25 ต.ค. เวลา 00:14 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

โจ๊กเกอร์ (ภาค 1)

สปอยยิบ (ตอน1)
ความเจ็บปวดภายใต้เสียงหัวเราะ
หนังเรทอาร์ (Rated-R Film)
ชีวิตสุดดาร์กของชายป่วยโรคจิตคนหนึ่ง ที่อาจทำให้คุณจิตตกตามได้
เนื้อหามีความรุนแรงอยู่บ้าง และอาจหมิ่นเหม่ต่อการเอาอย่างในการก่อการจลาจล
1. ฉากแรกเป็นห้องแต่งตัวนักแสดงบนตึกเก่าๆ ในเมืองก็อตแธม มีเสียงอ่านข่าวจากโทรทัศน์ กร่นถึงปัญหาขยะล้นเมืองและความย่ำแย่ในการจัดการด้านสาธารณูปโภคของรัฐ อาเธอร์ เฟลก ชายร่างผอมเกร็งวัยกลางคนตอนปลาย กำลังแต่งหน้าที่โต๊ะเครื่องแป้ง เขาใช้นิ้วชี้ทั้งสองข้างล้วงเข้าไปในปากตัวเองดึงให้ฉีกยิ้มขึ้นจนผิดรูป ทว่ามันขัดแย้งกับดวงตาคู่อ้างว้าง หากแต่มีน้ำใสๆ แห่งความขมขื่นซึมออกมาผสมกับสีดำของอายไลน์เนอร์ให้ละลายไหลเป็นทางไปด้วย
เพียงแค่เปิดเรื่อง คนดูก็สัมผัสได้ถึงความน่าสลดใจของตัวละครโดยไม่ต้องบอกเล่า ยกให้เป็นความสามารถของวาคีน ฟีนิกซ์ จริงๆ ที่สะกดคนดูให้ดิ่งไปกับอารมณ์ของตัวละครซึ่งแสดงออกด้วยสีหน้าและแววตาเท่านั้น
2. เสียงดนตรีสนุกสนานแทรกเข้ามา มันช่าง contrast แตกต่างจากชีวิตจริง เสียงเพลงนั้นบรรเลงต่อเนื่องแต่ภาพเปลี่ยนมาเป็นตัวตลกกำลังชูป้ายเต้นอยู่หน้าร้านแห่งหนึ่ง พลันก็มีกลุ่มวัยรุ่นแย่งป้ายเขาไปด้วยความคึกคะนอง เขาวิ่งตามไปเอาคืนจนเกือบจะโดนรถชน
เมื่อตามมาถึงตรอกโทรมๆ เต็มไปด้วยกองขยะ เขาก็โดนวัยรุ่นกลุ่มนั้นทุ่มด้วยป้าย และรุมกระทืบร่างที่นอนกลิ้งกับพื้น อาเธอร์ไม่มีการต่อสู้ใดๆ ได้แต่นอนเป็นกระสอบทรายให้เตะจนพวกมันพอใจและวิ่งหนีกันไป มีแต่ป้ายที่หักเสียหายกองเป็นเพื่อน เขาเอื้อมมือจับเศษป้ายอย่างสิ้นแรง นี่คือสิ่งมีค่าในการทำมาหากินที่เขาสู้แย่งคืนมา แต่กลับต้องแลกด้วยความเจ็บปวด
จะเห็นว่าอาเธอร์ถูกปูพื้นมาให้เป็นคนยอมคน ยอมจำนนต่อสังคมที่โหดร้าย เขามีร่างกายที่ตกมาตรฐานของชายทั่วไป เพราะซูบผอมเกินกว่าจะไปต่อต้านใครได้ ฐานะทางสังคมก็ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร แค่อยู่ให้รอดไปวันๆ จึงทำได้แค่ยอมและปล่อยให้มันผ่านไป
3. ภาพ Close up ที่ใบหน้าของอาเธอร์กำลังเค้นหัวเราะที่ดูฝืนทรมานจนสำลักและจุกอยู่ในลำคอ ต่อหน้านักสังคมสงเคราะห์หญิง ที่ทำหน้าที่เป็นนักบำบัดจิตภายในห้องทำงานของเธอ ก่อนที่เขาจะหยุดการหัวเราะได้อย่างยากลำบากแล้วพูดขึ้นว่า “โลกนี้มันบ้าขึ้นทุกวัน หรือผมกำลังคิดไปเอง” “แน่นอน โลกนี้มันอยู่ยากขึ้นทุกวัน” เธอกล่าวเสริมก่อนจะขอดูสมุดบันทึกที่สั่งให้เขาเขียนมาส่งให้เธอทุกครั้งที่มาตามนัด
เขาทำท่ากระอักกระอ่วนที่จะมอบให้ เข่าของเขาเริ่มกระตุกถี่ ๆ เมื่อเขารู้สึกอึดอัดหรือประหม่า เมื่อถูกทวงถามซ้ำ เขาจึงดึงมันออกมาจากกระเป๋าหลังกางเกงอย่างเคอะเขินเล็กน้อยและพูดออกตัวว่า เขาไม่ได้ใช้บันทึกอย่างเดียว เขาใช้มันจดมุกตลกเพื่อใช้ในการทำงานด้วย เมื่อนักบำบัดจิตเปิดตรวจดูทีละหน้า จะเห็นถึงความไม่เป็นระเบียบ มีภาพโป๊ตัดแปะไว้บ้าง เขียนมั่วๆ เลอะๆ ไม่มีวันที่ ไม่มีเวลา ไม่มีแบบแผนใด ๆ
อาเธอร์ยังคงอัดบุหรี่ในมือ นักสังคมสงเคราะห์เปิดมาเจอหน้าบันทึกหน้าหนึ่งมีประโยคที่เขาเขียนเน้นตัวเข้มๆว่า “ถ้าฉันตาย คงมีค่ากว่าการมีชีวิตอยู่” เธอถามอาการเขาเรื่อยๆ อาเธอร์ไม่ตอบ แต่แย้งว่าเคยบอกหลายครั้งแล้ว แต่เธอพูดว่าไม่เคยบอก
ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ต้องเจอคนไข้วันละหลายเคส ยิ่งเป็นงานสังคมสงเคราะห์ยิ่งงานเยอะ จนไม่มีเวลามาใส่ใจกับคนไข้รายใดเป็นพิเศษ อย่างมากก็แค่ดูประวัติการรักษาคร่าว ๆ ก่อนคนไข้เข้าพบ และนักสังคมสงเคราะห์เองก็ดูชินชากับงานที่จำเจ แม้แต่นักสังคมสงเคราะห์ก็สุขภาพจิตแย่ไปด้วย เขาขอยาเพิ่ม เธอปฏิเสธเพราะอาเธอร์รับยาไปเต็มสูตรแล้ว
ซีนนี้เป็นการเกริ่นนำให้เห็นว่า อาเธอร์เป็นคนป่วยจิตเวชที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นประจำ ก่อนจบการสนทนา เราจะเห็นภาพซ้อนที่เขาเคยอยู่โรงพยาบาลมาก่อน เมื่อเขาบอกนักสังคมสงเคราะห์ว่าตอนถูกขังในโรงพยาบาลยังจะดีกว่าอยู่ข้างนอกอย่างนี้เสียอีก เมื่อนักสังคมสงเคราะห์ถามว่า รู้ไหมทำไมจึงถูกขัง เขาตอบไม่รู้ ก็แปลว่าเขาจำไม่ได้ถึงสาเหตุการป่วย เขาไม่รู้ตัวถึงที่มาที่ไปในอาการของเขาเลย
4. เขานั่งรถเมล์กลับบ้าน เด็กผิวสีจ้องมองเขาอยู่ เขาจึงแสดงใบหน้าหยอกล้อกับเด็ก แม่ของเด็กหันมาดุเขา คงเกรงว่าเสียงหัวเราะของลูกเธอจะรบกวนผู้โดยสารคนอื่น
แล้วอาเธอร์ก็หัวเราะขึ้นมาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย และมีความพยายามที่จะยุติแต่ก็ไม่สามารถทำได้ จนทำให้แม่ของเด็กต้องหันมาต่อว่าเขาอีก เขายิ่งหยุดก็ยิ่งไม่ได้ผลจึงล้วงกระเป๋าเสื้อหยิบการ์ดเล็กๆใบหนึ่งส่งให้เธอ นางคว้าไปอ่าน มีข้อความจากหมอว่า “เขาเป็นคนป่วยทางจิต ทำให้มีอาการหัวเราะที่หยุดไม่ได้ เป็นการแสดงอารมณ์ที่ไม่เข้ากับสถานการณ์ ขอโทษและโปรดเข้าใจ เมื่ออ่านแล้วโปรดส่งคืน” เธอจึงไม่ตอแยต่อ ปล่อยให้เขาหัวเราะอย่างฝืนไม่ได้ต่อไป
