เมื่อวาน เวลา 02:05 • กีฬา

คุยกับ "เทนนิส" โมเมนต์แห่งชีวิต เหรียญทองที่สองที่ปารีส

ก่อนแข่งรอบชิงเหรียญทองโอลิมปิกที่ปารีส เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ตื่นเต้นจนแทบทนไม่ได้
ไม่ว่าผลลัพธ์นัดชิง กับ กั๊วะ จิง คู่แข่งจากจีนจะเป็นอย่างไร เธอจะประกาศรีไทร์จากอาชีพนักเทควันโด้แน่นอน แต่มันคงเจ็บใจไปตลอดชีวิต ถ้าฉากจบของเรื่องนี้ เธอได้แค่เหรียญเงิน ไม่ใช่เหรียญทอง
ด้วยความไม่สบายใจ ทำให้เธอหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เพื่อโทรไปหาคนคนหนึ่ง ไปร้องไห้ และระบายความรู้สึกออกมา
หลังจากคุยเสร็จ เธอได้สติมากขึ้น ก่อนจะหยิบหูฟัง แล้วเปิดเพลงในเพลย์ลิสต์ขึ้นมา
เทนนิสคุยกับใครในโมเมนต์นั้น แล้วเพลงที่เธอเลือกฟัง ก่อนถึงการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในชีวิต เธอเลือกเพลงอะไร ผมจะเล่าโมเมนต์ในช่วงนั้นให้ฟังนะครับ
-------------------
ตุลาคม 2024 ผ่านไป 2 เดือน หลังจากคว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่ปารีส ตอนนี้ เทนนิส-พาณิภัค ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่สุด และได้ทำทุกอย่างที่ต้องการ
เมื่อประกาศรีไทร์จากการเล่นกีฬาอาชีพ เธอได้กินอะไรที่อยากกิน ไม่ต้องคุมน้ำหนัก 49 กิโลกรัมตลอดเวลาอีกแล้ว
เธอมีอาชีพหลักตอนนี้ คือ เป็นคุณครูที่ "โรงเรียนพาณิภัค เทควันโด้" สถาบันสอนเทควันโด้ ที่ตอนนี้มี 2 สาขาแล้ว
ธุรกิจนี้ไปรุ่งแน่นอน คือจะมีใครสอนเทควันโด้คุณ ได้ดีกว่าเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกอีกล่ะครับ จริงไหม
เมื่อไม่ต้องเข้าแคมป์ซ้อมหนักแบบในอดีต เธอจึงมีเวลาได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น เดินแบบบนรันเวย์, เล่นซีรีส์, ออกรายการร้องข้ามกำแพง ฯลฯ
สัปดาห์ที่แล้ว เทนนิส เปิดตัวเป็นพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ให้กับ True ครับ และในวาระนี้ ต้องขอบคุณทาง True มากๆ ที่ให้โอกาสผมคุยตัวต่อตัวกับเทนนิส ประมาณ 10 นาที ผมขออนุญาตเล่าให้ฟังนะครับ ว่าเราคุยอะไรกันบ้าง
ผมเริ่มต้น ด้วยการบอกเทนนิสว่า พี่ชื่อ วิศ มาจากเพจวิเคราะห์บอลจริงจังนะครับ เทนนิสบอกว่า "หนูอ่านเพจพี่อยู่ หนูแชร์โพสต์พี่ด้วย!" ฮ่าาา การที่นักกีฬาเหรียญทองบอกว่า อ่านงานเขียนของผม ทำให้ผมแฮปปี้แล้วครับ
คำถามแรก ที่ผมถามเธอคือ ตอนปี 2016 ที่เทนนิสอายุ 19 ปี แล้วถูกสมาคมเลือกไปแข่งรุ่น 49 กิโลกรัม ที่ริโอ เด จาเนโร ตอนนั้น เธอหวังเหรียญอะไร
