Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
•
ติดตาม
25 ต.ค. 2024 เวลา 08:05 • สิ่งแวดล้อม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กรมอุทยานฯ จับมือ DTECH ลงนามความร่วมมือสร้างมิติใหม่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผ่าน "Sounds of Earth"
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับสมาคมเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้เท่าทันดิจิทัลเทคโนโลยี (DTECH) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เปิดมิติใหม่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ผ่านโครงการ "Sounds of Earth" หรือ "สุนทรียนุรักษ์" ผสานศิลปะดนตรีเข้ากับเสียงธรรมชาติเพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
วันที่ 25 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารกริต สามะพุทธิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสมาคมเครือข่าย เพื่อการเรียนรู้เท่าทัน ดิจิทัลเทคโนโลยี (DTECH) ผ่านโครงการ Sounds of Earth (SOE) "เดินทางสู่อุทยานฯ ผ่านการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนด้วยเสียงของโลก"
โดยมีนายนรศักดิ์ (จอห์น) รัตนเวโรจน์ ประธานสมาคม เพื่อร่วมกันจัดทำสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ พร้อมกันนี้มีนายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานฯ และนายมหาสมุทร รัตนเวโรจน์ อุปนายกสมาคม DTECH ร่วมเป็นสักขีพยาน
ความร่วมมือครั้งนี้จะดำเนินการภายใต้แนวคิด "สุนทรียนุรักษ์" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดทำสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มุ่งสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ผ่านสื่อดิจิทัลที่ให้ทั้งสาระความรู้และความบันเทิง เพื่อสร้างการตระหนักรู้ จิตสำนึก และการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงส่งเสริมความรับผิดชอบในการท่องเที่ยวแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ กรมอุทยานฯ จะสนับสนุนพื้นที่และข้อมูลแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อประสานงานร่วมกับสมาคม DTECH และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ในขณะที่สมาคม DTECH จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างและบริหารเครือข่ายภาคี สมาชิกและผู้สนับสนุน จัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกับกรมอุทยานฯ และดำเนินการผลิตสื่อและกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่
นายอรรถพล กล่าวว่า "ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยนำเสนอมุมมองใหม่ของการท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ผ่านสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เข้ามาสัมผัสความงามของธรรมชาติ และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยใช้พลังของดนตรีและเสียงธรรมชาติเป็นสื่อกลางในการสร้างความตระหนักรู้และแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน"
ด้านนายนรศักดิ์ กล่าวเสริมว่า "สมาคม DTECH พร้อมนำศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์สื่อและกิจกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบใหม่ ผ่านการนำเสนอที่น่าสนใจและเข้าถึงง่าย เพื่อให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นทั้งการพักผ่อนและการเรียนรู้ควบคู่กันไป"
โดยโครงการ Sounds of Earth นำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ด้วยการผสมผสานเสียงดนตรีเข้ากับเสียงธรรมชาติผ่านเทคโนโลยีหูฟังไร้สาย ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์แบบ 360 องศา ในระยะทางมากกว่า 500 เมตร โดยไม่รบกวนระบบนิเวศ
ผลการทดสอบร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พบว่าระดับเสียงจากกิจกรรมไม่เกิน 70 เดซิเบล ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ความร่วมมือครั้งนี้ยังรวมถึงการพัฒนา "D Sustainable Literacy" แพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน"
บันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี โดยการดำเนินงานทั้งหมดจะอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะติดตามความคืบหน้าและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการสร้างสรรค์สื่อและกิจกรรมที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้าง เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน
#กรมอุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติ
ท่องเที่ยว
บันทึก
1
2
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย