28 ต.ค. เวลา 08:50 • ธุรกิจ

ส่องอนาคต “กลไกทางคาร์บอน” โอกาสภาคธุรกิจไทย เครื่องมือไปสู่เป้าหมาย Net Zero เร็วขึ้น (Part 1)

ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก เป็นตัวเพิ่มความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้จากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทางภาคเหนือของไทยรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี
ซึ่งทวีความรุนแรงจากอดีตอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก ล้วนเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าเราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ภาคธุรกิจควรต้องเริ่มลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเองให้มากที่สุดก่อน หลังจากนั้น กลไกอย่าง ตลาดคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Market) จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่ตั้งไว้
วันนี้เราจะมาอัพเดท สถานการณ์และการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในไทยและต่างประเทศว่าเติบโตไปถึงไหนแล้ว มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการมากน้อยขนาดไหน และคาร์บอนเครดิตแบบไหนที่มีการซื้อขายในไทยมากที่สุด และเขามีหลักเกณฑ์ในการประเมินและคำนวณอย่างไร ติดตามข้อมูลดี ๆ ได้ในบทความนี้
มาตรการเข้มงวดสิ่งแวดล้อม กระตุ้นความต้องการ คาร์บอนเครดิต
ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และได้จัดตั้งกลไกคาร์บอนเครดิตอย่างแพร่หลายในแต่ละประเทศ จากข้อมูล State and Trends of Carbon Pricing 2023 ของธนาคารโลก ระบุว่า แนวโน้มคาร์บอนเครดิตทั่วโลกจะมีปริมาณเติบโตขึ้นในช่วงปี 2561-2565 อยู่ที่ 475 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) โดยเป็นคาร์บอนเครดิตที่มาจากการรับรองมาตรฐานของเอกชนมากที่สุด โดยมีกลไกด้านภาษีคาร์บอนเป็นตัวผลักดันให้เกิดความต้องการที่สูงขึ้น
ขณะที่ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของประเทศไทย ชี้ว่า อุปสงค์หรือความต้องการคาร์บอนเครดิตในไทยจะอยู่ที่ราว 182-197 MtCO2e/ปี ในปี 2050 จากความต้องการชดเชยคาร์บอนขององค์กรต่าง ๆ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประเทศในทวีปยุโรปเริ่มออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน อย่างเช่น CBAM ทำให้ผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ มีการวัดปริมาณคาร์บอนของสินค้า และการชดเชยคาร์บอน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศ
ด้านอุปทาน ตลาดคาร์บอนของไทยอาจประสบปัญหาขาดแคลนในอนาคต ยืนยันด้วยตัวเลขคาร์บอนเครดิตที่คาดว่าจะผลิตได้ในปี 2050 อยู่ที่เพียง 6.86 MtCO2e/ปี สาเหตุเพราะโครงการคาร์บอนเครดิตมีต้นทุนสูงในขณะที่ราคาขายยังอยู่ในระดับต่ำ ไม่เอื้อต่อผู้เล่นรายย่อยในตลาด จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลราคาที่เหมาะสม และการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยภาษีคาร์บอนจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดความต้องการคาร์บอนเครดิตที่สูงขึ้น
การเติบโตของมูลค่าตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลก
ทั้งนี้ โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Emissions Trading Schemes) เป็นเครื่องมือทางตลาด เพื่อจูงใจให้ทั่วโลกลดหรือจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีการจำกัดปริมาณคาร์บอนที่ประเทศหรือบริษัทสามารถปล่อยได้ โดยหากประเทศหรือบริษัทนั้น ๆ ปล่อยคาร์บอนเกินขีดจำกัด ก็สามารถซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้อื่นได้
ทั้งนี้ ทีมนักวิเคราะห์จาก Refinitiv เผยว่า มูลค่าตลาดซื้อขายคาร์บอนคาร์บอนเครดิตทั่วโลกในปี 2022 สูงถึง 900,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนราว 12.5 พันล้านตัน แม้ปริมาณการซื้อขายลดลง 20% เนื่องจากราคาคาร์บอนเครดิตสูงขึ้นมาก แต่มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งเติบโตอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2020 ที่มีมูลค่าตลาดซื้อขายคาร์บอนคาร์บอนเครดิตเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ และเติบโตเร็วกว่าที่มีการคาดกาณณ์ไว้หลายเท่าตัว ว่า ในปี 2030 มูลค่าตลาดจะสูงประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปัจจุบันตลาดคาร์บอนที่ครองแชมป์มูลค่าสูงสุดและใหญ่ที่สุดในโลกคือ ระบบการซื้อขายการปล่อยมลพิษของสหภาพยุโรป (EU ETS) ซึ่งเปิดตัวในปี 2005 ซึ่งในปีที่แล้วมีมูลค่าประมาณ 7.51 แสนล้านยูโร เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนหน้า และคิดเป็น 87% ของตลาดทั่วโลก โดยราคาคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยใน EU ETS อยู่ที่ 80 ยูโรต่อตันในปีที่แล้ว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 50%
