Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Right Style by Bom+
•
ติดตาม
28 ต.ค. เวลา 09:34 • การเมือง
“แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เลบานอนมีโอกาสสลัดจากอิทธิพลของอิหร่านได้หรือไม่?
หลังฮิซบอลเลาะห์ถูกโจมตีหนัก ผู้นำกลุ่มถูกสังหารสองคนรวด
ในช่วงเดือนที่ผ่านมากองทัพอิสราเอลสามารถกำจัดผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ “ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์” รวมถึงผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาอีก 2 ขั้นได้สำเร็จ รวมถึงผู้นำระดับสูงหลายคน เหตุการณ์ดังกล่าวอาจพลิกโฉมดุลอำนาจในเลบานอน และรวมถึงตะวันออกกลางโดยรวมได้หรือไม่ เมื่อฮิซบอลเลาะห์อ่อนแอลง โอกาสที่ผู้นำทางการเมืองในกรุงเบรุตจะคืนอำนาจให้กับประเทศของตนภายใต้ระบบการปกครองแบบรัฐที่มีศาสนานำ แต่หากล้มเหลวพวกเขาก็อยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมืองครั้งใหม่
1
เครดิตภาพ: Peter Schrank / The Economist
■
ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา “ปัญหาปาเลสไตน์” ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองในเลบานอน ในช่วงต้นทศวรรษปี 1970 ที่นี่กลายเป็นฐานที่มั่นขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ซึ่งบุกเข้าไปในอิสราเอลจากดินแดนเลบานอน กองกำลังทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคริสเตียนในเลบานอนตอนใต้ รู้สึกไม่พอใจที่ PLO เข้ามามีบทบาท
1
ในปี 1975 การปะทะกันในกรุงเบรุตระหว่างนักรบชาวปาเลสไตน์และกลุ่มคริสเตียนเลบานอนหรือ Kataeb (กลุ่มฟาลานซ์เลบานอน) ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองที่ท้ายที่สุดแล้วเกี่ยวข้องกับกองกำลังทางการเมืองต่างๆ ของเลบานอนทั้งหมด
สงครามกลางเมืองนองเลือดที่ยาวนานถึง 15 ปี (1975 – 1990) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน อิสราเอลยึดครองเลบานอนตอนใต้ และซีเรียเกือบควบคุมดินแดนที่เหลือของเลบานอนได้ทั้งหมด ผลที่ตามมาของสงครามครั้งนั้นยังคงมีความเกี่ยวข้องมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง: [1]
เครดิตภาพ: Ali Kazak Collection / Palestinian Museum Digital Archive
สถานการณ์กำลังเกิดขึ้นซ้ำรอยอีกครั้ง ในการตอบโต้ต่อการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 อิสราเอลได้เปิดปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา ในทางกลับกันฮามาสได้เรียกร้องให้กองกำลังพันธมิตรทั้งหมดเข้าร่วมต่อสู้กับอิสราเอลซึ่งรวมถึงกลุ่มฮูตีในเยเมน กลุ่มกองกำลังชีอะฮ์ต่างๆ ของอิรัก และฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน (ซึ่งทั้งหมดมีอิหร่านเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง)
ฮิซบอลเลาะห์ได้ระบุว่าการโจมตีจะยังคงดำเนินต่อไปจนกว่าอิสราเอลจะยุติสงครามในฉนวนกาซา อิสราเอลตอบโต้ในลักษณะเดียวกัน แต่เกือบหนึ่งปีที่ไม่มีฝ่ายใดข้าม “เส้นแดง” ของอีกฝ่าย
2
จุดเปลี่ยนน่าจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2024 เมื่อการโจมตีของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ทำให้เด็กและวัยรุ่นชาวอิสราเอลเสียชีวิต 12 รายในเมืองมัจดัลชามส์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวดรูซในเขตที่ราบสูงโกลัน เพื่อเป็นการตอบโต้อิสราเอลสั่งโจมตีที่ชานเมืองทางใต้ของเบรุตเมื่อ 30 กรกฎาคม 2024 และได้สังหารผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ “ฟูอัด ชุคร์” ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีของที่ราบสูงโกลัน
วันรุ่งขึ้นมีข่าวจากเตหะรานในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของเปเซชเคียนประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านเกี่ยวกับการลอบสังหาร “อิสมาอิล ฮานิเยห์” หัวหน้าฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส ไม่มีใครในภูมิภาคนี้สงสัยว่าต้องเป็นอิสราเอลที่เป็นผู้เริ่มปฏิบัติการนี้ที่เตหะราน แม้ว่ากองกำลังต่อต้านอิสราเอลจะเรียกร้องให้ตอบโต้ทันที แต่อิหร่านก็ยังไม่ต้องการจุดชนวนสงครามครั้งใหญ่
