26 ต.ค. 2024 เวลา 12:27 • การเมือง

วันนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปูตินเคยพูดหาเสียงให้กับ “วิกเตอร์ ยานูโควิช”

บอกว่า “ยูเครนไม่จำเป็นต้องกลับคืนสู่โซเวียต (รัสเซีย)” แล้วยานูโควิชก็ชนะเลือกตั้ง ต่อมาเดือนหนึ่งเกิด “ปฏิวัติสีส้ม”
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2004 ประธานาธิบดีรัสเซีย “วลาดิเมียร์ ปูติน” ได้ส่งสารถึงชาวยูเครนโดยตรงจากกรุงเคียฟ ระหว่างการออกอากาศให้สัมภาษณ์ในรายการความยาว 1 ชั่วโมง ซึ่งออกอากาศพร้อมกันทางช่องโทรทัศน์แห่งชาติ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 1 ยูเครน (UT-1), 1+1 และ Inter ในเวลา 2 ทุ่มตามเวลาท้องถิ่น - อ้างอิง: [1]
ปูตินได้ตอบคำถามในรายการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน เขาพูดถึงยูเครนที่ตอนนี้เขาสั่งให้บุกเข้ามาทำสงครามไว้อย่างไร มาลองอ่านตามที่ทางเพจสรุปมา เนื้อหาหลักๆ สรุปมาจากบทความในอ้างอิง: [2][5]
1
ปูตินตอนออกรายการส่งตรงจากกรุงเคียฟ เมื่อ 26 ตุลาคม 2004 เครดิตภาพ: Gleb Garanich / Reuters
ในปี 2004 วาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดียูเครนของ “ลีโอนิค กุชมา” สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นเทอมที่สองของเขาแล้ว รัฐธรรมนูญยูเครนไม่อนุญาตให้เขาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สาม ดังนั้นยูเครนจึงต้องเลือกประธานาธิบดีคนใหม่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1994 คู่แข่งหลักในการต่อสู้เพื่อตำแหน่งนี้คือ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น “วิกเตอร์ ยานูโควิช” และผู้นำกลุ่มฝ่ายค้าน “วิกเตอร์ ยูชเชนโก”
1
ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทางการรัสเซียให้การสนับสนุน “ยานูโควิช” อย่างเปิดเผย โดยเขาสัญญาว่าหากได้รับเลือก เขาจะพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและยูเครน และทำให้ภาษารัสเซียเป็นภาษาทางการที่สอง ส่วน “ยูชเชนโก” ถือเป็นผู้สมัครที่โปรตะวันตก เขาสนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเป็นเรื่องแรกหากได้รับเลือกเข้ามา สรุปคือคนหนึ่งโปรรัสเซีย อีกคนหนึ่งโปรตะวันตก แยกขั้วกันชัดเจน
วิกเตอร์ ยูชเชนโก (ซ้าย) วิกเตอร์ ยานูโควิช (ขวา) เครดิตภาพ: Reuters
“ปูติน” เดินทางมากรุงเคียฟเป็นประจำเพื่อพบกับ “ยานูโควิช” และ “กุชมา” โดยในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2004 เขาเดินทางมายูเครนถึงห้าครั้ง (รวมถึงในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขาหลังจากได้รับการเลือกเข้ามาเป็นประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่สอง)
และในเดือนสิงหาคม 2004 มอสโกและเคียฟได้ลงนามข้อตกลงก๊าซอีกฉบับในเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อเคียฟ ซึ่งในช่วงทศวรรษ 2000 ข้อตกลงนี้เป็นหนึ่งในประเด็นหลักในวาระการประชุมทวิภาคี ซึ่งมักใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นประจำ
ห้าวันก่อนการเลือกตั้งรอบแรก ปูตินเดินทางเยือนยูเครนเป็นครั้งที่หกของปีนั้น วัตถุประสงค์ในการเดินทางของเขาคือการเข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของการปลดปล่อยดินแดนของประเทศจากการยึดครองของนาซีในช่วงมหาสงครามแห่งความรักชาติ แต่ในความเป็นจริงการมายูเครนของปูตินซึ่งเป็นที่นิยมในคนยูเครนช่วงเวลานั้น มีขึ้นเพื่อเสริมสร้างการสนับสนุนยานูโควิช ส่วนยูชเชนโกกล่าวหาว่าปูตินเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของยูเครน - อ้างอิง: [3][4]
ปูตินตอนมาเคียฟเพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของการปลดปล่อยดินแดนของประเทศจากการยึดครองของนาซีในช่วงมหาสงครามแห่งความรักชาติ เมื่อปี 2004 เครดิตภาพ: kremlin.ru
ช่วงเดือนตุลาคม 2004 ปูตินได้เปิดรับสายตรงและถ่ายทอดสดผ่านช่องโทรทัศน์หลักของยูเครน 3 ช่องในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ คำถามส่วนใหญ่ที่ปูตินตอบนั้นปูตินเป็นผู้เลือกไว้ล่วงหน้า พิธีกรและผู้ชมที่โทรเข้ามาในสตูดิโอก็ได้ถามคำถามประธานาธิบดีรัสเซียหลายคำถาม แต่ไม่มีคำถามใดที่ตรงประเด็นจริงๆ เพราะคำถามถูกกรองไว้แล้ว - อ้างอิง: [5]
3
ในช่วงเริ่มต้นของการออกอากาศ ปูตินกล่าวว่ามากกว่าสิบปีหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียตระหนักแล้วว่าโซเวียตในอดีตตอนนี้ถูกแยกออกมาเป็นรัฐต่างๆ และความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐเหล่านั้นควรพัฒนาไปพร้อมกับหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน ในช่วงแรกรัสเซียเองต้องตระหนักว่ารัฐที่เกิดขึ้นหลังยุคโซเวียตไม่เหมือนกับในยุคโซเวียต แต่เป็นประเทศอิสระที่เติบโตเต็มที่ และควรได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม
ระหว่างการออกอากาศ ปูตินเน้นย้ำอย่างต่อเนื่องว่าสหพันธรัฐรัสเซียเคารพในอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของยูเครน [เรา (รัสเซีย)] ตกลงกันในประเด็นชายแดนทั้งหมดเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งถือเป็นการยอมรับเอกราชอย่างสมบูรณ์และเคารพเอกราชของยูเครน ในคำถามหลายข้อที่ปูตินเลือกให้ถาม เขาถูกถามเกี่ยวกับการบูรณาการระหว่างรัสเซียและยูเครน และแม้กระทั่งเกี่ยวกับการรวมประเทศทั้งสองเข้าด้วยกัน
2
ภาพออกอากาศรายการสดที่ปูตินให้สัมภาษณ์และตอบคำถามออกอากาศจากในกรุงเคียฟเมื่อ 26 ตุลาคม 2004 เครดิตภาพ: kremlin.ru
ไม่นานก่อนหน้านั้นในช่วงต้นปี 2003 รัสเซีย ยูเครน คาซัคสถาน และเบลารุสได้ประกาศการจัดตั้งพื้นที่เศรษฐกิจเดียว (SES) ซึ่งวางตำแหน่งให้เทียบเท่ากับสหภาพยุโรป ซึ่งยูเครนมีฝ่ายการเมืองตรงข้ามกับปูตินที่คาดหวังให้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปมากขึ้นและอาจเข้าร่วมในอนาคตเริ่มที่จะหาทางยื้อการลงนามเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับ SES ซึ่งรัสเซียไม่ชอบ
ในประเด็นการรวมประเทศของยูเครนเข้ากับรัสเซีย ปูตินเน้นย้ำว่าการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีเหตุผลใดที่จะย้อนกลับไปในอดีต และการบูรณาการควรเป็นไปในเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น และต้องรับรองการเคลื่อนย้ายของผู้คนและทุนอย่างเสรี ในระหว่างการออกอากาศ (เพื่อตอบคำถามที่คล้ายกันหลายข้อจากผู้ชม) ปูตินสัญญาว่าในอนาคตอันใกล้นี้ พลเมืองยูเครนจะได้รับอนุญาตให้เดินทางมายังรัสเซียโดยใช้หนังสือเดินทางของยูเครนได้ ปูตินยังเน้นย้ำถึงข้อดีของกุชมาและยานูโควิชที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากสร้างสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่ ซึ่งภาพรวมแล้วมันส่งผลเสียมากกว่า หลายคนในดินแดนหลังยุคโซเวียตกังวล และนั่นก็สมเหตุสมผล เกี่ยวกับการสูญเสียสหภาพโซเวียต แต่หากสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เราจำเป็นต้องดำเนินการจากความเป็นจริงและมองไปยังอนาคตโดยอิงจากความเป็นจริงเหล่านี้
ปูตินกล่าวในรายการออกอากาศจากในกรุงเคียฟเมื่อ 26 ตุลาคม 2004
2
ในขณะเดียวกันปูตินยังได้ให้คำมั่นในทุกวิถีทางว่าความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัสเซียจะเป็นประโยชน์ต่อยูเครน ยกตัวอย่างเช่น ห่วงโซ่อุปทานจำนวนมากระหว่างกันมีมาตั้งแต่สมัยโซเวียต รัสเซียเป็นตลาดที่ดีสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของยูเครน และในภาคส่วนเทคโนโลยีขั้นสูงถ้าหากเราร่วมพลังกันแล้วก็ไม่ยากที่จะได้ส่วนแบ่งจากตลาดทั่วโลก
ในความเห็นของผม (ปูติน) เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างสหภาพโซเวียตในแบบเดิมขึ้นมา… ผมคิดว่าตอนนี้เราต้องพูดคุยเกี่ยวกับการรวมความพยายามและการบูรณาการก่อนอื่นในแวดวงเศรษฐกิจ หากเราจัดการได้ ปัญหาต่างๆ มากมายจะได้รับการแก้ไขด้วยตัวเองและจะไม่ก่อให้เกิดความกังวล ความรู้สึกรักชาติจะไม่ถูกละเมิด ศักดิ์ศรีจะไม่ถูกละเมิด
ปูตินกล่าวในรายการออกอากาศจากในกรุงเคียฟเมื่อ 26 ตุลาคม 2004
เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่อง “สหรัฐอเมริกา” และ “สหภาพยุโรป” ปูตินพูดถึงความสัมพันธ์ทางหุ้นส่วนที่ดีกับพวกเขาในแง่เศรษฐกิจและถึงกับเรียกความสัมพันธ์กับวอชิงตันในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและการค้าอาวุธผิดกฎหมายว่า “เป็นพันธมิตรที่ดี” เขายังเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัสเซียต่อเส้นทางการพัฒนาของยุโรป
รัสเซียเช่นเดียวกับยูเครนเป็นประเทศยุโรปในอันดับต้นๆ และเหนือสิ่งอื่นใด… อย่างไรก็ตามในแง่ของวัฒนธรรม ความคิดของประชากร และวิถีชีวิตโดยรวมแล้ว พวกเราคือประเทศยุโรป
ปูตินกล่าวในรายการออกอากาศจากในกรุงเคียฟเมื่อ 26 ตุลาคม 2004
1
ภาพตอนปูตินไปออกรายการในกรุงเคียฟเมื่อ 26 ตุลาคม 2004 เครดิตภาพ: kremlin.ru
หลังจากนั้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนในรอบแรก “ยาคูโนวิช” กับ “ยูชเชนโก” ออกมาสูสีกันมาก ต่างกันไม่ถึง 1% ทำให้ต้องมีการจัดเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2004 และแล้วผลก็ออกมาคณะกรรมการเลือกตั้งยูเครนประกาศผลให้ “ยาคูโนวิช” (ฝ่ายปูติน) ชนะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดียูเครนคนต่อมา ปูตินก็โทรมาแสดงความยินดีเขาด้วย
แต่แล้วเรื่องราวก็ยังไม่จบ “ยูชเชนโก” (ผู้แพ้ซึ่งอยู่ฝ่ายยุโรป) และผู้สนับสนุนของเขาอ้างว่ามีการโกงลงคะแนนเสียงครั้งใหญ่ (มันมีเรื่องของที่ยูชเชนโกถูกลอบวางยาพิษด้วย ซึ่งมาจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นฝีมือใคร แต่รัสเซียก็ถูกกล่าวหามาโดยตลอด โดยผลพิสูจน์ออกมาเป็นสารพวกไดออกซิน ไม่ใช่โนวีชอก) หลังจากนั้นพวกเขาจึงออกมาประท้วงบนท้องถนนอย่างไม่มีกำหนด เกิดเหตุการณ์ “การปฏิวัติสีส้ม” ขึ้นในยูเครน
เมื่อเป็นเช่นนั้นศาลสูงสุดของยูเครนซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันจากผู้ประท้วง ยอมรับข้อเท็จจริงของการโกงการลงคะแนนและสั่งให้ลงคะแนนซ้ำอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ “ยูชเชนโก” ได้รับชัยชนะเข้ามาเป็นประธานาธิบดียูเครน หลังจากนั้นปูตินก็ห่างหายจากการเดินทางมายูเครน
เหตุการณ์การปฏิวัติสีส้มในยูเครน เครดิตภาพ: stratejikortak.com
เมื่อฟังจากบทคำให้สัมภาษณ์ของ “ปูติน” เมื่อ 26 ตุลาคม 2004 ในการส่งสารถึงคนยูเครนตอนนั้นแลดูเหมือนจะช่วยหาเสียงให้กับ “ยานูโควิช” ตัวแทนของเขาโดยตรงในเคียฟให้เข้ามาเป็นประธานาธิบดียูเครน ซึ่งเรื่องราวหรือคำพูดของเขาในตอนนั้น มันเหมือน “หนังคนละม้วน” กับในตอนนี้เลย
เรียบเรียงโดย Right Style
26th Oct 2024
  • เชิงอรรถ:
1
<เครดิตภาพปก: zbruc.eu>
โฆษณา