27 ต.ค. 2024 เวลา 12:00 • สิ่งแวดล้อม

“อึ่งกรายลายเลอะ”

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกลวดลายสุดแปลก ที่ไม่น่ากลัว พบได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
"อึ่งกรายลายเลอะ" หรือ อึ่งผี หรือ อึ่งกรายหมอสมิธ (Smith’s litter frog) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leptobrachium smithi ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับ มัลคอล์ม อาเธอร์ สมิธ นักวิทยาสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชาวอังกฤษ ที่ได้เข้ามาทำการศึกษาค้นคว้าสัตว์ประเภทนี้ในประเทศไทยและคาบสมุทรมลายู ถูกค้นพบครั้งแรกที่ ต้นน้ำตกพลู
บนเขาช่องจังหวัดตรัง เมื่อปี ค.ศ. 1999
อึ่งกรายลายเลอะ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีลักษณะโดดเด่น อาศัยอยู่ในผืนป่าอนุรักษ์ มีดวงตาโปนด้านบนสีแดง หรือส้มเหลืองวาวเสมือนขอบตา หัวใหญ่กว่าลำตัว ขาค่อนข้างสั้น ผิวหลังด้านหลังมีลายสีเข้ม พื้นสีผิวเป็นสีเทา ชอบออกหากินหลังเวลาฝนตก
โดยทั่วไปมักพบ อึ่งกรายลายเลอะ ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มักพบในแนวป่าตะวันตกของประเทศไทยจนถึงแหลมมลายู ตั้งแต่ภาคใต้ของไทยลงไป จนถึงเกาะลังกาวีในประเทศมาเลเซีย และในประเทศไทยพบมากในบริเวณพื้นป่าใกล้ลำธารในป่าดิบแล้ง ถึงป่าดิบเขา ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
มีเสียงร้องดัง ว้าก ว้าก ว้าก กึกก้องไปทั่วผืนป่าหลังฝนตก ร้องดังเสียงคล้ายเป็ด นอกจากนั้นยังมีนิสัยที่ไม่กลัวคน ไม่ขี้อาย มีลวดลายที่ดูน่ากลัว จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “อึ่งผี” คนท้องถิ่นส่วนมาก มักเรียกชื่อตามเสียงร้องของมันว่า กบว้าก หรือ เดะกอ ในภาษากะเหรี่ยง
ปัจจุบัน อึ่งกรายลายเลอะ มีปริมาณลดลงจนใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเมือง ที่อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสีย แหล่งที่อยู่อาศัยไปจากเดิม
ภาพ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
ข้อมูล : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
#ธี่หยด #ธี่รักษ์ #ฮาโลวีน #อึ่งกรายลายเลอะ #อึ่งผี #เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง #ห้วยขาแข้ง #กรมอุทยานแห่งชาติ #halloween

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา