24 ต.ค. เวลา 21:19 • ความคิดเห็น
กราบขอบพระคุณทุกคำตอบในกระทู้นี้นะคะ ได้เห็นอีกหลายมุมจากคำตอบในกระทู้ ได้ตั้งข้อสังเกตและขอสรุปรวบตึงไว้ตรงนี้ ทั้งนี้จขกท.ได้พยายามอย่างที่สุดที่จะไม่ก้าวล่วงความคิดความเชื่อของใคร หากกระทบความรู้สึกของใครก็ขออภัยไว้ล่วงหน้าค่ะ
✍️ ความเสี่ยงอันใหญ่หลวงประการหนึ่งของคนเราคือ “การไม่รู้ความเสี่ยงของตัวเอง” ไม่รู้จุดอ่อนของตัวเอง ซึ่งอาจมีที่มาจากตัวตนดั้งเดิม บวกกับสิ่งที่สะสมบ่มเพาะจากประสบการณ์ในชีวิต ส่งผลให้คิดอะไร-เชื่ออะไรแบบตายตัวฝังหัวสุดโต่ง เชื่อว่าดีงามถูกต้อง ฯลฯ กลายเป็นกำแพงอีโก้ที่ก่อตัวหนาโดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
✍️ การเตือน (ตามนัยยะของกระทู้นี้) ไม่ใช่แค่เรื่องที่เป็นความโลภ-ความหลงในวัตถุข้าวของทรัพย์สินเงินทองหรือสถานะในทางโลก แต่กินความหมายกว้างและครอบคลุมหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เป็นปัจจัตตัง การดำเนินชีวิตทั่วๆไป สุขภาพ การครองตน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การรับมือกับปัญหาต่างๆในชีวิต วนอยู่ในห้วงทุกข์จนกลายเป็นแบกโลก ฯลฯ
✍️ กระทู้นี้จึงใช้คำว่า "ตั้งค่า" ให้ใครสักคนเป็น Warner อุปมาเหมือนระบบแจ้งเตือนที่เราจะรับฟังเสมอทุกครั้งที่มีการร้องเตือนขี้นมา ถึงไม่ใช่คนตัวเป็นๆก็อาจเป็น Warning Sign บางประการ ที่ส่งสัญญาณเตือนเรา
✍️ นึกภาพเครื่องยนต์กลไกต่างๆที่มีระบบแจ้งเตือน แล้วทำไมมนุษย์..สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนกว่าเครื่องยนต์กลไก จึงไม่มีระบบแจ้งเตือน เอาความมั่นใจมาจากไหนว่าจะสามารถอ่านสถานการณ์ออก และมีสติเตือนตัวเองได้ถูกต้องแม่นยำทุกครั้ง
ความเชื่อใจและเชื่อมั่นว่า
ตนจะมีสติเตือนตัวเองได้ตลอดเวลาทุกสถานการณ์
ความเชื่อเช่นนี้มิเป็นการประมาทเกินไปฤา
  • 1.
    ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่ใช่แค่คิดเองทำเองอยู่คนเดียว การไม่พึ่งพา-ไม่รับฟังคนอื่น ยังห่างไกลยิ่งนักจากนัยยะของคำว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
  • 2.
    ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน กับการรับฟังผู้อื่น สามารถไปด้วยกันได้
  • 3.
    การรับฟัง เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้เราได้คิดทบทวน
  • 4.
    รับฟังมาแล้วก็ต้องไตร่ตรองด้วยตนเองอยู่ดี
  • 5.
    ไตร่ตรองแล้วจึงลงมือทำ น้อมรับผลแห่งการกระทำ จึงจะเรียกได้ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
โฆษณา