1
ผู้ไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศได้ทำงานกันมาหลายเดือนเพื่อป้องกันการเผชิญหน้ากันเต็มรูปแบบในตะวันออกกลาง เมื่อเมษายนปีนี้อิหร่านยิงจรวดและปล่อยโดรนจำนวนหนึ่งไปยังดินแดนของอิสราเอลเพื่อตอบโต้การลอบสังหารนายพลของ IRGC สหรัฐฯ ได้โน้มน้าวให้อิสราเอลอดทน วอชิงตันพยายามโน้มน้าวอิสราเอลไม่ให้เพิ่มระดับความรุนแรงกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เช่นกัน อย่างไรก็ตามอย่างน้อยเท่าที่เกี่ยวข้องกับเลบานอน ความพยายามในช่วงหลังนี้ล้มเหลว
ในช่วงกลางเดือนกันยายนปีนี้ผู้นำอิสราเอลตัดสินใจทำทุกวิถีทางเพื่อให้ชาวยิวตอนเหนือที่อพยพมาเกือบปีสามารถกลับบ้านได้ การเผชิญหน้ากับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามชายแดนก็ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ในสัปดาห์ต่อมาอิสราเอลสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกับฮิซบอลเลาะห์ โดยสังหารผู้บัญชาการทหารหลายคน รวมถึง “ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์” ผู้นำของกลุ่ม ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้แต่สงครามเลบานอนครั้งที่สองในปี 2006 ก็ยังไม่มีการโจมตีสังหารถึงระดับผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์โดยตรง
1
สงครามตะวันออกกลางครั้งใหม่นี้จะจบลงอย่างไร อิสราเอลจะไปได้ไกลแค่ไหน จนถึงตอนนี้วอชิงตันดูเหมือนจะไม่สนใจการปราบปรามกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของอิสราเอลเท่าไหร่แล้ว ในความเป็นจริงอเมริกาและพันธมิตรดูเหมือนจะหวังว่าการกระทำของอิสราเอลจะส่งผลให้อิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคลดลงซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก
เครดิตภาพ: Iranian Supreme Leader´s Office / ZUMA Wire / IMAGO, Shir Torem / Pool Flash 90 / AP / dpa, Menahem Kahana / AFP, LysenkoAlexander / iStockphoto / Getty Images
■
การผงาดขึ้นและการเสื่อมถอยสลายของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
ฮิซบอลเลาะห์ก่อตั้งขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ท่ามกลางสงครามกลางเมืองในเลบานอน โดยกลุ่มผู้นำชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากอิหร่าน ภายในทศวรรษ 2020 มีการประเมินว่าฮิซบอลเลาะห์มีนักรบในกลุ่มประมาณ 100,000 คน ตั้งแต่กองกำลังอิสราเอลถอนทัพฝ่ายเดียวออกมาในปี 2000 ฮิซบอลเลาะห์ได้เข้ามาควบคุมเลบานอนตอนใต้ไว้เกือบทั้งหมด – อ้างอิง: [2]
เครื่องมือหลักของฮิซบอลเลาะห์ที่ใช้มีอิทธิพลต่อการเมืองภายในเลบานอนคือ การมีส่วนร่วมของกับชุมชนชาวชีอะห์ผ่านความช่วยเหลือด้านการกุศล โปรแกรมการศึกษาสำหรับเด็ก และบริการด้านการดูแลสุขภาพ ในพื้นที่ทางใต้ของเลบานอน ชานเมืองทางใต้ของเบรุต และหุบเขาเบกาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรชีอะห์เป็นส่วนใหญ่ จนพัฒนาเป็นพื้นที่ที่เกือบจะปกครองตนเองได้ โดยมีกองกำลังเป็นของตนเอง ในระดับการปกครองภาพใหญ่ฮิซบอลเลาะห์ส่งเสริมวาระของตนผ่านรัฐมนตรีที่ภักดี โดยสร้างพันธมิตรกับกลุ่มก้อนการเมืองมากมาย
เครดิตภาพ: Reuters
ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าตามการจัดอันดับที่เผยแพร่โดย Forbes Israel ฮิซบอลเลาะห์อยู่ในอันดับองค์กรก่อการร้ายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ในช่วงต้นปี 2022 ฮิซบอลเลาะห์อยู่ในอันดับที่สาม รองจากตาลีบันและฮูตี โดยมีรายได้ประจำปี 1.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่างบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเลบานอนสำหรับปีนั้นเสียอีก - อ้างอิง: [3][4]