"เหรียญทองค่ะ" เทนนิสตอบแบบไม่เสียเวลาคิด "หนูคิดตลอดว่า ถ้าไปแข่งอะไรแล้ว ก็ต้องหวังชนะสิ ตั้งแต่สมัยเยาวชน จนถึงเป็นถึงนักกีฬาอาชีพ หนูคิดแบบนี้ตลอดค่ะ"
ที่ริโอ เทนนิสไปแข่งในฐานะ "เต็ง 2" ของรายการ เธอมั่นใจมากๆ ว่าดีพอจะคว้าเหรียญทองได้ และระหว่างแข่งขัน ทุกอย่างก็เป็นใจ เมื่อ "เต็ง 1" วู จิงหยู จากจีนตกรอบไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เทนนิสเป็นมืออันดับสูงสุดที่เหลืออยู่เพียงคนเดียว
ในรอบ 8 คนสุดท้าย เทนนิส เจอกับ คิม โซ-ฮุย จากเกาหลีใต้ มือ 7 ของรายการ คือเรื่องความสด ความมั่นใจ เทนนิสเหนือกว่าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คิม โซ-ฮุย มีเหนือกว่าคือประสบการณ์ เธออายุมากกว่าเทนนิส 4 ปี และเคยได้เหรียญทองเอเชียนเกมส์มาแล้ว
ในยกสุดท้าย เทนนิสนำอยู่ 4-2 คะแนน จะชนะอยู่แล้ว ตอนเหลืออีก 5 วินาที เทนนิสใช้ท่า Hook Kick ไม้ตายถนัด กะเล่นหัวทำแต้มเพิ่ม แต่เกาหลีใต้หลบได้ ทำให้เทนนิสเสียหลัก แล้วโดนคิม โซ-ฮุย เกี่ยวหัวไปหนึ่งทีโดนเฮดการ์ด แต้มจึงพลิกทันที คิม โซ-ฮุย ขึ้นนำ 5-4 ทั้งๆ ที่การแข่งจะจบอยู่แล้ว
และช่วงเวลาที่เหลือเทนนิสก็ไล่ไม่ทันแพ้ไปอย่างน่าเจ็บปวด
ตอนนั้นคนไทยช็อกมาก เพราะนำ 2 แต้ม เหลืออีก 5 วิ เดินหนียอมโดนกัมเจิมก็รอดแล้ว แต่เทนนิสไม่รู้คิดยังไง เธอเดินหน้าลุยต่อเฉยเลย คือทั้งหมด เป็นเรื่องประสบการณ์ล้วนๆ
เทนนิสเล่าว่า "พี่เชื่อไหม ตั้งแต่เล่นเทควันโด้มา นั่นคือแมตช์ที่หนูเจ็บปวดที่สุด เสียใจที่สุด เพราะหนูใช้ไม้ตายของหนูแล้ว แต่เขาแก้ทางได้ แล้วสวนคืน คือมันเหลืออีกแค่ 4-5 วินาทีเอง พอจบแมตช์ หนูร้องไห้แทบจะตายตรงนั้นเลย"
เป็นโชคดีของเทนนิส ที่คิม โซ-ฮุย เข้ารอบชิงได้ ทำให้เธอได้โอกาสในรอบแก้ตัว (Repechage) โอกาสได้เหรียญทองแดงยังมีอยู่
"แมตช์นั้นหนูรู้สึกว่าต้องชนะแล้ว แต่มันทำไมได้ ทำให้เราเสียเซลฟ์หนักมาก ร้องไห้หนักมาก ร้องแล้วร้องอีก จนหนูไม่อยากไปแข่งรอบแก้ตัว แต่สุดท้ายได้แรงปลุกใจจากพ่อ จากครอบครัว จากจูเนียร์ (รามณรงค์ เสวกวิหารี) ทุกคนบอกว่า การได้เหรียญทองแดง มันก็ดีมากแล้ว มันคือเหรียญโอลิมปิกนะ หนูเลยตั้งสติใหม่ แล้วไปเอาเหรียญทองแดงมา"
ที่ริโอ เทนนิสได้ทองแดง ได้เงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 4.8 ล้านบาท ถ้าเป็นคนอื่นๆ คงลิงโลดแล้ว แต่สำหรับเทนนิส เธอไม่ได้ดีใจเลย เพราะมองเป้าหมายไปที่เหรียญทองเท่านั้น
