27 ต.ค. เวลา 01:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ความทรงตัวของเรือพระราชพิธี

เรือพระราชพิธี เป็นเรือที่บรรจงสร้างขึ้นด้วยฝีมือประณีต แสดงภูมิปัญญาของช่างหลายแขนง ทั้งช่างแกะสลัก ช่างรัก ช่างประดับกระจก ช่างไม้ ช่างเขียน เป็นต้น โดยแขนงช่างที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ล้วนนับเป็น “ช่างศิลปกรรม” มีหลักฐานโบราณย้อนกลับไปได้ไกลถึงสมัยสุโขทัย ก่อนการกำเนิดของ “ช่างวิศวกรรม” โดยเฉพาะแขนงนาวาสถาปัตยกรรม (Naval Architecture) อยู่ถึง 400 ปี
ริ้วกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จากยุคสมัยของพระเจ้าลิไท ที่มีบันทึกเก่าแก่ที่สุดถึงเรือพระราชพิธีลำแรก (ประมาณ พ.ศ.1900) นับไปอีกประมาณ 640 ปี จึงจะถึงยุคที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นที่แพร่หลาย จึงมีเรือพระราชพิธีที่ได้ถูกออกแบบและควบคุมการสร้างด้วยองค์ความรู้ของนาวาสถาปนิกสมัยใหม่ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 โดย พล.ร.ท. พงศ์สรร ถวิลประวัติ (ถึงแก่กรรม)
รูปลักษณ์ตัวเรือ (Hull Form) ของ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณที่ถูกวาดขึ้นด้วยโปรแกรม Autocad ใน พ.ศ. 2537
หลังจากนั้นอีกเกือบ 30 ปี ผู้เขียนมีโอกาสได้ตรวจสอบรายการคำนวณของท่านตามปรากฏในวารสารเล่มหนึ่ง สามารถช่วยยืนยันได้อีกเสียงว่า เรือพระที่นั่งนารายณ์ ฯ มีค่าความทรงตัวดี ดังสะท้อนจากพารามิเตอร์พื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความสูงเมตาเซนทริก (GM), ระยะกราบพ้นน้ำ (Freeboard), และคาบธรรมชาติของการโคลง (Natural Roll Period) ล้วนมีระดับตัวเลขที่ดี เทียบเท่ากับพวกเรือสำหรับการใช้งานในแม่น้ำตามมาตรฐานสากลในปัจจุบันเสียด้วยซ้ำไป
รายการคำนวณน้ำหนักและศูนย์ถ่วงของเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ จัดทำกันไว้ตั้งแต่ 30 ปีก่อน
เคล็ด(ไม่)ลับส่วนหนึ่งอยู่ที่การเพิ่มคานเหล็กกล้าไร้สนิมขนาดสูง 1.1 เมตร หนา 6 มม. ไว้ที่ท้องเรือ ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมความแข็งแรงตามยาวของเรือ ยังช่วยถ่วงน้ำหนักให้เรือโบราณที่ปกติจะสร้างจากไม้เนื้อแข็งล้วนๆ ให้มีความทรงตัวที่ดีขึ้นอีกเล็กน้อย และยิ่งไปกว่านั้น ท่านก็เลือกใช้สัดส่วนมิติความยาวต่อความกว้าง (L/B) อย่างเหมาะสม (44.3 / 3.2 = 13.8) สำหรับเรือโบราณที่ขับเคลื่อนด้วยฝีพายจากกำลังมนุษย์
ลูกศรสีแดงชี้ไปที่ชิ้นส่วนโลหะที่เสริมความแข็งแรงและความทรงตัวให้กับเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลขนาดมิติของเรือพระที่นั่งลำอื่นๆ ที่เผยแพร่จากกรมศิลปากรนั้น มีความแตกต่างจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยกองทัพเรืออย่างเห็นได้ชัด และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการคำนวณสัดส่วนขนาดมิติของเรือ
ความแตกต่างของข้อมูลขนาดมิติเรือพระที่นั่งที่เผยแพร่โดยกรมศิลปากรและกองทัพเรือ
ในใจของผู้เขียนนั้นเอนเอียงที่จะเชื่อถือข้อมูลของกองทัพเรือมากกว่า ด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้