ฉากนี้เป็นอีกฉากที่วาคีน สื่อได้ถึงการต่อสู้กับอาการที่ไม่อาจควบคุม ด้วยความพยายามที่จะอดกลั้น เป็นความขัดแย้งของภายนอกและภายในอันยากจะเข้าใจ
5. บนท้องถนนอันชื้นแฉะยามค่ำคืน เต็มไปด้วยขยะเกลื่อนทั่วไปในย่านที่ทรุดโทรม เขาแวะร้านขายยา อาจมีใบสั่งยาให้ซื้อเองแล้วไปเบิกคืนจากสวัสดิการสังคมภายหลัง
เขาเดินขึ้นบันไดนำไปสู่อพาร์ทเม้นท์อย่างไร้ชีวิตชีวา บิ้วท์อารมณ์คนดูด้วยดนตรีมัวหม่นเบาๆ ทำให้เห็นบรรยากาศของเมืองซึ่งดาร์กพอๆ กับชีวิต ผ่านขึ้นมาถึงตึก เขาเปิดล็อคเกอร์ที่ว่างเปล่า เมื่อเข้ามาห้องพัก เสียงแม่ถามหาจดหมายมาส่งไหม เขาบอกว่าเปิดล็อคเกอร์แล้วไม่มี แม่เขาบ่นพึมพำว่าทำไมโทมัส เวย์น ไม่ตอบจดหมาย ส่งไปหลายฉบับแล้วน่าจะได้รับบ้าง
เขายกอาหารมาเสริฟแม่บนเตียงและปลอบว่า โทมัส เวย์น เป็นคนมีชื่อเสียงและงานมาก เขาคงยุ่ง เมื่อทีวีมีข่าวที่โทมัส เวย์น ลงแข่งเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี แม่ของเขาก็ตื่นเต้นยินดี และคอยเฝ้าติดตามข่าวของโทมัสอย่างชื่นชม เมื่อรายการตัดมาเป็นรายการบันเทิงที่เมอร์เรย์ แฟรงคลิน จัดแสดงเดี่ยวไมโครโฟนอยู่ อาเธอร์กระตือรือล้นที่จะดูรายการของเขาอย่างเป็นแฟนคลับประจำ และเมอร์เรย์ก็เป็นไอดอลที่อาเธอร์ใฝ่ฝันอยากประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเมอร์เรย์
6. อาเธอร์ดูรายการโชว์ของเมอร์เรย์แล้วจิตใจก็ล่องลอยไปว่า เขาได้เข้าไปอยู่ในห้องแสดงนั้น นั่งดูอยู่ในกลุ่มผู้ชมและหัวเราะเสียงโดดออกมาแปลกๆ (ซึ่งดูแล้วเหมือนแกล้งหัวเราะชอบกล) ก่อนตะโกนออกไปว่า “เมอร์เรย์ ผมรักคุณ” ทำให้เมอร์เรย์ต้องทักทายให้เขาแนะนำตัว ในขณะที่แนะนำตัวว่าอยู่กับแม่ 2 คน มีเสียงโห่จากคนดู เขาอธิบายเพิ่มว่า เขาต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่เด็ก หาเงินมาเลี้ยงดูแม่ที่ป่วย และทุกวันนี้เขาก็ดูแลเธอเป็นอย่างดี จึงมีเสียงปรบมือชื่นชม และดูเหมือนจะเป็นผลงานเดียวที่เขาภาคภูมิใจในตัวเอง
เขาเล่าถึงความใฝ่ฝันที่จะเป็นตลกเดี่ยวที่มอบความสุขให้แก่ผู้คน เมอร์เรย์ปลอบว่า เขาก็กำพร้าพ่อตั้งแต่เด็กเหมือนกัน เขามโนถึงเมอร์เรย์ แฟรงคลิน แบบนี้ เพราะอยากให้เมอร์เรย์เป็นสัญลักษณ์ของคนที่ไม่ได้มีชีวิตสมบูรณ์มาก่อนเหมือนเขา แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เมอร์เรย์จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเอาชนะความฝัน
เมอร์เรย์เรียกให้เขาลงมาที่เวที และแอบกระซิบว่า เขายอมแลกทุกอย่างถ้าได้ลูกชายอย่างอาเธอร์ แล้วทั้งสองก็กอดกันอย่างอบอุ่น ทั้งหมดเป็นภาพในความโหยหาของอาเธอร์ที่สร้างขึ้นปลอบประโลมใจตนจากชีวิตจริงที่บอบช้ำและขัดสน เป็นกลไกป้องกันทางจิตของมนุษย์ที่ลดทอนความเจ็บปวดจากชีวิตจริงด้วยการสร้างภาพฝัน อยู่ที่ว่าจะมากน้อยตามอาการ
7. ในห้องแต่งตัวนักแสดงที่อาเธอร์ทำงานอยู่ ภาพแผ่นหลังเปลือยท่อนบนเผยให้เห็นผิวซีดเซียวและผอมจนเห็นโครงกระดูก มีรอยบอบช้ำที่หัวไหล่ ร่างนั้นสั่นระริกด้วยอาการเกร็งจากการดึงอะไรสักอย่างในมือจนได้ยินเสียงกรอด ๆ ราวกับเสียงขบเขี้ยวเคี้ยวฟันด้วยความกดดันอันอัดแน่นอยู่ภายใน มันเป็นเสียงเสียดสีของรองเท้าบู๊ธที่อาเธอร์กำลังซ่อมอยู่
แรนดัลล์ ชายร่างอ้วนถือชุดแสดงมาแขวนเก็บที่ตู้เสื้อผ้าข้างอาเธอร์ เขาหันมาคุย แสร้งทำเป็นบริภาษกลุ่มเด็กเลวที่ทำร้ายอาเธอร์ แล้วแอบขายปืนให้ บอกไว้ป้องกันตัว อาเธอร์ไม่กล้ารับไว้ อ้างว่าไม่ถือสาเด็กพวกนั้น แค่ไม่ตอบโต้ยอมให้มันซ้อมผ่านๆไปเสีย ฉากนี้เราจะเห็นว่าอาเธอร์ปฏิเสธการต่อสู้หรือการตอบโต้ตามความเคยชินที่จะอยู่อย่างเจียมตัวและยอมรับสภาพผู้แพ้ เมื่อแรนดัลล์คะยั้นคะยอให้ ค่อยจ่ายทีหลังก็ได้ อาเธอร์จึงรับไว้
ชายร่างแคระเข้ามาบอกอาเธอร์ว่า เจ้านายเรียก แรนดัลล์หันไปค่อนแคะความไม่สมประกอบของเพื่อนร่วมงานแล้วหัวเราะ อาเธอร์หัวเราะบ้าง แต่การหัวเราะของชาย 2 คนนี้มาจากจิตใจที่ต่างกัน คนหนึ่งหัวเราะที่ได้เยาะเย้ยในความด้อยของคนอื่น แต่อาเธอร์ผู้มีจิตใจไม่ปกติเหมือนคนทั่วไป เขาหัวเราะด้วยความรู้สึกภายในอันไม่สบายใจกับสิ่งที่ได้ยิน เขาสวมเสื้อเดินออกมาจากห้องที่เพื่อนแคระถูกบุลลี่แล้วก็หุบอาการหัวเราะลงทันที หากแต่แทนที่ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
8. อาเธอร์เข้าไปพบผู้จัดการบริษัท เจ้านายใช้คำพูดลูบหลังแล้วตบหัว เขาอ้างถึงการเป็นคนแปลกประหลาดของอาเธอร์ในสายตาผู้ร่วมงานจนสร้างความอึดอัดแก่ผู้จ้างไปด้วย และตำหนิที่อาเธอร์รักษาป้ายไว้ไม่ได้แล้วยังหนีงานหายตัวไป ไม่รับฟังว่าลูกน้องไปโดนอะไรมา และหักเงินค่าจ้างเพื่อเป็นการชดใช้ป้ายที่เสียหายและหักค่าแรงที่ทิ้งงาน
อาเธอร์ฝืนเหยียดยิ้มทั้งที่แววตาซ่อนความคุกรุ่นไว้ ในหัวของเขามันมีเสียงเตะต่อยเหมือนอยากจะต่อยหน้าคนพูด เสียงนั้นดังต่อเนื่องมายังภาพอาเธอร์เตะถีบกองถุงขยะข้างซอกตึกที่เขาได้แต่ระบายอารมณ์อยู่เพียงผู้เดียว
