นสองระยะ ได้แก่
1) ระยะกำเริบเฉียบพลัน การรักษาหลักในปัจจุบัน คือ การฉีดยาสเตียรอยด์ทางหลอดเลือด วันละครั้ง 3-7 วัน ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและให้รับประทานยาสเตียรอยด์ต่อหลังจากการฉีดยา ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาสเตียรอยด์แล้วอาการดีขึ้นน้อย แพทย์อาจพิจารณาการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (plasma exchange) 5-7 ครั้ง ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก
2) ระยะโรคสงบ เนื่องจากธรรมชาติของตัวโรคมักมีการกำเริบ (relapse) เป็นระยะ จึงจำเป็นต้องมียาป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งมีหลายชนิด ในประเทศไทย (พ.ศ. 2567) มียารับประทานและยาฉีดทางหลอดเลือด (กล่าวถึงในตอนที่ 2)
ยาทุกชนิดที่กล่าวมา เป็นยาที่มีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงแตกต่างกัน จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด
2. การรักษาอาการต่าง ๆ ของโรค ได้แก่
1) อาการเกร็งของแขนขา มีสองลักษณะ คือ อาการเกร็งระยะสั้น เกิดเป็นพัก ๆ ระยะเวลาเป็นวินาทีถึงนาที ร่วมกับอาการปวดกล้ามเนื้อที่อาจเป็นรุนแรงได้ มักตอบสนองดีมากต่อยาบางชนิด และอาการเกร็งต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการเกร็งตลอดเวลา รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด ฉีดยาลดเกร็ง หรือกินยาคลายกล้ามเนื้อ
2) อาการปวดแสบร้อน จากรอยโรคของระบบประสาทส่วนกลาง สามารถใช้ยาลดอาการปวดได้ ซึ่งมียาหลายชนิด
3) อาการเดินเซ เวียนศีรษะ จากรอยโรคที่สมองน้อย (หรือสมองส่วนซีรีเบลลัม) รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด และรับประทานยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะ
การดำเนินโรค
ธรรมชาติของโรคเอ็นเอ็มโอ มักมีการกำเริบเป็นพัก ๆ โดยอาการอาจเป็นรูปแบบเดิมหรือเกิดอาการใหม่ที่แตกต่างจากลักษณะเดิมที่เคยเป็นได้ การกำเริบมักเกิดในช่วงปีแรก ๆ ของโรค เฉลี่ยประมาณ 1-2 ครั้งต่อปี เมื่อเป็นนาน ๆ อาการกำเริบมักจะห่างลง
ในแต่ละครั้งที่โรคกำเริบ อาการอาจจะดีขึ้นได้เองหรือดีขึ้นจากการฉีดยาสเตียรอยด์ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ในเวลาเป็นสัปดาห์ถึงหลายเดือน
ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถฟื้นตัวจนหายกลับเป็นปกติ บางรายฟื้นตัวดีขึ้นเพียงบางส่วน ไม่หายกลับเป็นปกติ ทำให้เกิดความทุพพลภาพขึ้น หลังการกำเริบของโรคในแต่ละครั้ง ถ้าผู้ป่วยไม่ฟื้นตัวกลับมาเท่าปกติ ความทุพพลภาพก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาการที่หลงเหลืออยู่นี้ อาจจะมีความรุนแรงของอาการมากหรือน้อยแตกต่างกันในแต่ละวันได้ (fluctuation) เช่น บางวันอาจจะมีอาการชามาก บางวันมีอาการชาน้อยก็ได้
โรงพยาบาลศิริราชมีคลินิกเฉพาะโรค คือ คลินิกโรคเอ็มเอส รักษาผู้ป่วยโรคปลอกประสาทอักเสบทั้งชนิดเอ็นเอ็มโอและเอ็มเอส มีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเอ็นเอ็มโอ องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยที่ผ่านมา ได้ถูกนำมาใช้ในพัฒนาการดูแลผู้ป่วยรายอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง
โฆษณา