ส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นหลังสงครามในยูเครน ส่วนคาร์บอนเครดิตในตลาดอังกฤษและอเมริกาเหนือก็มีราคาสูงกว่าในปี 2023 เช่นกัน ขณะที่ตลาดคาร์บอนจีนหดตัว 60%
ทั้งนี้ เมื่อปี 2023 ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปยังได้ปฏิรูป EU ETS ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการคุมเข้มนโยบายด้านสภาพอากาศ และตกลงที่จะลดเครดิตในระบบ ซึ่งส่งผลทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน
สำหรับตลาดคาร์บอนระดับภูมิภาคอีก 2 แห่งในอเมริกาเหนือ ได้แก่ Western Climate Initiative และ Regional Greenhouse Gas Initiative มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 60,000 ล้านยูโร
ตามรายงานล่าสุดของ World Bank (2024) มูลค่าของตลาดคาร์บอนทั่วโลก (Global Carbon Pricing Revenue) แตะระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 โดยครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 24% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดคาร์บอน
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในตลาดคาร์บอน
เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Blockchain และ AI กำลังถูกนำมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพ เพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการติดตามและตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อ-ขาย-ถ่ายโอน ส่วนการเชื่อมโยงระหว่างตลาดคาร์บอนและนโยบายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างตลาดคาร์บอนและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มากขึ้น เช่น นโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกที่กว้างมากขึ้น
ตลาดคาร์บอนเครดิตไทย เติบโตถึงไหนแล้ว
ท่ามกลางการตื่นตัวทั่วโลกในการเร่งลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยก็กำลังมุ่งพัฒนา ‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก ในฐานะกลไกช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ที่ภาคเอกชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยเติบโตขึ้น 5-10 เท่าตัว พบว่า ปัจจุบันมีหลายองค์กรเริ่มประกาศเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) อย่างชัดเจน
โดยปัจจุบันตลาดคาร์บอนหลักของไทยที่มีการเติบโตมากที่สุดคือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ระบุว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน มีที่ขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 438 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 434 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 169 โครงการ
ทั้งนี้ มาจากแบบ Standard T-VER เท่านั้น โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 19.53 MtCO2eq ขณะที่เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดมิถุนายน 2567 มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในตลาดแรกและตลาดรอง จำนวนกว่า 3.42 MtCO2eq มูลค่าซื้อขายรวมกว่า 299 ล้านบาท
ซึ่งมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 เติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวจากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะปรับใช้ในอนาคตที่จะถึงนี้
โดยในช่วงปี 2559-2565 ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทยเติบโตขึ้น 144% โดยปัจจุบันการการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต มีมูลค่า 128 ล้านบาท ในขณะที่ราคาการซื้อขายก็สูงขึ้นถึง 131% โดยมีราคาซื้อขายเฉลี่ยที่ 332 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า (tCO2eq) จากเมื่อปี 61 มีราคาซื้อขายเฉลี่ยเพียง 21 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก
บทบาทของตลาดคาร์บอนในประเทศไทย
ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่าน โดยตั้งเป้าหมายระยะกลางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปีฐาน (ONEP, 2022) ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการดำเนินการกับระยะเวลาที่เหลือแล้ว ตลาดคาร์บอนจึงเป็นกลไกสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ทันเวลา ผ่านการดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ดังนี้
• การพัฒนาตลาดคาร์บอนภายในประเทศ
ประเทศไทยเริ่มพัฒนาตลาดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2021 เพื่อเป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกบางส่วนผ่านกลไกตลาดในการระดมทุน โดยสามารถแบ่งตลาดคาร์บอนได้ 3 รูปแบบ ดังนี้
1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Compliance Carbon Market)
 จุดประสงค์: เพื่อพัฒนาโครงการการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก'ตามเป้าหมาย NDCs ภายในประเทศ'
 ระบบการดำเนินการ: ระบบซื้อขายสิทธิ/ใบอนุญาตในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap-and-Trade System)
 การซื้อ-ขาย: บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าเพดานที่รัฐกำหนด ต้องเข้าร่วมตลาดคาร์บอนภาคบังคับเพื่อซื้อใบอนุญาตฯในการชดเชยส่วนที่ปล่อยเกิน
 แนวทาง: บริษัทจะได้รับสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้ระบบซื้อขาย ETS ที่สามารถใช้คาร์บอนเครดิตจากโครงการอื่น เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองได้
2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)
 จุดประสงค์: เพื่อพัฒนาโครงการการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก 'ตามเป้าหมายแต่ละองค์กร'
 ระบบการดำเนินการ: ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit System)
 การซื้อ-ขาย: บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าเกณฑ์ที่รัฐกำหนด สามารถเข้าร่วมตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจได้ โดยจะมีกระบวนการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/ดูดซับได้ของโครงการที่พัฒนาขึ้นมา และแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตสำหรับใช้ในตลาดคาร์บอน เพื่อระดมทุนพัฒนาธุรกิจต่อไป
 แนวทาง: ผู้ซื้อจะเป็นผู้ได้ถือครองสิทธิ์/ ใบอนุญาตการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการนั้น ๆ และเป็นผู้สนับสนุนโครงการให้ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกต่อไปได้
3. ตลาดคาร์บอนระหว่างประเทศ (Article 6 Carbon Market)
 จุดประสงค์: เพื่อพัฒนาโครงการการลด/ดูดซับก๊าซเรือนกระจก 'และบรรลุเป้าหมาย NDCs ของประเทศนั้น ๆ ร่วมกัน
 ระบบการดำเนินการ: ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit System)
 การซื้อ-ขาย: มี UNFCCC เป็นผู้กำกับดูแล ตรวจสอบ และรับรองการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
 แนวทาง: การซื้อขายโครงการคาร์บอนเครดิตภายใต้ Article 6 ต้องได้รับการอนุมัติให้มีการถ่ายโอนเครดิตระดับประเทศ (ITMOs) ก่อน
การยกระดับความน่าเชื่อถือของตลาดคาร์บอน-ระบบคาร์บอนเครดิตไทย
ประเทศไทยมีมาตรฐานการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ทั้งในระดับ Standard และ Premium ที่ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงพัฒนาความสามารถที่จะได้รับการประเมินเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อแปลงเป็นคาร์บอนเครดิตที่ใช้ในการแลกเปลี่ยน ถ่ายโอน หรือซื้อขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจได้
สำหรับโครงการ T-VER ในภาคเกษตรกรรม ภาคป่าไม้ และภาคขนส่ง แม้จะยังมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองไม่มากนัก แต่มีตัวอย่างโครงการขึ้นทะเบียนแล้วที่น่าสนใจ ดังนี้
ภาคขนส่ง เช่น การเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ E-Bus สำหรับรับส่งพนักงานของ บริษัท เอสซีจีเคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และรถสามล้อไฟฟ้า ของบริษัท มูฟมี ฮีโร่ จำกัด รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพทดแทนน้ำมันดีเซล/เบนซินชนิดพื้นฐานของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)
ภาคการเกษตร เช่น โครงการกักเก็บและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสวนยางพารา ของบริษัท ศรีตรัง รับเบอร์ แอนด์ แพลนเทชั่น จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ และสุโขทัย13/ นอกจากนี้แนวทางสร้างคาร์บอนเครดิตในภาคเกษตรยังทำได้โดยการทำนาลดโลกร้อน การใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี และการปลูกพืชเกษตรยืนต้น
ภาคป่าไม้และพื้นที่สีเขียว มีโครงการที่ได้รับการรับรองเครดิตปริมาณมากที่สุดขณะนี้อยู่ในจังหวัดแพร่ ในขณะที่โครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ในเชียงรายและน่านที่ขึ้นทะเบียนแล้ว คาดว่าจะกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากเช่นกัน ปัจจุบันโครงการป่าไม้ได้รับการผลักดันมากขึ้นเพราะมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้สูงและสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ดำเนินโครงการหรือชุมชนที่ร่วมพัฒนาโครงการด้วย
คาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายในไทยสูงที่สุด
สำหรับคาร์บอนเครดิตที่มีการซื้อขายสูงที่สุดในไทย คือ คาร์บอนเครดิตจากโครงการประเภทป่าไม้ ซึ่งมีราคาซื้อขายพุ่งสูงสุดถึง 2,000 บาท/tCO2e* ถือว่าสูงขึ้นกว่า 10 เท่าในเวลาไม่ถึง 7 ปี และมีราคาแซงหน้าคาร์บอนเครดิตจากโครงการด้านอื่น ๆ เช่น โครงการพลังงานชีวมวล ชีวภาพ หรือแสงอาทิตย์ไปหลายเท่าตัว โดยมีราคาเครดิตจากป่าไม้เฉลี่ยอยู่ที่ 173 บาท/tCO2e ขณะที่พลังงานชีวมวลมีราคาเฉลี่ยเพียง 36 บาท/tCO2e เท่านั้น
*** tCO2e หมายถึง ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นหน่วยในการวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สามารถลดได้หรือถูกดูดกลับจากกิจกรรมลดคาร์บอนต่าง ๆ
ศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนในของไทย
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ระบุว่า ผลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครั้งล่าสุด ปี 2018 พบว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดกว่า 370 ล้านตัน และสามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ 86 ล้านตัน เท่ากับว่า ปล่อยสุทธิอยู่ประมาณ สองร้อยล้านกว่า ซึ่งต้องเอาเรื่องดังกล่าวไปรายงานต่อที่ประชุมนานาชาติว่า แต่ละปีแต่ละประเทศปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่บ้าง ตอนนี้ไทยอยู่ในลำดับที่ 19-20 จากทั่วโลก
แต่เราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับ 9 ของโลก เพราะภูมิศาสตร์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรที่มีความอ่อนไหวสูง สำหรับในประเทศเราพยายามส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีการวางแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนทุกระดับ
โดยศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนในของไทย มาจากป่าชายเลน ป่าธรรมชาติ ป่าในเมือง มีการประเมินว่าหากได้รับการฟื้นฟู และเติมพื้นที่ป่าต่างๆ เข้าไปอีก จะสามารถดูดซับได้สูงสุด 120 ล้านตันคาร์บอน ขณะเดียวกันก็ต้องไปลดการปล่อยคาร์บอนจากต้นทางด้วย ทั้งเรื่องของพลังงานไฟฟ้า อุตสาหกรรม และภาคการเกษตร
ซึ่งปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ก็ได้มีข้อกำหนดแล้วว่าแต่ละองค์กรที่ขึ้นทะเบียนจะต้องทำรายงานการปล่อยคาร์บอน ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนภายในหน่วยงานแต่ละแห่งด้วย แม้แต่การขายของจะต้องมีการประเมินว่ากว่าจะผลิตออกมามีต้นทุนทางทรัพยากรอย่างไร ปล่อยคาร์บอนเท่าไหร่ หรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะต้องรายงานเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งหมดนี้ อบก. จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการประเมิน
“คาร์บอนเครดิต” เครื่องมือสำคัญไปสู่เป้าหมาย Net Zero เร็วขึ้น
การพัฒนาตลาดคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย และการส่งเสริมภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยสร้างแรงจูงใจทางการเงินและระดมเงินทุนสนับสนุนให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ
ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจก และโครงการด้านความยั่งยืน (Sustainability) อื่น ๆ แม้จะมีความท้าทายในการดำเนินการอยู่บ้าง แต่เมื่อพิจารณาประโยชน์ที่ได้รับจากตลาดคาร์บอนเครดิต ที่ยกระดับความน่าเชื่อถือเพื่อช่วยขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทยในเวทีระดับโลกแล้ว ก็นับว่าคุ้มค่าอย่างมาก
ในบทความครั้งต่อไป เราจะมาเจาะลึกกันว่า คาร์บอนเครดิต ทำไม? ถึงเป็นโอกาสและความท้าทายที่ผู้ประกอบการ SME ต้องรู้และต้องรีบทำ เพราะถ้าไม่เริ่มตอนนี้ อาจสายเกินไป! ในการไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างยั่งยืน
โฆษณา