นี่ก็เป็นอีกฉากที่เราจะเห็นความอัดอั้นท้อแท้ผ่านฉากอันหดหู่กับดนตรีบรรเลงซึ่งอธิบายถึงสภาวะตัวละครและการเข้าถึงบทของนักแสดง
9. เขาเดินคอตกกลับอพาร์ทเม้นท์อย่างหม่นหมองขณะเข้าลิฟท์ มีเสียงเรียกให้รอ เขากดลิฟท์เปิดค้างไว้ มีผู้หญิงผิวสีจูงลูกสาววัย 5 ขวบ วิ่งตามเข้ามา จังหวะที่ลิฟท์เลื่อนขึ้น มีการกระแทกดังกึง “ตึกนี้มันทรุดโทรมมากใช่ไหม” ผู้หญิงในลิฟท์กล่าวลอยๆ ตามด้วยเสียงลูกน้อยเอ่ยทวนเลียนคำพูดของเธอ ซ้ำไปซ้ำมา เขาหันไปมอง หญิงผิวสีทำมือแทนปากกระบอกปืน ชี้ไปที่ขมับของตัวเองและทำปากเป่าเป็นเสียงยิงเบาๆ
แล้วลิฟท์ก็กลับมาทำงานอีกครั้ง เมื่อถึงชั้นของห้องพัก หญิงสาวจูงลูกออกมาก่อน เขาตามออกมาแยกไปอีกทาง เมื่ออาเธอร์จะเดินห่างไปเขาหันกลับมาเรียกให้แม่ของเด็กมองและทำท่าล้อเธอเมื่อครู่ ด้วยการทำมือแทนปืนจ่อขมับตัวเองทำเสียง “ปัง” เบาๆ แล้วปล่อยคอพับลง หญิงผิวสีหัวเราะคิกก่อนพาลูกสาวตรงไปห้องของเธอ อาเธอร์เดินกลับห้องพักอย่างอารมณ์ดี เพลงแห่งความรื่นรมย์แว่วขึ้นเช่นเดียวกับใจที่กำลังครื้นเครง
เราจะเห็นได้ว่าฉากนี้ ก่อนลิฟท์จะกระตุก หญิงผิวสีไม่ได้มีท่าทีไว้วางใจที่จะให้ความคุ้นเคยกับเขาเลย ดูเฉยเมยอย่างเป็นคนอื่นที่บังเอิญต้องมาร่วมลิฟท์เดียวกันเท่านั้น แต่เมื่อลิฟท์สะดุดเหมือนกระชากจิตใจของอาเธอร์ให้ตกอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ทำให้เขามโนไปว่าหญิงร่วมทางได้ส่งไมตรีมาจากเสียงทักทายและหยอกล้อ ซึ่งผิดวิสัยของคนแปลกหน้ากันจะพึงปฏิบัติในสถานการณ์น่ากังวลเช่นนั้น ซึ่งคนดูอาจคาดเดาได้ว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนเรื่องมโนของอาเธอร์หลังจากชมภาพยนต์เรื่องนี้
10. เขาอาบน้ำให้แม่ในอ่าง แม่พร่ำถึงแต่โทมัส เวย์น ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ เขาปลอบแม่ไม่ให้คาดหวังกับคนอื่น เขาพอจะหาเงินมาดูแลเธอได้ เขากำลังจะได้งานเล่นโชว์เดี่ยว อย่างที่เขาใฝ่ฝันว่าเป็นตลกที่ประสบความสำเร็จ แม่เขาทำท่าประหลาดใจกับความเพ้อฝันของลูกชาย เธอถามขึ้น “ลูกจะทำได้หรือ...เพราะการเล่นตลกให้คนขบขันก็ต้องเป็นคนมีอารมณ์ขันไม่ใช่หรือ” คำถามของนางสะท้อนว่า นางรู้ดีว่าบุตรของนางไม่รู้จักความสุขพอที่จะแสดงมันออกมาเพื่อแบ่งปันให้ใครได้
