25 ต.ค. เวลา 08:46 • สิ่งแวดล้อม

ในเขตอาร์กติกที่กำลังร้อนขึ้น หมีขั้วโลกใช้เวลาอยู่บนผืนแผ่นดินมากขึ้น

การศึกษายังให้เบาะแสเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างโรคในหมีขั้วโลกกับการสูญเสียพื้นที่น้ำแข็ง นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบตัวอย่างเลือดจากหมีบริเวณทะเลชุกชี ซึ่งอยู่ระหว่างอะแลสกาและรัสเซีย
ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บได้ระหว่างปี 1987-1994 และนำตัวอย่างเลือดมาเก็บและศึกษาซ้ำในอีกสามทศวรรษต่อมา ระหว่างปี 2008-2017 โดยพบว่า ตัวอย่างเลือดในช่วงหลังมีสัญญาณเคมีบ่งชี้ว่า หมีติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตอย่างน้อยหนึ่งในห้าชนิด มีจำนวนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การทราบผลกระทบต่อสุขภาพทางกายภาพของหมีขั้วโลกจากตัวอย่างเลือดนั้นเป็นเรื่องยาก แต่นักชีววิทยาสัตว์ป่าจากสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา อย่าง ดร.คารีน โรด กล่าวว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า มีบางสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปทั่วทั้งระบบนิเวศแถบอาร์กติก
ดร.โรด กล่าวว่า การศึกษาได้ครอบคลุมช่วงเวลาสามทศวรรษ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสูญเสียพื้นที่น้ำแข็งจำนวนมาก และมีการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นในบริเวณที่หมีขั้วโลกอาศัยอยู่
“เราต้องการรู้ว่าการสัมผัสกับเชื้อเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โดยเฉพาะเชื้อบางชนิดที่เราคิดว่าเกี่ยวข้องกับสัตว์บกเป็นหลัก”
หมีขั้วโลกติดเชื้อก่อโรค 5 ชนิดที่พบได้บ่อยขึ้น ได้แก่ ปรสิตสองชนิดที่ทำให้เกิดโรคท็อกโซพลาสโมซิส (โรคไข้ขี้แมว) และนีโอสโปโรซิส แบคทีเรียสองชนิดที่ทำให้เกิดโรคไข้กระต่าย (rabbit fever) และบรูเซลโลซิส (หรือโรคแท้งติดต่อ) รวมถึงไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หัดสุนัข
“โดยทั่วไป หมีมีภูมิต้านทานโรคค่อนข้างแข็งแรง” ดร.โรดอธิบาย “โรคไม่ค่อยมีผลต่อประชากรหมี แต่สิ่งที่เราพบเน้นย้ำว่า ระบบนิเวศในอาร์กติกกำลังเปลี่ยนแปลงไป”
โฆษณา