1. คนของกรมศิลปากรอาจไม่รู้จักการวัดขนาดเรืออย่างมีแบบแผน ทั้งที่เป็นแค่กิจกรรมง่ายๆ ก็ตาม
2. ข้อมูลของกองทัพเรือมีระยะกินน้ำลึกเป็นอีกมิติรายการ ในขณะที่กรมศิลปากรไม่มีข้อมูลนี้เผยแพร่
3. คนของกรมศิลปากรอาจยังยึดข้อมูลตามเอกสารโบราณซึ่งใช้หน่วยวัดระยะที่ไม่เป็นสากล เช่น วา ศอก และ/หรืออาจล้มเหลวที่จะแปลงตัวเลขให้อยู่ในหน่วยวัดสากลได้อย่างแม่นยำ และ/หรือแม้แต่เพิกเฉยที่จะลงมือวัดขนาดของเรือจริงด้วยเครื่องมือวัดที่ทันสมัยและมีความแม่นยำ เพื่อสอบทานตัวเลข
4. คนของกรมศิลปากรอาจจะมัวยึดติดกับการทำบัญชีข้อมูลโดยใช้เลขไทย แล้วก็เลยเขียน-อ่านตัวเลขผิดพลาดเสียเองเนื่องจากความอ่านยากเขียนยาก ทั้งไม่เอื้อแก่การแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัลและวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ ก็อาจฝืนใช้กันอยู่ได้ด้วยความอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง
กว่าจะใช้ OCR แปลงข้อมูลบัญชีตัวเลขเป็นอารบิกใน Excel อย่างแม่นยำครบถ้วน ก็ต้องเหนื่อยอยู่พักใหญ่
ผู้เขียนขอสมมติว่าข้อมูลของกองทัพเรือเป็นที่เชื่อถือได้มากกว่าในทุกมิติ จึงสรุปได้ว่าเรือพระราชพิธีที่เป็นเรือพระที่นั่งจำนวนทั้งหมด 4 ลำ ในปัจจุบัน มีสัดส่วนมิติ L/B อยู่ในช่วง 13.8 – 14.6 โดยเรือพระที่นั่งนารายณ์ฯ ก็มีแนวโน้มที่จะทรงตัวได้ดีกว่าลำอื่นทุกลำ ส่วนเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชซึ่งถูกสร้างไว้ใช้งานตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ก็คงไม่ได้มีปัญหาเรื่องการทรงตัวให้ต้องกังวลนัก
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ถ้ากว้างถึง 2.95 เมตร ตามข้อมูลของกองทัพเรือก็ดีไป
สำหรับเรือลำอื่นๆ ในกระบวนเรือพระราชพิธี โดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมศิลปากร (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเชื่อถือได้มากแค่ไหน) นำมาวิเคราะห์สัดส่วน L/B จนได้กราฟข้างล่างนี้ ก็จะเห็นสัดส่วนพิเศษของเรือบางลำ เช่น เรือแซง ๓ (L/B = 19.7) เรือรุ้งประสานสาย (L/B = 18.5) เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น (L/B = 18.3 – 18.4) ซึ่งเป็นพวกเรือยาวชะลูด ทรงตัวแย่ เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ตรงข้าม เช่น เรือแตงโม (L/B = 12.6) เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ (L/B = 12.7)
การแจกแจงสัดส่วนมิติ L/B ของเรือพระราชพิธีลำอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรือพระที่นั่ง
เรือแซงมีทั้งหมด 7 ลำ ลำที่อยู่ในรูปไม่ทราบเป็นลำที่เท่าไหร่ แต่ลำที่อาจจะมีปัญหาความทรงตัวคือเรือแซง ๓
เรือรุ้งประสานสาย ปกติใช้เป็นเรือฝึกหัดฝีพาย ไม่แน่ว่าทราบกันดีอยู่แล้วหรือเปล่าว่ามันเป็นเรือที่ทรงตัวแย่ที่สุดลำหนึ่งของทั้งกระบวน
เรือทองขวานฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือพี่น้อง ที่น่าจะทรงตัวแย่เท่ากันพอๆ กับเรือรุ้งประสานสาย
เรือแตงโม ปฏิบัติหน้าที่เป็น เรือกลองใน อยู่บริเวณกลางกระบวนข้างหน้าเรือพระที่นั่งเป็นเรือสำหรับ ผู้บัญชาการกระบวนเรือ มิน่าถึงมีแนวโน้มทรงตัวดีมาก
เรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาตตั้งแต่สมัย ร.๑ และเป็นคู่สุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ตกแต่งโขนเป็นรูปเสือใช้เป็นเรือปืน ก็เลยไม่แปลกถ้าจะทรงตัวดีมากเช่นกัน
เมื่อพิจารณาบทบาทหน้าที่ของเรือแต่ละลำ ผู้เขียนไม่สามารถช่วยหาเหตุผลเพื่ออธิบายความเรียวชะลูดของ เรือแซง ๓ ที่ผิดปกติไปจากเรือแซงหมายเลขอื่นๆ อีก 6 หมายเลข เดาว่าคงต่อเรือจากคนละสถานที่ คนละห้วงเวลา หรือการดัดแปลงเรือลำอื่นเข้ามาร่วมเป็นกองเรือแซง
ถ้าหากข้อมูลของกรมศิลปากรดันแม่นยำขึ้นมา เรือแซง ๓ ลำนี้นี่แหละ ที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของกระบวน ด้วยขนาดลำเรือที่ยาว 25.8 เมตร แต่มีความกว้างเพียง 1.31 เมตร และสูงเพียง 0.52 เมตร บ่งชี้ว่ามีความปลอดภัยต่ำกว่าเรือครูฝึกอย่าง เรือรุ้งประสานสาย เสียอีก
ถ้าดูจากหุ่นจำลองของเรือแซง ๓ ของพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ ก็ไม่เห็นว่าเรือจะแคบแค่ 1.31 เมตรได้
ไม่รู้แล้วว่าใครมั่ว ระหว่างกรมศิลปากรกับพิพิธภัณฑ์ทหารเรือ
เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 67 มีการซ้อมใหญ่ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ครั้งที่ 2 ซึ่งต้องยุติกลางคัน เนื่องจากสภาพอากาศมีฝนตกและกระแสลมแรงเล็กน้อยสำหรับเรือสมัยใหม่ แต่ค่อนข้างเป็นปัญหามากกับเรือพระราชพิธี โดยปรากฏคลิปวิดีโอของเรือตำรวจลำหนึ่งจากทั้งหมด 3 ลำ กำลังโคลงเคลงเอียงไปมา จนระดับน้ำภายนอกตัวเรือแทบจะท่วมเข้ามาในเรือได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เรือตำรวจมีสัดส่วนมิติ L/B ไม่ได้สูงมาก คืออยู่ในช่วง 14.4 ถึง 15.4 บ่งชี้ว่าเรือตำรวจน่าจะทรงตัวดีกว่าเรือลำอื่นอีกจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งขบวนด้วยซ้ำ
เรือตำรวจมีลักษณะคล้ายเรือแตงโมและเรือดั้ง ไม่ปรากฎหลักฐานที่สร้าง มีพระตำรวจหลางชั้นปลัดกรมหรือข้าราชการในพระราชสำนักที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ นั่งประจำ
กำหนดการของพระราชพิธีขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในปี 2567 นี้ กำลังจะถูกจัดขึ้นในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งพยากรณ์อากาศ ณ ขณะนี้ ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นใจเท่าไหร่นักด้วย
ความเร็วลมระดับ Beaufort Scale ระดับ 2 ถือว่าสบายๆ สำหรับเรือสมัยใหม่ (ควรจะทนได้ถึงระดับ 4) แต่สำหรับเรือพระราชพิธีแล้ว นี่ก็คงเป็นความท้าทายระดับหนึ่ง ที่ต้องบริหารความเสี่ยงอย่างระมัดระวังให้มาก
เรือพระราชพิธีแบบดั้งเดิมเป็นผลงานทางศิลปกรรมล้ำค่า ทั้งยังเก่าแก่เหลือเกิน เก่าแก่เกินกว่าจะสะท้อนความเป็นนาวาสถาปัตยกรรมออกมาได้ อย่างน้อยก็จนกว่าเรือลำนั้นจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขและรับรองโดยนาวาสถาปนิกผู้มาทีหลัง
แมวทะเล, 27 ต.ค. 67
อ้างอิง
โฆษณา