11. หลังจากส่งแม่เข้านอนแล้ว อาเธอร์เอาปืนมาทดลองเล็งเล่น สลับด้วยมือซ้ายบ้างขวาบ้าง ปืนเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ตอนนี้มันอยู่ในมือเขาแล้ว เขาลุกขึ้นร่ายรำกับปืนในมือ สังเกตว่าเขาใช้มือซ้ายถือปืน ปกติอาเธอร์ถนัดขวา แต่เมื่อเขาใช้มือซ้ายมันจึงเหมือนไม่ใช่อาเธอร์คนขี้แพ้ที่เป็นอยู่ทุกวัน หากแต่เป็นอาเธอร์ที่ฝังอยู่ในก้นบึ้งที่ต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น
เขาเผลอลั่นไกอย่างลืมตัวขณะร่ายรำคนเดียวในห้องนั่งเล่นจนตกใจ รีบปรับเร่งเสียงทีวีให้ดังกลบเกลื่อน แม่เขาตะโกนถามมาจากในห้องว่าเสียงอะไร เขาแก้ตัวว่ากำลังดูหนังสงคราม อาเธอร์คนเดิมกลับเข้ามาสู่สติ เขาไม่รู้ว่ายังมีจิตใต้สำนึกที่แอบแฝงอยู่ภายใน เรียกร้องการแสดงตัวออกมา
12. อาเธอร์สะกดรอยตามผู้หญิงผิวสีร่วมอพาร์ทเม้นท์คนนั้น ตอนเธอไปส่งลูกที่โรงเรียนและไปทำงาน นั่นหมายความว่าเขากำลังตกหลุมรักเธอแล้ว
13. ในคลับกลางคืนแห่งหนึ่ง มีการโชว์เดี่ยวไมโครโฟนของนักแสดงชาย เสียงหัวเราะแปร่งๆ ฟังดูปลอมมาก ดังแทรกมาจากผู้ชมในร้าน อาเธอร์นั่นเอง เขาเข้าไปนั่งจดมุก ปากก็แกล้งหัวเราะตามคนอื่นไป ฉากนี้ดูออกว่าเขาฝืนหัวเราะทั้งๆที่ไม่ตลก เพราะเขาจะหัวเราะตามหลังที่ผู้คนเขาหัวเราะไปแล้ว และบางครั้งก็หัวเราะในขณะที่คนอื่นยังไม่ขำ ซีนนี้แสดงถึงความผิดเพี้ยนของอารมณ์ที่ต่างจากคนทั่วไป เขาไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่น่าขบขัน ชีวิตเขามีแต่ความเครียดและซึมเศร้าเกินกว่าจะสามารถสัมผัสถึงอารมณ์ขันได้
14. บนโต๊ะเล็ก ๆ ในห้องพักเก่าๆ อันเงียบเหงา อาเธอร์ในร่างเปลือยท่อนบนนั่งอัดบุหรี่และบรรจงเขียนสมุดบันทึกด้วยมือขวา มีข้อความว่า “ สิ่งที่แย่กว่าการเจ็บป่วยคือ คนอื่นอยากให้เรา” สลับไปใช้มือซ้ายเขียนด้วยตัวหนังสือยึกยือ “ทำเหมือนเราไม่ได้ป่วย” ฉากนี้จะสังเกตได้ว่า อาเธอร์ใช้มือซ้ายเขียนข้อความที่ออกมาจากส่วนลึกของจิตใจ ในเวลาที่อยู่เงียบ ๆ คนเดียว ความรู้สึกภายในจะแสดงออกมา โดยผู้กำกับจงใจให้ผ่านมือซ้ายทุกครั้ง เพื่อให้เห็นว่า เป็นความรู้สึกที่ปล่อยจากการควบคุม
เสียงเคาะประตูดังขึ้น เขาลุกไปแง้มประตูพบว่าเป็นโซฟี หญิงม่ายผิวสีนั่นเอง เธอถามเขาอย่างนักเลงนิด ๆ ว่า วันนี้คุณแอบตามฉันหรือ อาเธอร์ยอมรับ แต่เธอไม่ได้ถือโกรธ เธอสัพยอก “นึกว่าคุณจะเข้าไปปล้นที่ทำงานเสียอีก” อาเธอร์ตอบกลับในทันที “ผมมีปืน ผมทำได้นะถ้าคุณต้องการ” หญิงสาวหัวเราะ “คุณช่างพูดตลกจัง” เขาแนะนำตัวว่าเขาเป็นนักเล่นตลก และกำลังจะมีนัดโชว์ อยากเชิญเธอไปดูการแสดงของเขาด้วย เธอรับปากอย่างง่ายดาย