1
"วันนั้นหนูไม่มีความภูมิใจในตัวเองเลย ผิดหวังกับตัวเองมากๆ ด้วย คิดตลอดว่า อีกนิดเดียว ทำไมเราทำไม่ได้"
ความเจ็บปวดที่พ่ายแพ้ใน 5 วินาทีสุดท้าย เป็นความเจ็บที่หนักหน่วงที่สุดในชีวิต แต่อีกมุม มันก็เป็นบทเรียนที่ยอดเยี่ยมที่สุดด้วย เพราะเธอเข้าใจแล้วว่า ความทรมานจากการแพ้มันเป็นอย่างไร และไม่อยากสัมผัสมันอีกเป็นครั้งที่สอง
หลังจบโอลิมปิกที่ริโอ เทนนิสซ้อมหนักมากยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่า "พอจบที่ริโอ ช่วงเวลา 5 ปี ก่อนถึงโอลิมปิกที่โตเกียว หนูไม่รู้ขีดจำกัดของร่างกาย ซ้อมหนักมาก บ้าคลั่งมาก แม้จะเกินลิมิตก็ยังฝืนต่อ ฝืนต่อ ฮาร์ทเรตทะลุ 200 หนูก็ไม่สน แล้วถ้ารู้สึกว่าซ้อมยังไม่ดี หนูก็เรียกจูเนียร์มาช่วยซ้อมต่อไปเรื่อยๆ เหมือนคนบ้าคนหนึ่ง"
จะว่าบ้าคลั่งหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ความพยายามของเธอก็ผลิดอกออกผลจริงๆ เทนนิสได้เหรียญทองโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว (แต่แข่งปี 2021) เป็นนักกีฬาเทควันโด้คนแรกของประเทศ ที่คว้าเหรียญทองได้
ในวันนั้น เทนนิสได้เงินจากกองทุนฯ 12 ล้านบาท และสปอนเซอร์อีกมากมาย รวมทุกอย่างแล้วทะลุ 30 ล้านบาท ผมถามเธอว่า ถ้าเป็นนักกีฬาคนอื่นๆ มีเงินขนาดนี้ ก็คงเลิกเล่นไปแล้ว ไปใช้ชีวิต ไปใช้เงินให้เต็มที่ ไม่ต้องทรมานตัวเองอีกแล้ว แต่ทำไมเทนนิสถึงอยากลุยต่อที่ปารีสในโอลิมปิก 2024
"ให้ตอบตรงๆ คือหนูอยากสร้างตำนานค่ะ ที่ผ่านมา ไม่เคยมีนักกีฬาไทยคนไหนได้ 2 เหรียญทองมาก่อน หนูอยากทำให้ได้ แล้วหนูก็อยากทำให้โลกได้รู้ด้วย ว่านักกีฬาเทควันโด้ที่ทำเหรียญโอลิมปิกได้มากที่สุด เป็นคนไทย"
อธิบายคือ ถ้าเทนนิสได้เหรียญทองที่ปารีส เธอจะเป็น 1 ใน 4 นักเทควันโด้ ที่ทำเหรียญโอลิมปิกสูงสุดตลอดกาล (2 ทอง, 1 ทองแดง) หรือง่ายๆ ก็คือ เธอจะมีสถานะเป็น GOAT - The Greatest of All Time ของวงการเทควันโด้นั่นเอง
ช่วงสามปี ระหว่าง 2021-2024 เทนนิสมาค้นพบว่า ร่างกายของเธอที่ซ้อมอย่างหนักมาตลอดช่วงวัยรุ่น มันสะบักสะบอมไปหมดแล้ว ทุกส่วนของร่างกายมีปัญหาหมด ดังนั้นเธอจึงซ้อมแบบระมัดระวังมากขึ้น ถนอมร่างกายให้ดีที่สุด ก่อนที่โอลิมปิกที่ปารีสจะมาถึง
เวลาผ่านไป ข้ามไปที่โอลิมปิกที่ปารีส เทนนิสลงแข่งขันในฐานะเต็งหนึ่งของรายการ และเอาชนะคู่แข่งมาได้เรื่อยๆ ตลอดทาง
