28 ต.ค. เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

โลกของนิวเคลียร์

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในช่วงปลายทศวรรษปี ค.ศ. 1930 ทำให้พบว่า “พลังงานนิวเคลียร์” สามารถกลายเป็น “อาวุธนิวเคลียร์” ที่นำมาซึ่งอำนาจครอบครองโลกได้
เกิดการริเริ่มงานวิจัยลับโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2485 ความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ผลิตระเบิดภายใต้โครงการแมนฮัตตันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ ด้วยเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาใช้อาวุธนิวเคลียร์กับญี่ปุ่น และความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น
.
วัสดุนิวเคลียร์มาจากไหน?
เริ่มต้นจากแหล่งแร่ยูเรเนียม ที่พบได้ตามธรรมชาติทั่วโลก โดย 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา คาซัคสถาน นามิเบีย และรัสเซีย มีแร่ยูเรเนียมรวมกันเท่ากับสองในสามของปริมาณยูเรเนียมที่ถูกขุดออกมาจากพื้นโลกทั้งหมด ยูเรเนียมถูกแปลงให้เป็นก๊าซ เพื่อนำไปเสริมสมรรถนะสำหรับจุดประสงค์ด้านนิวเคลียร์ทั้งเพื่อสันติภาพและการทำลายล้าง
.
ฟิชชันนิวเคลียร์ (Nuclear Fission) คืออะไร?
ฟิชชันเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างพลังงานนิวเคลียร์
ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันเกิดขึ้นเมื่อนิวตรอนโจมตีนิวเคลียสของอะตอม และแยกนิวเคลียสออกจากกัน ทำให้เกิดพลังงานมหาศาล ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันเกิดขึ้นได้ง่ายในไอโซโทปหรือธาตุบางชนิดเท่านั้น โดยทั่วไปคือยูเรเนียมและพลูโตเนียม (พลูโตเนียมไม่พบในธรรมชาติ)
ในธรรมชาติ ยูเรเนียมเป็นส่วนผสมของไอโซโทป 2 ชนิดหลักได้แก่ ยูเรเนียม-235 (U-235) และยูเรเนียม-238 (U-238) ยูเรเนียม-235 มีความสำคัญเนื่องจากสามารถเกิดปฏิกิริยาฟิชชันได้ง่ายกว่ายูเรเนียม-238 และพบได้น้อย มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของยูเรเนียมตามธรรมชาติของโลกเท่านั้น
ดังนั้น ประเทศที่มีความทะเยอทะยานด้านนิวเคลียร์ไม่ว่าจะสันติหรือไม่ก็ตาม จำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนของ U-235 ในตัวอย่างยูเรเนียมของตนก่อนผ่านกระบวนการที่เรียกว่า “การเสริมสมรรถนะ”
.
พลังงานนิวเคลียร์ผลิตขึ้นมาได้อย่างไร?
การผลิตพลังงานนิวเคลียร์เริ่มต้นด้วยการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม โดยการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมมักเกิดขึ้นในเครื่องเหวี่ยงแก๊ส หลังจากยูเรเนียมถูกแปลงเป็นแก๊สแล้ว เครื่องเหวี่ยงจะป้อนยูเรเนียมเข้าเครื่องเหวี่ยงซึ่งหมุนด้วยความเร็วสูงเพื่อแยกยูเรเนียม-238 ที่หนักกว่าออกจากยูเรเนียม-235 การหมุนแต่ละรอบในเครื่องเหวี่ยงจะลดสัดส่วนของยูเรเนียม-238 และเพิ่มสัดส่วนของยูเรเนียม-235 ทั้งนี้ ยูเรเนียมสามารถเสริมสมรรถนะได้หลายระดับ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ :
>>ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำ (LEU) ซึ่งมี U-235 น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ และมักใช้ในพลังงานนิวเคลียร์หรือในเครื่องปฏิกรณ์ที่ไม่ใช้พลังงานซึ่งผลิตวัสดุสำหรับการใช้ทางการแพทย์ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และวัตถุประสงค์อื่นๆ
>>ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะสูง (HEU) ซึ่งมี U-235 อยู่ร้อยละ 20 หรือมากกว่า ส่วนใหญ่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และในอุปกรณ์เฉพาะทางอื่นๆ เช่น เครื่องปฏิกรณ์บนเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์
เครื่องหมุนเหวี่ยงที่ผลิตในประเทศอิหร่านถูกจัดแสดงในนิทรรศการเกี่ยวกับความสำเร็จด้านนิวเคลียร์ของประเทศ ในกรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023 (ภาพเอพี/วาฮิด ซาเลมี)
HEU ที่มีการเสริมสมรรถนะอย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า ยูเรเนียมเกรดอาวุธ ยิ่งระดับการเสริมสมรรถนะสูงขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งต้องใช้ยูเรเนียมน้อยลงในการผลิตอาวุธ นั่นหมายความว่าหัวรบนิวเคลียร์อาจมีขนาดเล็กลงและเบาลง ทำให้ขีปนาวุธสามารถบินได้ไกลขึ้น และเครื่องบินสามารถยิงอาวุธได้มากขึ้น
.
การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ใช้เวลานานแค่ไหน?
เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเพื่อจุดประสงค์ทางนิวเคลียร์ได้ แม้จะเพื่อวัตถุประสงค์สันติก็ตาม ประเทศนั้นก็จะสามารถผลิตวัสดุได้เพียงพอสำหรับอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น การติดตามการแพร่กระจายจึงเป็นเรื่องยากมาก
การเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในสภาพธรรมชาติให้มี U-235 ระหว่าง 3 ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับการเสริมสมรรถนะ LEU ที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่วนใหญ่ ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมาก
เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถเสริมสมรรถนะ HEU ให้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์สำหรับยูเรเนียมเกรดอาวุธนั้น เวลาในการดำเนินการมักจะใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
การผลิต HEU เป็นวิธีหนึ่งในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แต่ยูเรเนียมยังสามารถผลิตพลูโตเนียมซึ่งเป็นธาตุที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติและมีพลังมากกว่ายูเรเนียมมากได้ด้วย
พลูโตเนียมเกรดเครื่องปฏิกรณ์ซึ่งประกอบด้วย Pu-239 ระหว่าง 55 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสกัดมาจากเชื้อเพลิงใช้แล้วที่ได้รับการฉายรังสีหรือได้รับรังสีเป็นเวลาหลายปีในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และพลูโตเนียมเกรดอาวุธซึ่งประกอบด้วย Pu-239 อย่างน้อย 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสกัดมาจากเชื้อเพลิงใช้แล้วที่ถูกถ่ายโอนไปยังเครื่องปฏิกรณ์ผลิตพลูโตเนียมพิเศษ เครื่องปฏิกรณ์พิเศษนี้ก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนในการผลิตพลูโตเนียมเกรดอาวุธ
พลูโตเนียมเกรดอาวุธนั้นผลิตขึ้นโดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์ทางการทหาร และเครื่องปฏิกรณ์ผลิตพลูโตเนียมนั้นมีการออกแบบที่แตกต่างจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วไป การมีเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าวเป็นสัญญาณว่าประเทศนั้นๆ อาจกำลังสร้างอาวุธนิวเคลียร์อยู่
.
ประเทศใดบ้างที่มีอาวุธนิวเคลียร์?
เนื่องจากประเทศต่างๆ ไม่เปิดเผยความลับทางการทหารของตน การทราบจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่แต่ละประเทศมีอย่างแน่ชัดจึงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศล้วนประสบกับปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลด้านความมั่นคงของประเทศ และจากข้อมูลที่ถูกเปิดเผยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เชื่อว่าปัจจุบันประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองมี 9 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส อินเดีย อิสราเอล เกาหลีเหนือ ปากีสถาน รัสเซีย และสหราชอาณาจักร
โดยรัสเซียและสหรัฐอเมริกามีคลังอาวุธนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุด ประมาณ 91 เปอร์เซ็นต์ ของหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีข้อมูลปรากฏ ซึ่งในสถานการณ์ที่ความตึงเครียดจากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์กำลังเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะเกิดภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
.
ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ประเทศต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear-Weapon-Free Zones : NWFZ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประเทศต่างๆ ให้คำมั่นว่าจะไม่สร้าง รับ ทดสอบ หรือจัดเก็บอาวุธนิวเคลียร์ โดยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ไม่ได้ขัดขวางการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ
สนธิสัญญา 5 ฉบับซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในแอฟริกา เอเชียกลาง ละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกใต้ เขตเหล่านี้รวมกันครอบคลุมซีกโลกใต้ทั้งหมดและบางส่วนของซีกโลกเหนือ ได้แก่ :
>>สนธิสัญญาตลาเตโลลโก (Treaty of Tlatelolco) — สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน
>>สนธิสัญญาราโรตองกา (Treaty of Rarotonga) — สนธิสัญญาเขตปลอดนิวเคลียร์แปซิฟิกใต้
>>สนธิสัญญากรุงเทพฯ (Treaty of Bangkok) — สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
>>สนธิสัญญาเปลินดาบา (Treaty of Pelindaba) — สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ของแอฟริกา
>>สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียกลาง — (Treaty on a Nuclear-Weapon-Free Zone in Central Asia)
นอกจากนี้ ยังมีสนธิสัญญาอีก 3 ฉบับ ซึ่งสร้างพื้นที่ร่วมระดับโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์สำหรับการวิจัย การสำรวจ และความก้าวหน้าทั่วไปของมนุษยชาติ ได้แก่ :
**สนธิสัญญา  ก้นทะเล  (The Seabed Treaty) ห้ามมีอาวุธทำลายล้างสูงบนพื้นมหาสมุทร
**สนธิสัญญา  แอนตาร์กติกา (The Antarctic Treaty)  ห้ามกิจกรรมทางทหารใด ๆ ในแอนตาร์กติกา รวมถึงการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
**สนธิสัญญา  อวกาศภายนอก (The Outer Space Treaty)  ห้ามไม่ให้มีอาวุธทำลายล้างสูงจากวงโคจรของโลก ดวงจันทร์ หรือวัตถุอื่นใดในอวกาศ
ในหลายประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ การจะปกป้องตนเองจากภัยคุกคามนิวเคลียร์โดยไม่ต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เอง วิธีหนึ่งที่ทำเช่นนั้นได้คือ การยอมเป็นพันธมิตรอยู่ภายใต้ร่มเงาอำนาจทางทหารของกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่มีอาวุธนิวเคลียร์นั่นเอง.
โฆษณา