28 ต.ค. เวลา 08:30 • สิ่งแวดล้อม

Biomimicry สิ่งประดิษฐ์เลียนแบบธรรมชาติ แรงบันดาลใจสู่ธุรกิจยั่งยืน

(บทความจาก : กรุงไทย SME FOCUS Issue 44 คอลัมน์ SME Go Green)
การเอาตัวรอดเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นพืช มนุษย์ หรือสัตว์ ต่างก็ต้องอาศัยการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอด ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการลอกเลียนแบบ พฤติกรรมบางอย่าง หยิบยืมบางสิ่งมาใช้ก็สําคัญเหมือนกัน
มนุษย์เองถือว่าเป็นผู้หยิบยืมนับเบอร์วันของโลกก็ว่าได้ (ดูได้จากทรัพยากรที่ถูกยืมจนจะหมดโลกอยู่แล้ว) ในยุคที่ทรัพยากรเหลือน้อยนิด การหยิบเอาหลักการ "Biomimicry" หรือการเลียนแบบธรรมชาติมาใช้ อาจจะเป็นทางรอดของมนุษย์ในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมและสิ่งของต่าง ๆ ได้ดีกว่า
โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีให้หลังที่ทุกคนหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าวงการงานวิจัยและพัฒนาวัสดุต่าง ๆ หยิบเอาหลักการ Biomimicry มาใช้กันเยอะมาก เรียกได้ว่า เกิดขึ้นแทบจะทุกวันเลย หลายคนอาจจะมองว่าหลักการนี้ ดูห่างไกลตัวจนแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ความจริงของใช้หลายอย่างในชีวิตประจําวันเราก็มาจากการเลียนแบบธรรมชาตินี่แหละ
ภาพโดย Hans Benn จาก Pixabay
  • จากพืชในป่าสู่นวัตกรรมตีนตุ๊กแก แบรนด์ Velcro
ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ระดับตํานานอันโด่งดังที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี 1941 นั่นก็คือ ตีนตุ๊กแก แควกๆ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1941 โดยวิศวกรชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “เมล็ดหญ้าเจ้าชู้” ที่ติดอยู่ตามขนของน้องหมาหลังจากกลับจากการเดินป่า และเมื่อเขานําเมล็ดหญ้าเจ้าชู้ไปส่องดู ก็พบว่ามันมีเสี้ยนเล็ก ๆ ที่ปลายเป็นตะขอ จากนั้นเขาเลยหยิบเอาคุณสมบัตินี้มาพัฒนา และต่อยอดเป็นตีนตุ๊กแกไว้ใช้ยึดติดเสื้อผ้า จนประสบความสําเร็จและถูกใช้มานานถึง 30 ปี เห็นไหมล่ะว่า...ใกล้ตัวกว่าที่คิดเยอะเลย
ภาพโดย www.velcro.com
  • ซีเมนต์เลียนแบบ เปลือกหอย
แม้แต่ในปัจจุบันนักวิจัยก็ยังอาศัยการเลียนแบบธรรมชาติเพื่อนํามาพัฒนาวัสดุใหม่ ชนิดใหม่อยู่เรื่อย ๆ เช่น ซีเมนต์ที่เลียนแบบโครงสร้าง "Nacre" ที่เป็นแผ่นสีเงิน ๆ ในเปลือกหอยมุก โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันในสหรัฐอเมริกา ได้ทําการนําแผ่นเนเคอร์ไปส่องในกล้องจุลทรรศน์ และพบว่ามันเป็นวัสดุหลายชั้นซ้อนกัน โดยมีสารยืดหยุ่นอยู่ระหว่างแต่ละชั้น
ภาพโดย www.materialdistrict.com
จากนั้นพวกเขาได้ทดลอง สร้างซีเมนต์ให้เป็นชั้น ๆ สลับกับโพลีเมอร์ที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งก็คือ Polyvinyl Siloxane(PVS) เพื่อเลียนแบบโครงสร้างของเนเคอร์นั่นเอง
ภาพโดย www.materialdistrict.com
Biomimicry ไม่เพียงเป็นการลอกเลียนแบบ ธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้ และพยายามทําความเข้าใจถึงกลไก และกระบวนการของธรรมชาติที่มีวิวัฒนาการมานานหลายศตวรรษ ดังนั้น การนําเอาความชาญฉลาดของธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมไม่เพียงแต่จะตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนําไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย
จากนี้ถ้าใครอยากได้ไอเดียเพื่อนําไปต่อยอดธุรกิจหรือสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อาจจะต้องหนีเข้าป่า ไปสํารวจธรรมชาติรอบตัวแล้วล่ะ ไม่แน่นะ คุณอาจเจอสิ่งมีชีวิตที่เป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจของคุณก็ได้
โฆษณา