25 ต.ค. เวลา 03:30 • ปรัชญา

ความสูญเสีย

แม้คุณสมใจ
ได้อยู่กับบุคคลอันเป็นที่รักในวันนี้
คุณก็ไม่รู้เลยว่าวันไหน
จะมีเงื่อนไขหรือปัจจัยใดมาพรากเขาไป
และวันใด บุคคลอันเป็นที่รัก
ถูกพรากไป..โดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
วันนั้นเอง
ที่ต้องตระหนักด้วยความตระหนกว่า
คุณ ‘ไม่เคยมีสิทธิ์’ อยู่กับใครจริง!
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
#มองการสูญเสียเป็นนิมิตหมายที่ประเสริฐ
ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียชนิดไหน
ในทางพุทธ ท่านให้มองว่า
นั่นเป็นนิมิตหมาย
เป็นสัญญาณบอกที่ดี ที่ประเสริฐ
เพราะในชีวิตคน
ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการได้รู้ ‘ความจริง’
ความจริงคืออะไร?
ความจริง คือ ตั้งแต่เรามีชีวิตมา
เราเข้าใจผิดมาตลอดเลยว่า เรามีนั่น มีนี่
แท้จริงแล้วเราไม่เคยมีอะไรจริงๆเลย
แม้กระทั่งลมหายใจของเราเอง
แม้กระทั่งเลือดเนื้อของเราเอง
ไม่ว่าเราจะกำลังรู้สึก หรือเชื่อว่า
เรา ‘มีตัวตน’ อย่างนี้เหนียวแน่นแค่ไหน
วันหนึ่งก็ต้องสาบสูญ เข้าไปอยู่ในโลงศพทั้งหมด
ชีวิตมีวิธีส่งสัญญาณบอก สัญญาณเตือน
ให้สำเหนียกรู้ความจริงนี้
ผ่านช่วงประสบการณ์สูญเสีย
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
#กรรมซึ่งพระพุทธเจ้าสรรเสริญอย่างที่สุด
หลายคนมองว่า มันเป็นคราวเคราะห์
ซึ่งนั่นก็อาจจะใช่นะ
แต่ทางพุทธไม่ให้เน้นที่ตรงนั้น
เพราะคนทั่วไป ไม่สามารถระลึกได้ว่า
ตัวเองเคยไปทำอะไรมา
พระพุทธเจ้าท่านให้มองว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีอยู่ในในชีวิตนี้
วันหนึ่งเราจะต้องทิ้งไปทั้งหมดทุกสิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือบุคคลอันเป็นที่รัก
สิ่งที่เราจะเอาไปได้ ก็มีแค่ ‘กรรม’ ที่ทำไว้
จะเป็นดี จะเป็นร้าย
จะเป็นกองบุญ จะเป็นกองบาป
นั่นแหละ สิ่งที่เราจะเอาติดตัวไปได้จริงๆ
แล้วกรรมซึ่งพระพุทธเจ้าสรรเสริญอย่างที่สุด
ก็คือ กรรมในการฝึกที่จะยอมรับให้ได้ว่า
อะไรๆมันไม่เที่ยง
มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง มันเป็นของชั่วคราว
กรรมแบบนี้
ทำให้เราหายกระวนกระวายได้ตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่!
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
#ยิ่งดิ้นยิ่งเจ็บ #ยิ่งยอมรับยิ่งสบาย
การที่เราพยายามยึดไว้ ดิ้นรนเรียกกลับคืนมา
หรือว่าไปทำพิธีแก้กรรม
หรือรอว่าเมื่อไหร่คราวเคราะห์จะผ่านไป
สิ่งที่เราสูญเสียไปทั้งหมด
จะไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย
เพราะว่าเรายังวนเวียนอยู่กับความหลงผิด
ไม่เห็นความจริงที่เขาอุตส่าห์มาแสดงสักที
แต่พอใจเราเกิดการ ‘ยอมรับ’
ไม่ใช่แบบยอมจำนน หรือยอมแพ้นะ
มันจะเกิดความรู้สึก ‘ปล่อย’
ปล่อย..ให้มันเป็นไป
ตามสิ่งที่ความจริงเขาบอกเรานะครับ
บทความ : ดังตฤณ
โฆษณา