27 ต.ค. เวลา 14:49

#สมเด็จองค์ปฐมทรงกล่าวว่าโลกนี้ไม่มีคนดี ไม่มีคนชั่ว มีแต่คนมาตามกรรม ไปตามกรรม

ใครทำอะไรก็เป็นเรื่องที่เขาต้องรับในผลของการกระทำนั้นเอง
เราเข้าไปทำอะไรกับกรรมของคนอื่นไม่ได้ แต่ละคนมีกรรมเป็นของตนเอง อย่าไปสนใจในจริยาของผู้อื่น สนใจจริยาของเราอย่าทำกรรมผิดก็แล้วกัน อย่าจริงจังกับชีวิตให้มากนักเพราะงานทางโลกทำเท่าไรก็ไม่หมด หมั่นพิจารณาอารมณ์ของตนเอง มุ่งสอนตนเองมากกว่ามุ่งสอนผู้อื่น คนมุ่งสอนคนอื่นจะลืมสอนตัวเอง
คำสอนของสมเด็จองค์ปฐม (พระพุทธเจ้าองค์แรก) มีจำนวนมากจึงขอสรุปเป็นข้อสั้นๆ ดังนี้
1. สมมติเราไปหาหมอ หมอบอกหมดปัญญา หมดวิธีรักษา ไม่มียารักษา จะทำอย่างไร
ทุกคนทราบดีว่าเกิดแล้วต้องตาย แต่ความรู้นี้ รู้ก็เหมือนไม่รู้ คนส่วนใหญ่ไม่ให้ค่าในการเตรียมตัวเตรียมใจเท่าที่ควร สำหรับผู้ที่ไม่เคยเตรียมตัวมาก่อนจะตกใจจนทำอะไรไม่ถูก เราปฏิบัติมาทั้งชีวิตก็เพื่อนาทีสุดท้ายของชีวิต ผลการปฏิบัติจะเป็นภูมิต้านทานในการรักษาจิตให้เห็นเรื่องแก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อถึงเวลาก็ต้องไป ตนแลเป็นที่พึ่งของตน เราสะสมกรรมดีมากพอที่จะเป็นสรณะ(ที่พึ่ง)ได้หรือยัง อย่ามัวเสียเวลาทำดี-ชั่ว คละเคล้ากัน หมดเวลาสำหรับความชั่วต่อให้ทำดีอย่างเดียวยังไม่แน่ว่าจะสะสมได้ทันหรือไม่
.
2. ไม่กังวลใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลาย อะไรที่เกิดล้วนเป็นวิบากทั้งนั้น
พระองค์สอนว่าผลของกรรมเที่ยงเสมอ ทุกคนทำอะไรได้อย่างนั้น ทำอะไรไว้จะต้องรับวิบากที่จะตามมาแน่นอน จะเร็วหรือช้าเท่านั้น หากเราเดินสะดุดหกล้ม ควรมองหาความผิดตนเองดีกว่าการเพ่งโทษผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเพราะจะไม่ได้อะไร หากเพ่งโทษตนเองจะทำให้ระวังมากขึ้น ทุกอย่างลงที่กฎแห่งกรรม รับวิบากเป็นธรรมดา ทุกการกระทำจะมีวิบากตามมาเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น ก่อนทำอะไรให้คิดถึงผลที่จะต้องได้รับเสมอ
3. กรรมใดเราไม่เคยก่อไว้ วิบากกรรมนั้นไม่มี เพราะกฎแห่งกรรมเที่ยงเสมอ
พระองค์สอนไม่ให้กลัวสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้น หากเราไม่เคยก่อไว้ วิบากนั้นจะไม่มี ดังนั้นควรละชั่วทั้งปวง เสียแต่บัดนี้เพื่อจะไม่ต้องรับวิบากที่จะตามมา
.
4. ตัดกิเลสไม่ได้เพราะอ่อนบารมีสิบ อ่อนพรหมวิหารสี่
หลายคนเคยคิดอยากเป็นคนดี จะเลิกทำไม่ดี แต่เผลอทีไรทำไม่ดีอีกจนได้ เช่นตั้งใจจะไม่นินทา เผลอก็นินทาอีก พระองค์ตรัสว่าไม่เป็นไรนับหนึ่งใหม่ นับใหม่ไปเรื่อยๆสักวันจะชนะตนเองได้ สำหรับผู้สะสมบารมีสิบหรือพรหมวิหารสี่มาจนใกล้เต็ม จะตัดกิเลสได้ง่าย
5. อย่าจิตเศร้าหมอง เห็นปกติของขันธ์ห้า คนไม่เจ็บไม่มี การมีขันธ์ห้าเพราะกรรมก่อน
บางคนกายป่วยจิตป่วยด้วย บางคนกายป่วยจิตไม่ป่วย ความจริงจิตและกายเป็นคนละส่วนกัน จนมีคำพังเพยว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว คนมีปัญญาขณะที่เขาป่วยเขาจะแยกแยะได้ว่ากายป่วยเพราะเราดูแลไม่ดีพอ จิตจึงต้องคอยดูแลกายให้มากขึ้น ต้องมีกำลังใจที่แข็งแกร่ง สามารถหาวิธีดูแลตนเองได้เคร่งครัดขึ้น คนสมัยก่อนพึ่งตนเองเป็นส่วนใหญ่พึ่งหมอน้อยมาก กายป่วยให้ลงที่กฎธรรมดา รักษาด้วยตนเองให้ดีที่สุดหากยังไม่หายค่อยไปหาหมอ ไม่กังวลกับการป่วยมากเกินไป
6. ปล่อยให้จิตทุกข์แสดงว่ากำลังเบียดเบียนตนเอง
ปุถุชนละเลยในการดูแลจิต ให้ค่าต่อการดูแลกายมากกว่า มีสิวหนึ่งเม็ดต้องรีบไปหาหมอ ขณะที่ใจไม่สบาย เครียดหรือกังวล กลับไม่สนใจหาวิธีรักษา หมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ที่ทำให้เครียดเป็นการเพิ่มความเครียดอีก ซ้ำเติมตัวเองมากขึ้น หมั่นอาบน้ำล้างใจด้วยการถอนหายใจดูลมจะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ หมั่นดูลม อยู่กับตัวเองให้มาก ปล่อยวางเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่นานก็จะดับไป
7. กายกับจิตไม่เคยเที่ยงแม้เพียงวินาทีเดียว ยึดไว้ทำไม
หลายคนได้ยินประโยคนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่ใส่ใจตีความว่าคืออะไร ผู้เขียนให้ราคาประโยคนี้เพียงประโยคเดียวมีมูลค่ากว่าเงินหนึ่งร้อยล้านบาท ทำไมมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท พระพุทธเจ้าสอนว่าหากเข้าใจและทำได้จริงจะมีค่ามากกว่าการได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ
โฆษณา