28 ต.ค. เวลา 05:32 • ธุรกิจ

‘เข็มเหล็ก’ นวัตกรรมระบบฐานรากรักษ์โลก ตอบโจทย์เทรนด์ Green building พลิกโฉมวงการ Construction

Pain Point ของงานก่อสร้างฐานรากแบบเสาเข็ม (Pile foundation) ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Construction Industry) ที่พบเจอเป็นประจำภายในไซต์งาน คือ เสียงดัง เกิดแรงสั่นสะเทือน ใช้เวลา แรงงาน และพื้นที่สิ้นเปลือง ทั้งต้องเปิดหน้าดินทำให้หน้างานสกปรก เลอะเทอะ ไม่เป็นระเบียบ ขณะที่ปัจจุบันมีนวัตกรรมเสาเข็มสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัสดุเหล็กกล้า ชุบ Hot-Dip Galvanized ป้องกันสนิม ลักษณะคล้ายสกรูขนาดใหญ่ มีใบเกลียวรูปทรงกรวย (FIN) ที่ช่วยยึดเกาะชั้นดินให้แน่น ทั้งรับแรงและกระจายน้ำหนักแบกทานกันและกันได้ดี
โดยใช้แรงบิดเพื่อเจาะลงชั้นดิน ทำให้งานติดตั้งง่าย ไม่เกิดเสียงและแรงสั่นสะเทือนขณะติดตั้ง ปลอดภัย และประหยัดเวลา ใช้แรงงานในการติดตั้งเพียง 3 คน พื้นที่หน้างานสะอาดเนื่องจากไม่ต้องเปิดหน้าดิน ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ทางวิศวกรรมก่อสร้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
นวัตกรรมเสาเข็มสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัสดุเหล็กกล้า คิดค้นและพัฒนาโดย คุณประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด (KEMREX) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสาเข็มวัสดุเหล็ก และให้บริการติดตั้ง จดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในชื่อ ‘เข็มเหล็ก’ (KEMREX)
ปัจจุบันเป็นเจ้าของสิทธิบัตรที่เป็นนวัตกรรมเสาเข็มเหล็กสำเร็จรูปกว่า 300 แบบ เป็นธุรกิจที่เริ่มจากความต้องการแก้ปัญหายุ่งยาก และทลายข้อจำกัดทางวิศวกรรมระบบฐานรากแบบเดิม ตอบโจทย์เทรนด์อาคารเขียว (Green building) ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน ด้วยการดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืน (Sustainability Strategy) เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรม
ทำไมต้องเข็มเหล็ก ?
คุณประเสริฐ มีพื้นฐานการศึกษาด้านการตลาด แต่ทำงานคลุกคลีกับภาคอุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตภาชนะรับแรงดัน (Pressure vessel) ด้วยการที่เขาไม่มีกรอบทางวิศวกรรมมาเป็นข้อจำกัด เลยมักมีแนวคิด หรือพิจารณาในแง่มุมใหม่ เพื่อสรรหานวัตกรรมที่สามารถลดข้อจำกัดในงาน หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ดังนั้น จุดเริ่มต้นของแนวคิดเข็มเหล็กจึงต้องย้อนไปกว่า 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเขากำลังมองหานวัตกรรมสินค้าที่จะมาตอบโจทย์แผนธุรกิจ โดยมองเห็น Pain Point ของวิศวกรรมฐานรากรูปแบบเดิม ที่ใช้เสาเข็มคอนกรีตตอกลงไปในชั้นดิน ทั้งต้องเปิดหน้าดินทำฟุตติ้ง หรือโครงสร้างฐานรากส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน มีกระบวนการยุ่งยาก สิ้นเปลืองทรัพยากร ทั้งไซต์งานเลอะเทอะ ทั้งเกิดมลพิษทางเสียง และแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มซึ่งไม่เป็นมิตรต่อชุมชน
การคิดค้นหาสิ่งทดแทนเสาเข็มรูปแบบเดิมของคุณประเสริฐ มาจากแนวคิด ‘ตะปู สกรู น๊อต’ โดยทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นวัสดุโลหะที่มีหน้าที่เหมือนกัน นั่นคือ ล็อคให้แน่น และรับแรงแบกทาน โดยใช้แรงเจาะ บิด หมุน จึงพิจารณาว่า มีความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรมที่จะใช้วัสดุเหล็กมาเป็นทางเลือกทดแทนเสาเข็มคอนกรีต โดยออกแบบเสาเข็มที่ผลิตจากเหล็กกล้าเคลือบสารกันสนิม ตั้งสมมติฐานเหมือนเสาเข็มเป็นสกรูเจาะซึ่งมีใบเกลียวรูปทรงกรวย (FIN)