นี่ก็เป็นอีกฉากที่คนดูไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรืออาเธอร์มโน ถ้าจะคิดตามความเป็นไปได้มันก็ดูแปลกๆ แต่สิ่งที่น่าสะเทือนใจของฉากนี้คือ ข้อความบนสมุดบันทึก “ทุกคนอยากให้เราทำเหมือนเราไม่ได้ป่วย” มันน่าเศร้าจริงๆ ถ้าคนป่วยจะถูกมองข้ามอย่างไม่มีใครแลเห็น และเขาก็ต้องยอมลากสังขารผ่านแรงเสียดทานให้ได้เยี่ยงคนปกติ แน่นอน คนที่จะรู้สึกถึงบาดแผลนั้นได้ก็คือคนที่มีแผลอยู่เท่านั้น
15. เมื่อหญิงสาวเดินจากไปยังห้องของเธอแล้ว อาเธอร์ค่อยๆ ปิดประตูลงด้วยหัวใจอันเปรมปรีย์ เหมือนมีเพลงเบิกบานอยู่ในใจ เพลงเดียวกันนั้นยังไม่หยุดบรรเลงแต่ภาพตัดมาที่ตัวตลกกำลังเต้นประกอบเพลงอยู่ในโรงพยาบาลเด็ก เสียงเท้าขยับตามจังหวะสนุกสนาน
แต่ทันใดนั้นก็มีสิ่งหนึ่งร่วงหล่นลงมาจากขากางเกงของเขา คือปืนนั่นเอง อาเธอร์ในชุดตลกไล่ตะครุป แต่มันก็สายไปที่จะรอดพ้นจากสายตาหลายคู่ที่อยู่ในนั้น เรื่องนี้ถูกรายงานไปถึงที่ทำงานของเขา เขาถูกบริภาษผ่านทางโทรศัพท์ว่าเป็นความผิดร้ายแรงจนไม่สามารถคาดโทษได้ ต้องไล่ออกสถานเดียว ยิ่งกว่านั้น คนที่ฟ้องเจ้านายว่าขายปืนให้อาเธอร์ก็คือแรนดัลล์นั่นเอง อาเธอร์โขกศีรษะกับกระจกตู้โทรศัพท์สาธารณะนั้นจนร้าวเหมือนจิตใจที่ร้าวรานในขณะนี้
16. เขานั่งรถไฟกลับบ้านอย่างรันทด ในค่ำคืนที่ผู้คนเริ่มบางตา มีผู้โดยสารไม่มากนักบนขบวน หญิงสาวคนหนึ่งกำลังถูกคุกคามจากชาย 3 คน ที่กำลังเมากรึ่ม ๆ หญิงคนนี้หันมามองเขาเหมือนจะขอความช่วยเหลือ อาเธอร์มองมาด้วยสายตาที่ไม่สบายใจ พลันเขาก็ระเบิดหัวเราะออกมาจนเรียกความสนใจจากชายสามคนให้ละจากหญิงสาวมาทางเขา ได้เปิดโอกาสให้หญิงคนนั้นได้รีบเดินหนีไปแต่ความซวยมันมาตกที่อาเธอร์
ชาย 3 คนนั้นเปลี่ยนมาคุกคามเขาแทน อาเธอร์หัวเราะไม่หยุดทั้งที่เขาอยากจะหยุดมัน แต่การหัวเราะของอาเธอร์ไม่ตรงกับอารมณ์และไม่เข้าสถานการณ์ที่มันมาจากสภาพจิตที่ป่วยของเขา นั่นยิ่งทำให้ชายทั้งสามรุกรานเขาหนักขึ้น อาเธอร์พยายามอธิบายแต่พูดไม่ออกจึงจะหยิบการ์ดอาการคนป่วยจากกระเป๋าแต่ไม่ทัน เขาถูกทำร้าย ที่แปลกคืออาเธอร์คนปัจจุบันมีความอดทนน้อยลง เขาเริ่มตอบโต้ด้วยการถีบกลับเพื่อป้องกันตัว เมื่อถูกรุมซ้ำจนลงไปนอนกลิ้งเป็นกระสอบทราย
ผู้กำกับใส่ดนตรีชวนเครียดบีบคั้นให้เข้าใจได้ว่า อาเธอร์เกินขีดเดือดแล้ว เขางัดปืนขึ้นมาลั่นไกใส่ชายกลุ่มนั้นอย่างลืมตัว นี่คือจุดปะทุที่รอการระเบิดจากการเก็บกดมานาน แต่เวลานี้เขามีปืนเหมือนมีอำนาจที่จะโต้ตอบ แล้วความอดทนก็มาถึงจุดที่ทะลักล้นผ่านกระสุนนัดแล้วนัดเล่าจากสติแตกราวเขื่อนแตก เมื่อเรื่องไปกันใหญ่ชายสามคนได้ตายไปเขาจึงหนี
และแน่นอนในตอนที่เขาใช้ปืน เขาใช้มือซ้าย นั่นหมายความว่า จิตใต้สำนึกที่ถูกกดไว้ได้ออกมาทำงานแทนอาเธอร์คนเดิมแล้ว มันเป็นจุดเริ่มต้นของโจ้กเกอร์ตัวร้ายได้แสดงตนให้สาแก่ใจ
17. เขาวิ่งหนีมาหลบในห้องน้ำสาธารณะอันร้างผู้คนยามรัตติกาล ความกลัว ความสับสนจนสติหลุด เขาเริ่มร่ายรำปลดปล่อย มือที่กำนั้นค่อยๆ ผ่อนคลายออก กลับมาสู่อาการสงบลง เวลานี้กลไกป้องกันทางจิตได้หาทางออกโดยให้อาเธอร์คนเก่าหลบไป อาเธอร์คนใหม่ออกมาแทนที่ เหมือนได้สร้างเกราะป้องกันจิตใจที่หวาดหวั่น โจ๊กเกอร์ตัวร้ายเท่านั้นที่จะปกป้องตัวตนคนเดิมได้
18. โจ๊กเกอร์เดินอาดๆ ไปเคาะประตูห้องแฟนสาวอย่างมั่นใจ เมื่อหญิงสาวเปิดรับ เขาก็ถาโถมจูบเธอก่อนที่ประตูจะถูกปิดลง
19. อาเธอร์เก็บข้าวของออกมาจากที่ทำงาน เพื่อนร่วมงานถามถึงสาเหตุที่เขาพกปืน เขารู้สึกเดือดในใจที่ถูกแรนดัลล์ทรยศ ไปบอกเจ้านายว่าเป็นปืนจริง ไม่ใช่ของเล่นเพื่อใช้เป็นพร็อพประกอบการแสดงอย่างที่อาเธอร์อ้าง อาเธอร์จึงพาดพิงถึงแรนดัลล์ว่าขายให้เองไม่ใช่หรือ ยังไม่ได้จ่ายเงินเลยนี่ ทำให้แรนดัลล์รีบแก้ตัวว่าไม่รู้เรื่อง และทั้งสองได้มีการว่าแดกดันกันอยู่สองสามคำ
เขาระบายอารมณ์กับเครื่องตอกบัตรอย่างยียวนต่างจากอาเธอร์คนเดิม แล้วเต้นเริงร่าลงบันไดไปกับดนตรีแห่งอิสรภาพบรรเลงแว่วขึ้นมา เหมือนถอนตัวเองออกมาจากชีวิตเดิมๆ เขาขีดฆ่าป้ายเหนือบันไดจาก “อย่าลืมยิ้ม” ให้เหลือเพียง “อย่ายิ้ม” ก่อนจะลิงโลดถีบประตูออกไปแบบท้าทาย มันเป็นความท้าทายกับชีวิตใหม่ จิตใจใหม่ ในร่างเดิม
20. ขวดยาหลายใบเกลื่อนกลิ้งบนโต๊ะ ขวดสุดท้ายถูกเทออกมา มันเหลือแค่ 2 เม็ด แม่เขากำลังดูข่าวในทีวี มีโทมัส เวย์น ออกมาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงกรณีชาย 3 คนถูกยิงตายที่รถไฟ ซึ่งชายทั้งสามนี้เป็นพนักงานบริษัทที่โทมัส เป็นเจ้าของอยู่ โทมัส กล่าวอาลัยอาวรณ์พนักงานที่ถูกฆ่าตาย และกล่าวหยามตัวตลก พาดพิงไปถึงคนยากจนอย่างเหยียดชนชั้น เป็นเหตุให้ประชาชนคนชั้นล่างออกมาแสดงความไม่พอใจ อาเธอร์อัดบุหรี่ถี่ๆ ขณะดูข่าว เขาเครียดจนเก็บอาการทางร่างกายไม่อยู่ เข่าของเขากระตุกรัว ๆ กลบเกลื่อนความวิตกภายใน
ติดตาม Joker (2019) ตอนต่อไปได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา