27 ต.ค. เวลา 03:58 • ประวัติศาสตร์

แฮหัวหลิม บทเรียนของผู้ทะเยอทะยานเกินความสามารถตนเอง

“แฮหัวหลิม” สามารถโอบล้อมจูล่งที่เชิงเขาฮองเบงสันได้อย่างแน่นหนา ทั้งเอาก้อนหินและท่อนไม้ทิ้งลงมาใส่ทหารจกก๊กจนล้มตายเป็นอันมาก จูล่งทำได้เพียงนั่งมองเกาทัณฑ์ที่กระหน่ำสาดเข้ามาจากทุกสารทิศจนถอดใจคิดว่าคงถึงคราวตายเสียแล้ว
ในวรรณกรรมอธิบายว่าจังหวะนั้น “เตียวเปา” (บุตรชายคนโตของเตียวหุย) ขี่ม้านำทหารห้าพันคนเข้ามาพร้อมกับถือทวนยาวสามวาสองศอกของบิดาไว้กับมือ จากนั้นจึงใช้แทงชีเจ๊กแม่ทัพของวุยก๊กตกม้าตาย แล้วตัดเอาศีรษะมามอบให้จูล่ง แล้วรายงานกับจูล่งว่า
“ท่านมหาอุปราชขงเบ้งเห็นว่าท่านแก่ชรามากแล้ว (จูล่งขณะนั้นอายุเจ็ดสิบปี) กลัวจะเสียทีแก่ข้าศึก จึงให้ข้าพเจ้าคุมทหารห้าพันยกตามท่านมา”
ในขณะเดียวกัน “กวนหิน” (บุตรชายคนที่สองของกวนอู) ควบม้าเข้ามาพร้อมกับทหารห้าพันคน โดยมือข้างหนึ่งควบม้า ส่วนอีกข้างถือศีรษะของตั้งฮี นายทหารของแฮหัวหลิมที่ขวางทางอยู่
.
จูล่งเห็นดังนั้นก็ดีใจที่หลานชายทั้งสองมาช่วยได้ทันเวลา จากนั้นแม่ทัพทั้งสามจึงนำทหารตีฝ่าวงล้อมกองทัพของวุยก๊กจนแตกกระจายยับเยิน
แฮหิวหลิมที่เห็นว่าสถานการณ์เริ่มไม่ดี จึงคิดหนีเอาตัวรอด จึงพาทหารคนสนิทร้อยกว่าคนลงไปด้านหลังเขาฮองเบงสัน แล้วหนีไปที่ “เมืองลำอั๋น”
.
ส่วนทหารนับแสนของแฮหัวหลิมก็แตกกระจายกันไป ต่างคนต่างหนีเอาตัวรอด กวนหินกับเตียวเปาจึงรีบยกทหารตามแฮหัวหลิมไปที่เมืองลำอั๋น แต่แฮหัวหลิมเข้าเมืองได้ก็ให้ทหารปิดประตูเมืองขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินไว้มั่นคง
เมืองลำอั๋นแม้จะเป็นเมืองเล็ก แต่มีกำแพงสูงใหญ่ คูเมืองลึก จึงยากต่อการตีแตก ทำให้กวนหิน กับ เตียวเปา ที่พยายามโอบล้อมอยู่นานหลายวันก็ยังไม่อาจตีเอาชัยได้
ขณะนั้น จูกัดเหลียง (ขงเบ้ง) ได้ยกทัพเข้ามาสมทบ แล้วสังเกตดูชัยภูมิเห็นว่าเมืองลำอั๋นมีปราการที่มั่นคง ยากต่อการตีแตก จึงปรึกษากับแม่ทัพทั้งปวง ได้ข้อสรุปว่าควรเปลี่ยนเป้าหมายไปที่เมืองฮันเต๋งกับเมืองเทียนซุย (เป็นสองเมืองที่อยู่ติดกับเมืองลำอั๋น) เพื่อวางอุบายให้ไส้ศึกนำสารไปบอกเจ้าเมืองทั้งสองให้ยกทัพมาช่วยแฮหัวหลิมที่เมืองลำอั๋น จากนั้นก็ให้ยึดเมืองทั้งสองแทน
“ซุยเหลียง” (เจ้าเมืองฮันเต๋ง) ต้องกลอุบายของขงเบ้ง รีบยกทัพเข้ามาช่วยจนถูกทหารจกก๊กตีพ่ายเยิบเยิน แต่ซุยเหลียงแสร้งยอมจำนน ทำทีว่าจะปลอมตัวเป็นไส้ศึกเข้าไปในเมืองลำอั๋น แล้วจะเจรจาต่อรองกับ “เอียวเหลง” (เจ้าเมืองลำอั๋น) ให้จับตัวแฮหัวหลิมเข้ามามอบให้ขงเบ้ง
ขงเบ้งรู้ทันจึงวางแผนซ่อนแผนด้วยการให้กวนหินกับเตียวเปาแต่งตัวเป็นทหารเมืองฮันเต๋งเข้าไปในเมืองลำอั๋นพร้อมกับซุยเหลียง จากนั้นให้ถือจังหวะชุลมุนเปิดประตูเมืองให้ทหารจกก๊กเข้าไปยึดเมืองได้สำเร็จ
.