การเจาะเสาเข็มเหล็กค่อย ๆ ทะลวงผ่านชั้นดิน FIN จะช่วยยึดให้แน่นและช่วยรับแรงกันและกัน คอยยึดระหว่างโครงสร้างอาคารกับชั้นดิน มีความสมดุลมั่นคงในการรับน้ำหนัก โดยสามารถติดตั้งโดยใช้เครื่องจักรบิดหมุนเจาะลงไปในชั้นดินได้เลย เสมือนกับการขันสกรู ต่อมาได้โดยจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในชื่อ ‘เข็มเหล็ก’ (KEMREX) นวัตกรรมระบบฐานรากเสาเข็มสำเร็จรูปผลิตมาจากเหล็กกล้า ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ในงานก่อสร้างฐานรากได้
เข็มเหล็ก มีลักษณะสกรูขนาดใหญ่เจาะไปในดินเพื่อทำหน้าที่รับแรงกดโดยไม่ต้องตอก ไม่ต้องเปิดหน้าดิน ทั้งรับแรงแบกทานได้ดี มีกระบวนการติดตั้งง่าย ประหยัดเวลา ใช้แรงงานน้อย ไม่เกิดแรงสสั่นสะเทือน และไม่เกิดเสียงรบกวน ช่วงเริ่มต้นมีการทดลองในหลายอย่างก่อนที่จะนำมาใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นนวัตกรรมเสาเข็ม Eco-Friendly ที่พลิกโฉมระบบฐานรากของอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ประเดิมติดตั้งเข็มเหล็ก โครงการ Solar Farm
งานแรกที่คุณประเสริฐ นำเสาเข็มเหล็กไปติดตั้งเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) จากวันนั้นถึงวันนี้ เข็มเหล็กถูกนำมาใช้ในงานฐานรากของ Solar Farm มากกว่า 2 ล้านต้น (เทียบได้เป็นการผลิตไฟฟ้ากว่า 2,000 เมกะวัตต์) จากจุดเริ่มเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้น จากการนำประสบการณ์การทำงานมาวิเคราะห์หาแนวทางปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วยงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น
ต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อขยายงานการติดตั้งเสาเข็มเหล็กในส่วน อาคาร ที่อยู่อาศัย รวมถึงงานวิศวกรรมขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้วันนี้เข็มเหล็กเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเสาเข็มเหล็กสำเร็จรูปประมาณ 300 ชิ้น มีขีดความสามารถในการติดตั้งเสาเข็มเหล็กได้ถึง 6,000 ต้น/วัน (ค่าเฉลี่ยในการติดตั้งเสาเข็มเหล็กต้นละประมาณ 1 นาที)
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เข็มเหล็ก
1.เข็มเหล็ก Series N เป็นเสาเข็มที่เหมาะสำหรับงานโครงสร้างเบา ที่เป็นการประกอบท่อ หรือต้องการปรับระดับความสูง เช่น เสาเข็มงานรั้ว Solar farm เสาเข็มเป็นฐานของเสาไฟขนาดเล็ก ป้ายบอกทาง เทอเรส
2.เข็มเหล็ก Series F เป็นเสาเข็มที่เหมาะสำหรับงานโครงสร้างที่มี Footing ในตัว หรืองานโครงสร้างต่อจากเสาเข็ม เช่นบ้านน็อคดาวน์ โครงสร้างอาคารสูงไม่เกิน 2 ชั้น งานรั้ว งานต่อจากคอนกรีต และงานอื่นๆ
3.เข็มเหล็ก Series FS เป็นเสาเข็มที่เหมาะสำหรับงานโครงสร้างที่มี Footing ในตัวหรืองานที่ขึ้นโครงสร้างต่อจากเข็มเหล็ก เช่น งานโครงสร้างบ้าน 1-2 ชั้น (ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น) งานเสาไฟฟ้า งานเสา CCTV และงานอื่นๆ
4.เข็มเหล็ก Series D เป็นเสาเข็มที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เป็นเสาเข็มที่สามารถรองรับโครงสร้าง ได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างบ้านสองชั้น โครงสร้างโกดัง โรงงาน ไปจนถึงโครงสร้างความสูง 4 ชั้น
อ้างอิงข้อมูล : https://www.hsbkemrex.com/
ทำวิจัย สร้างองค์ความรู้