รอบ 16 คนสุดท้ายชนะ โมร็อกโก 2-0, รอบ 8 คนสุดท้าย ชนะซาอุฯ 2-0, รอบรองชนะเลิศ ชนะ โครเอเชีย 2-0
เทนนิสเดินทางมาถึงรอบชิงชนะเลิศ เจอกับ กั๊วะ จิง คู่ปรับจากจีน ที่เทนนิสเฉือนชนะมาได้ในเอเชียนเกมส์ที่หางโจว
ความน่าสนใจคือ ระหว่าง "รอบรอง" กับ "รอบชิง" จะมี gap เวลาห่างกันประมาณ 5 ชั่วโมง ซึ่งพออยู่กับตัวเองคนเดียว ทำให้เทนนิสเกิดอาการเครียดขึ้นมาฉับพลัน
ความเครียดอย่างแรก คือทัพนักกีฬาไทยยังไม่ได้เหรียญทองโอลิมปิกเลย เธอรู้สึกเหมือนแบกรับความหวังของคนทั้งประเทศ ถ้าเธอทำไม่ได้ ไทยก็อาจจะจบแบบไร้เหรียญทอง
ความเครียดอย่างที่สอง คือนี่จะเป็นแมตช์สุดท้ายในชีวิตนักกีฬาอาชีพของเธอ ถ้าหากเธอหลุดฟอร์มล่ะ เล่นไม่ออก แล้วแพ้แบบดูไม่จืด ภาพผู้คนจะจดจำเธอ จะนึกถึงแต่เรื่องนี้หรือเปล่า
เทนนิสเครียดมากจนร้องไห้ออกมา และในที่สุดเธอก็หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา เพื่อโทรหา "อาจารย์ปลา" ดร.วิมลมาศ ประชากุล นักจิตวิทยาการกีฬาคู่ใจของเธอ เธอโทรไปร้องไห้ และระบายความรู้สึกทั้งหมด
อาจารย์ปลารับฟังอย่างใจเย็น และตอบกลับมาว่า "ไม่ต้องคิดว่าเป็นแมตช์สุดท้าย ไม่ต้องคิดว่าตัวเองแบกรับความหวังของใครทั้งนั้น แต่ขอให้เทนนิสคิดว่า มันคือโชว์ครั้งสุดท้าย ออกไปเต้นให้สนุก ออกไปเล่นให้สนุก"
อาจารย์ปลาสื่อว่า การแข่งครั้งนี้จัดที่กร็องด์ปาเลส์ สังเวียนที่สวยงามมหัศจรรย์ มันคงจะดี ถ้าเทนนิสได้ทำให้โลกเห็นว่าทำไมเธอถึงเป็นมือหนึ่งของโลก ส่วนเรื่องแพ้-ชนะ ช่างมันเถอะ
"พอฟังอาจารย์ปลาจบ หนูก็เริ่มตั้งสติได้ค่ะ ว่าเออ มันคือ Last Dance ของเรานะ เราไปเอ็นจอยกับมันเถอะ เมื่อคิดได้แบบนั้นแล้ว ก็เลยปลดปล่อยตัวเองโดยสมบูรณ์"
1
"หนูนอนหลับตา แล้วบิ้วตัวเองว่า เฮ้ย ไม่มีอะไร ไม่มีอะไร ถึงแม้ในใจจะพลุ่งพล่าน แต่เราก็กดมันไว้ได้ค่ะ"
"จากนั้นหนูก็หยิบหูฟัง แล้วเปิดเพลงในเพลย์ลิสต์ ทีนี้สมองมันปลอดโปร่งทุกอย่าง สมาธิกลับคืนมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์"
ผมถามเทนนิสว่า เพลย์ลิสต์ตอนกำลังจะแข่ง เปิดเพลงอะไร "เพลย์ลิสต์ของหนูตอนโอลิมปิก เป็นเพลงไทยค่ะ แต่สองเพลงที่ฟังบ่อยที่สุด เพลงแรกชื่อ เพลง 'สุดกำลัง' ของพี่เต้ ภูริต ภิรมย์ภักดี ส่วนอีกเพลงที่ร้องว่า 'คนเราย้อนเวลากลับไปไม่ได้หรอก' (ไทม์แมชชีน ของ ปอน นิพนธ์ x โต๋เหน่อ) หนูชอบเพลงนี้ เพราะคิดว่า เวลาเราทำอะไรแล้ว ถ้ามันจบไปแล้ว มันแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องทำเต็มที่ จะได้ไม่เสียใจทีหลัง"
2
"พอฟังเพลงไปเรื่อยๆ แล้วผู้จัดแจ้งว่า ได้เวลารอบชิงแล้ว หนูก็ไปยังจุดรอ ก่อนจะเดินออกไป หนูหลับตา แล้วพูดกับตัวเองว่า 'โอเค ทุกอย่างมันสวย มันดูดี เรามาเพื่อโชว์ครั้งสุดท้ายในชีวิต' "
"แล้ววันนั้น สิ่งที่หนูรู้สึกดี คือคนทุกคนที่เรารัก อยู่ในสนามครบเลย ครอบครัวเรา แฟนเรา คนไทยก็มาเยอะ บรรยากาศมันเต็มเปี่ยมมาก กองเชียร์หนูวันนั้นเยอะจริงๆ จนไม่คิดว่าอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยซ้ำ
การแข่งรอบชิงชนะเลิศเริ่มขึ้น ยก 1 กั๊วะ จิง นำไปก่อน 3-0 แต้ม แต่สิ่งที่เทนนิสมี คือสมาธิ เธอไม่ได้กดดันขนาดนั้น เพราะเธอตั้งใจแล้วว่าจะมาโชว์ สุดท้ายได้ 1 กัมเจิม และทำช็อปคิกใส่หน้าได้สำเร็จ แซงเป็น 4-3 ตอนเหลืออีก 25 วินาทีสุดท้าย เอาชนะไปได้ทันทีในยกที่ 1
ยกที่ 2 ฝ่ายจีนสู้เต็มที่ และเอาชนะเทนนิสคืนได้ 3-2 แต้ม ทำให้ตีเสมอได้สำเร็จ ต้องไปตัดสินในยกสุดท้าย
เทนนิสเสียยกเป็นครั้งแรกในโอลิมปิก ตามหลักแล้วโมเมนตั้มน่าจะเสีย แต่เธอสงบนิ่ง ไม่ได้ร้อนรนอะไร ในรอบชิงเธอจะมาสติแตกไม่ได้
ยกที่ 3 เทนนิสทำแต้มไม่ได้เลยจนถึง 30 วินาทีสุดท้าย แต่เธอรอจังหวะ รอโอกาส จนเสี้ยววินาทีที่กั๊วะ จิงเผลอ เธอเอาเท้าเกี่ยวหัว 2 ครั้งติดๆ ได้ 6 แต้มเต็ม จากนั้นก็ดึงเวลายอมเสียกัมเจิมสองครั้ง ก่อนจะเป็นฝ่ายเอาชนะไปในยก 3 คว้าเหรียญทองโอลิมปิกไปครอง
"พอหมดเวลา หนูแบบ เฮ้ย เราทำได้ไง 2 เหรียญทองโอลิมปิก หนูกรี๊ดออกมา เหมือนคนบ้า มันเป็นการปลดล็อกทุกอย่างในใจ ชีวิตนักกีฬาของหนู สมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว"
สิ่งที่เทนนิสตั้งใจจะทำ นั่นคือเหรียญทอง 2 สมัย เธอก็ไปถึงจริงๆ นี่เป็นโมเมนต์ที่ยิ่งใหญ่มากๆ และไม่มีทางที่คนไทยจะลืมได้เลย
จนถึงวันนี้ ในวงการกีฬาไทย จัดวางเทนนิส ให้อยู่ในเลเวลเดียวกับ เขาทราย แกแล็กซี่ (นักมวยฮอลล์ ออฟ เฟม คนแรกของไทย) หรือ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน (ดาวซัลโวเคลีก เกาหลีใต้)
เธอเป็นตำนาน เป็นเลเจนด์ ในวัยแค่ 27 ปีเท่านั้น แต่ผลงาน 2 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดง ในโอลิมปิก มันเหลือเชื่อเกินบรรยายแล้ว
วันนี้ เทนนิสเลิกเล่นเทควันโด้อย่างเป็นทางการแล้ว และมีความสุขกับชีวิตวัยรุ่น (ซึ่งก็ดีแล้ว)
ผมรู้สึกยินดีกับเธอด้วยจริงๆ ทั้งชื่อเสียง เงินทอง และความสำเร็จ มันเกิดขึ้นจากความอุตสาหะของเธอทั้งนั้น คู่ควรทุกประการ
3
โฆษณา