ด้วยอุบายนี้จึงทำให้สามารถยึดเมืองลำอั๋นพร้อมกับจับตัวแฮหัวหลิมได้ในที่สุด
แฮหัวหลิมต้องกลายเป็นแม่ทัพพ่ายศึกที่จนตรอก แม้จะนำพลถึงสองแสนเข้ามารับศึกกับขงเบ้ง แต่ก็ไม่อาจพลิกสถานการณ์ให้ได้เปรียบ หรือสร้างความเสียหายแก่กองทัพจกก๊กได้สักเล็กน้อย
อีกทั้งยังตกเป็นเครื่องมือของขงเบ้งในศึกเทียนซุย ที่ขงเบ้งยอมปล่อยตัวเขาซึ่งเป็นถึงแม่ทัพใหญ่ เพื่อเป็นอุบายให้ “เกียงอุย” ซึ่งเป็นเพียงนายทหารเล็ก ๆ ต้องแปรพักตร์เข้ามาอยู่กับจกก๊กแทน (โปรดติดตามตอนที่ 7) จนเกิดเป็นวลีที่ว่า “ปล่อยเป็ดเอาหงส์” ดังจะเห็นได้ว่าแฮหัวหลิมเป็นเพียงแม่ทัพไร้ความสามารถที่ไม่อยู่ในสายตาของขงเบ้งแม้แต่น้อย
การพ่ายแพ้อย่างน่าอายในศึกนี้ทำให้โจยอยโกรธอย่างมาก จึงปลดแฮหัวหลิมออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพทันที
แม้ในวรรณกรรมจะอธิบายไว้ว่า หลังจากต้องอุบายที่ศึกเทียนซุย แฮหัวหลิมกับทหารผู้ภักดีเพียงไม่กี่ร้อยคน ได้ลี้ภัยเข้าไปอาศัยกับชนเผ่าเกี๋ยง โดยรักษาคำพูดของตนว่าจะไม่กลับมายังนครหลวงลกเอี๋ยง อีกหากจับตัวขงเบ้งไม่ได้ แต่ในประวัติศาสตร์จริง กลับไม่มีบันทึกว่าแฮหิวหลิมมีจุดจบเช่นไร
แต่มีบางตำราให้ข้อมูลว่า ซึ่งโจยอยเห็นว่าแฮหัวหลิมเป็นเชื้อพระวงศ์ที่มีความจงรักถักดี จึงแต่งตั้งให้กลับไปเป็นราชเลขาธิการ (ช่างชู) ของราชสำนักที่นครลกเอี๋ยง จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต และไม่เคยได้ตำแหน่งทางการทหารที่สำคัญอีกเลย
แฮหัวหลิม นอกจากจะขาดการประเมินตนเองแล้ว เขายังเป็นคนขี้โมโหง่าย ดังจะเห็นได้ในช่วงก่อนออกมาทำศึกกับขงเบ้ง “อองลอง” ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของวุยก๊ก เคยตักเตือนโจยอยอยู่หลายครั้งว่าจะให้แฮหัวหลิมออกไปทำศึกกับขงเบ้งไม่ได้ เพราะแฮหัวหลิมนอกจากจะไม่เคยทำศึกใหญ่แล้ว ยังเป็นคนขี้โมโหง่าย หากปล่อยให้ทำงานใหญ่ เห็นทีจะทำให้บ้านเมืองลำบากในภายหน้า
แต่แฮหัวหลิมกลับตวาดใส่อองลองว่า
“ท่านอย่าดูหมิ่นเรา แม้ขงเบ้งจะมีสติปัญญาล้ำเลิศก็จริงอยู่ แต่เรื่องการรบหาได้สู้เราได้ไม่”
แฮหัวหลิม หลงผิดคิดว่าตนเองมีความสามารถ จนนำภัยมาสู่ตัวเองและผู้อื่น บทเรียนครั้งนี้ จึงเป็นอุทาหรณ์สอนใจได้เป็นอย่างดีว่า หากคิดจะทำการสำคัญใดให้รู้จักประมาณตนให้ดีเสียก่อนว่ามีความสามารถมากพอจะทำงานใหญ่ที่สำคัญได้หรือไม่
ดังที่ “ซุนวู” เคยกล่าวไว้ว่า
“การศึกสงครามเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง มีความเกี่ยวพันกับชีวิตทหารและประชาชนจำนวนมาก สงครามเป็นเรื่องของความเป็นและความตาย เป็นถนนมุ่งสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลว การประเมินอย่างถี่ถ้วนจึงเป็นสิ่งสำคัญ จงไตรตรองตัวเองให้ดีก่อนทำการตัดสินใจสู่รบ”
***โปรดติดตามตอนต่อไป***
.
จกรุกวุย การศึกคราวขงเบ้งรบสุมาอี้
ตอนที่ 5 แฮหัวหลิม บทเรียนของผู้ทะเยอทะยานเกินความสามารถตนเอง
ผู้เขียน: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
.
Refer:
ราชบัณฑิตยสภา. (2471). สามก๊ก .กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาก
ศุภิกา กุญชร ณ อยุธยา. (2557). ยุทธศาสตร์สู่ชัยชนะแบบซุนวู .กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์ก้าวแรก
.
#สำนักคิด #somnakkid #สามก๊ก #จ๊กรุกวุย #ขงเบ้ง #จูล่ง #แฮหัวหลิม #การสู้รบ #ยุทธศาสตร์ #กลยุทธ์ #วิเคราะห์สามก๊ก #แผนการ
โฆษณา