คุณประเสริฐ กล่าวว่า การสร้างการยอมรับและเชื่อมั่นในสินค้าเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่ผ่านมามีประสบการณ์ไปออกงานแสดงสินค้าด้วยตนเอง ทำวิจัยตลาดด้วยตนเอง ผลคือ ลูกค้ายังไม่ยอมรับ และไม่เข้าใจในนวัตกรรมสินค้า โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อจำกัดทั่ว ๆ ไปของเข็มเหล็ก เช่น สนิม การรับแรง อาจด้วยทั้งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในตำราดั้งเดิม แต่เขาไม่ท้อ ยังคงพากเพียรทำงานต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เขารู้ว่าสังคมต้องการอะไร
คำตอบคือ เราต้องมีองค์ความรู้ ผลิตภัณฑ์ของเราต้องมีนักวิชาการมารับรองมาตรฐาน และความปลอดภัย จึงไปปรึกษาคณาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อขอความรู้เรื่องสนิมของเสาเข็มที่เป็นเหล็ก การรับแรง ตลอดจนข้อมูลทางวิศวกรรมต่าง ๆ และร่วมทำงานวิจัยจนเกิดเป็นองค์ความรู้
ด้านการนำเสาเข็มเหล็กมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ จากงานวิจัยชิ้นแรก ปัจจุบันเข็มเหล็กทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 แห่ง มีผลงานวิจัยมากกว่า 300 เรื่อง ตรงนี้เขาบอกว่าขอบคุณอาจารย์ นักวิชาการทุกท่านที่ร่วมกันทำวิจัยกับเข็มเหล็กเพื่อนำองค์ความรู้ใหม่ มาสร้างความเข้าใจและต่อยอดในเชิงวิศวกรรมฐานราก
มาตรฐานสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า
ผลจากงานวิจัยนำไปสู่การทดสอบมาตรฐานหน้างาน โดยปัจจุบันวัสดุที่นำมาผลิตเป็นเสาเข็มเหล็กมีการทดสอบการรับน้ำหนักโครงสร้าง (Ultimate Test) ไปจนถึงระดับวัสดุสามารถทนแรงได้สูงสุด (Ultimate load) สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 200 ตัน ทั้งการทดสอบกำลังรับน้ำหนักของเสาเข็ม (Static Load Test) ได้มาตรฐานการทดสอบวัสดุ (ASTM)
โดยเฉพาะกรณีของเข็มเหล็กที่ทำการทดสอบกำลังรับน้ำหนักที่หน้างาน ตามมาตรฐานของ ASTM จะมีค่าความปลอดภัย หรือกำลังสูงสุดที่วัสดุอุปกรณ์หนึ่งรับได้ (Safety Factor) เป็น 2 เท่า หมายความว่าเข็มเหล็ก 1 อันสามารถรับแรงได้ถึง 400 ตัน
มาตรฐานที่เป็นทั้งงานวิจัยและการทดสอบมาตรฐานวัสดุ ทำให้ทุกวันนี้ เข็มเหล็ก สามารถใช้กับโครงสร้างอาคารสูงถึง 8 ชั้นได้แล้ว ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมา เช่น โครงการ One Bangkok ที่ แยกปทุมวัน โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นต้น จากจุดเริ่มต้นที่วงการก่อสร้างยังกังขา วันนี้เข็มเหล็กได้ก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้น และเป็นทางเลือกใหม่ในงานฐานรากของสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมยุคนี้
เข็มเหล็ก ปล่อยคาร์บอนฯ น้อยกว่า 10 – 24 เท่า
คุณประเสริฐ เปรียบเทียบให้เหห็นภาพจากประสบการณ์ทำงานจริง โดยยกตัวอย่างการตอกเสาเข็ม 300 ต้น ด้วยเสาเข็มคอนกรีตและเสาเข็มเหล็กเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า โดยปกติในการตอกเสาเข็มคอนกรีตต้องขุดหน้าดินเพื่อทำฟุตติ้ง และต้องใช้รถบรรทุก 2 คัน ลำเลียงดินออก พร้อมใช้รถเทปูนอีก 2 คันเพื่อลงฐานราก รวมแล้วเฉพาะส่วนนี้ใช้รถบรรทุก 4 เที่ยวต่อเสาเข็ม 1 ต้น
นั่นคือ การตอกเสาเข็มคอนกรีต 1 ต้น ใช้รถ 4 เที่ยว ตอก 300 ต้น ใช้รถ 1,200 เที่ยว ขณะที่การติดตั้งเสาเข็มเหล็ก 300 ต้น จะใช้รถบรรทุกเฉลี่ย 50 เที่ยว ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเสาเข็มคอนกรีตถึง 24 เท่า ทั้งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
ชูจุดแข็งเข็มเหล็ก นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อโลก
คุณศันศนีย์ ธรรมมนุญกุล ผู้บริหารด้านความยั่งยืนขององค์กร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด กล่าวว่า เธอศึกษาทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ปัจจุบันกำลังศึกษาเพิ่มเติมในระดับปริญญาโท ในด้านวิศวกรรมความยั่งยืน Sustainability ที่คณะวิศวกรรม (IES) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีกทั้งยังมีความสนใจเรื่องการสร้างเมืองที่ยั่งยืน ทำให้มีมุมมองว่า ผลิตภัณฑ์ของเข็มเหล็กสามารถนำไปต่อยอดในงานสถาปัตยกรรมและก่อสร้างได้หลากหลาย เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สิ่งเหล่านี้จุดประกายกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ
คุณศันศนีย์ ธรรมมนุญกุล ผู้บริหารด้านความยั่งยืนขององค์กร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด
ทั้งเล็งเห็นว่า เข็มเหล็กสามารถช่วยลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้ เช่น การทดสอบเรื่องแรงสั่นสะเทือน หากพิจารณาในมุมของชุมชน หากเกิดแรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ไซต์งานชุมชนรอบข้างย่อมได้รับผลกระทบด้วย อาคารใกล้เคียงอาจจะเกิดความเสียหายได้ ประเด็นต่อมาคือการตอกเสาเข็มในลักษณะเดิมจะเกิดมลพิษทั้งในด้านของเสียงและฝุ่นละออง
คุณศันศนีย์ นำโจทย์เบื้องต้นมาใช้เป็นกลยุทธ์กับผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์ด้านอาคารเขียว (Green building) ทำให้มีแนวคิดอีกว่า 3RS เสาเข็มเหล็กสามารถถอนและนำมาใช้ใหม่ในงานถัดไป (Reuse) สามารถตัด หรือเชื่อมใหม่ได้ตามความต้องการของงาน (Reduce) และเหล็กยังสามารถนำมาหลอมเป็นสินค้าใหม่ได้ 100% (Recycle) สิ่งเหล่านี้เราค่อย ๆ คิดและพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สามารถใช้งานวัสดุให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นมิตรต่อชุมชน
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าเราเดินมาทิศทางที่ถูกต้องในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับตัวให้เป็นธุรกิจสีเขียวมากยิ่งขึ้น
คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร กลยุทธ์ที่ยั่งยืน
คุณศันศนีย์ ได้ดำเนินการเรื่อง คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization :CFO) รับรองโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO รวมถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint Product ) ที่กำลังจะได้ในเร็ว ๆ นี้ และแม้ว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้างยังดำเนินการในด้านคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยมาก
แต่เมื่อพิจารณาว่าเมื่อผลิตภัณฑ์เข็มเหล็กที่เป็นนวัตกรรมสีเขียว กลยุทธ์ธุรกิจก็มุ่งสร้างจุดแข็งในด้านนี้ ทั้งมีความตั้งใจว่าจะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และสินค้าในหมวดคาร์บอนต่ำสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Low-Carbon Construction Product) ให้สอดคล้องต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อโลกและยั่งยืน
คุณประเสริฐ กล่าวว่า เข็มเหล็กทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่ใช่เพราะภาพลักษณ์ แต่ต้องการตรวจสอบกระบวนการทำงานขององค์กรว่ามีส่วนไหนบ้างที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เหมือนเราต้องการตรวจสุขภาพของธุรกิจด้วยว่ามีจุดไหนที่เราลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้บ้าง ใช้พลังงานส่วนไหนเกินความจำเป็น เพื่อหาแนวทางแก้ไข หรือทำให้ลดลง
ทั้งเมื่อทราบถึงต้นตอของปัญหา และแก้ไขแล้วองค์กรจะ Lean มากขึ้น ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดค่าใช้จ่าย คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จึงเป็นกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การสนับสนุนเรื่องการนำรถ EV มาใช้งานทดแทนรถที่ใช้น้ำมัน
กระนั้น แม้ลูกค้าในปัจจุบันยังตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องต้นทุนราคา ดังนั้นในแง่ของการประกอบธุรกิจ เรายังต้องทำราคาสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันได้ ข้อดีคือเข็มเหล็กเป็นโรงงานผลิต ผลิตเสาเข็มเหล็กต้นเดียวอาจมีต้นทุนสูง
แต่ปัจจุบันโรงงานมีกำลังผลิตถึง 3 ล้านต้นต่อปี เดิมผลิตเสาเข็มเหล็กต่อต้นใช้เวลา 10 นาที ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 40 วินาที จะเห็นว่ากระบวนการผลิตใช้เวลาน้อยลง ใช้พลังงานน้อยลง และเพิ่มจำนวนการผลิตต่อชิ้นได้มากขึ้น เรื่องราคาก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลง เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
รวมทั้งยังสามารถปรับปรุงกระบวนการ บริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ให้มีต้นทุนที่ลดลงได้ด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นกลยุทธ์ที่ยั่งยืน ทำให้มองย้อนกลับมาที่การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ทำให้เราทราบจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้กระบวนการมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เมื่อแจกแจงแล้วจะเห็นว่าการใช้เสาเข็มเหล็กไม่ได้มีต้นทุนที่สูงกว่าเสาเข็มแบบเดิม ทั้งปัจจุบันเรายังทำเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เป็นของแถมให้กับลูกค้าด้วย ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ดูแลโลกไปด้วยกัน
ทิศทางตลาดและการดำเนินธุรกิจ
คุณประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดในกลุ่มงานฐานรากแบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1. งานก่อสร้างรากฐาน (Foundation) ซึ่งจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งจะรับงานรายใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ 2. Light Weight Foundation เข็มเหล็กจัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยปีนี้เราตั้งใจว่าจะให้ฝ่ายวิศวกรรมของเราทดสอบเข็มเหล็กให้สามารถรับน้ำหนักได้ 300 ตันต่อต้น ซึ่งจากเดิมรับน้ำหนักได้ที่ 200 ตัน โดยขนาดนี้สามารถเป็นรากฐานของอาคารสูงถึง 8 ชั้น
สิ่งสำคัญคือเรามุ่งพัฒนาศักยภาพเพื่อท้าทายขีดความสามารถของตนเอง และพัฒนาไม่หยุดนิ่ง โดยใช้ทั้งนวัตกรรมและพลังของเครื่องจักรกลเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น เราพัฒนากระบวนการเพื่อให้สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงแก้ Pain Point ต่าง ๆ ให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง ขจัดปัญหาเดิม ๆ ให้หายไป
คุณศันศนีย์ กล่าวว่า พิจารณาว่า ตลาดต่างประเทศมีความน่าสนใจ และอยากนำพาธุรกิจเข็มเหล็กไปเปิดตลาดในต่างประเทศบ้าง เพื่อนำเสนอผลงานทางวิศวกรรมของคนไทยให้ต่างชาติได้รู้จัก เพราะจากที่ได้คลุกคลีในกระบวนการทำงานของเข็มเหล็กทำให้ตระหนักว่าเรามีทีมวิศวกที่มีความสามารถมาก ทำให้มองถึงความเป็นไปได้ที่จะนำสิ่งเหล่านี้ไปให้คนทั่วโลกได้รู้จักผ่านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อโลกของเข็มเหล็ก
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
โฆษณา