การสนับสนุนทางการเงินเริ่มแรกของฮิซบอลเลาะห์มาจากอิหร่าน ซึ่งจัดสรรเงินประมาณ 700-800 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับ กลุ่มพันธมิตรชีอะห์ในเลบานอน นอกจากนี้อิหร่านยังจัดหาน้ำมัน อาหาร และยาให้กับฮิซบอลเลาะห์ ทำให้สถานะของกลุ่มภายในเลบานอนแข็งแกร่งขึ้น - อ้างอิง: [5]
แหล่งรายได้อีกทางหนึ่งของฮิซบอลเลาะห์คือตัวแทนการค้ายาเสพติดจากละตินอเมริกาเข้ามายังยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงสินค้าปลอมแปลง การค้าอาวุธ และการลักลอบขนเพชรและสินค้าอื่นๆ เงินถูกฟอกผ่านองค์กรการกุศล บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ และบริษัทอื่นๆ ภายในอาณาจักรการเงินของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
อิทธิพลจากต่างประเทศและการบริหารจัดการภายในประเทศเลบานอนที่ผิดพลาดเป็นปัจจัยร่วมกันที่ทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เติบโตได้ และทำให้รัฐบาลเลบานอนเกือบล่มสลายหลายครั้ง
เครดิตภาพ: Forbes Israel
■
วิกฤตการณ์ทางการเมืองในเลบานอน
คลื่นการประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2019 หลังจากรัฐบาลเลบานอนมีการนำภาษีใหม่มาใช้เพื่ออุดช่องโหว่ในงบประมาณ ฟางเส้นสุดท้ายสำหรับสังคมเลบานอนคือภาษีการใช้ WhatsApp การประท้วงกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างรวดเร็ว แผ่ขยายไปทั่วเมืองใหญ่ทุกแห่งตั้งแต่เหนือจรดใต้ และสิ้นสุดลงด้วยการลาออกของนายกรัฐมนตรีซาอัด ฮารีรี การประท้วงกินเวลาเพียงปีเดียว - อ้างอิง: [6]
ดูเหมือนสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก สิงหาคม 2020 เกิดเหตุระเบิดที่ท่าเรือในเบรุต ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายพันคน คลื่นระเบิดทำลายอาคารหลายสิบหลัง และหน้าต่างและประตูของอาคารอีกนับไม่ถ้วนก็พังเสียหาย สาเหตุของการระเบิดครั้งนี้คือแอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตันที่เก็บไว้ในโกดังหลังจากถูกกรมศุลกากรยึดในปี 2014
นานาชาติแสดงความเต็มใจที่จะช่วยเหลือเลบานอนในการทำความสะอาดและฟื้นฟู แต่ในทางกลับกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลเลบานอนทำการปฏิรูปเศรษฐกิจรวมถึงการปราบปรามการทุจริต - อ้างอิง: [7]
เลบานอนมีอัตราเงินเฟ้อสูงมากติดอันดับต้นๆ ของโลกไม่แพ้ซิมบับเว มีความหวังว่าเลบานอนจะหลุดพ้นจากวัฏจักรนี้ได้หลังจากการเลือกตั้งในพฤษภาคม 2022 แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็ล่าช้าอีกครั้ง เนื่องจากเหล่านักการเมืองแข่งขันกันเพื่อชิงตำแหน่งรัฐมนตรี
ระบบการจัดตั้งรัฐบาลของเลบานอนมีความซับซ้อนเนื่องจากมีการแบ่งอำนาจทางการเมืองตามสายของศาสนา ประธานาธิบดีเลบานอนมาจากกลุ่มคริสเตียนมารอนิเตเสมอ นายกรัฐมนตรีเป็นซุนนี และประธานรัฐสภาเป็นชีอะห์ นอกจากนี้ยังต้องรักษาสมดุลในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ดังนั้นการจัดตั้งรัฐบาลจึงได้รับการตัดสินใจในช่วงการเจรจาที่ยาวนานซึ่งเกี่ยวข้องกับค่ายการเมืองที่หลากหลาย
ฮิซบอลเลาะห์มีอิทธิพลทางการเมืองสูงมากในเลบานอน พวกเขาสามารถยับยั้งคนที่จะเข้ามารับตำแหน่งได้หากไม่เป็นมิตรกับพวกตน ความพยายามครั้งล่าสุดในการเลือกประธานาธิบดีของประเทศเกิดขึ้นในมิถุนายน 2023 หลังจากนั้นสงครามในตะวันออกกลางก็ทำให้ประเด็นนี้ถูกมองข้ามไป อย่างไรก็ตามขณะนี้ที่เลบานอนกำลังเผชิญกับสงครามครั้งใหม่ การไม่มีประธานาธิบดีของประเทศจึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างหนัก
1
■
เรียกร้องให้มีประธานาธิบดี
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Axios สื่อของอเมริกาอ้างแหล่งข่าวในวอชิงตันรายงานว่า ทำเนียบขาวพยายามใช้ประโยชน์จากการโจมตีอย่างหนักของอิสราเอลต่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยผลักดันให้มีวาระการเลือกตั้งประธานาธิบดีเลบานอน (วอชิงตันมองว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้อำนาจยับยั้งไม่ให้ใครขึ้นมานั่งเป็นประธานาธิบดีเลบานอนคนต่อไป) ซึ่งมันจะไม่ส่งผลดีต่อผลประโยชน์ของกลุ่มชีอะห์และพันธมิตรในเลบานอน - อ้างอิง: [8]
✓
ตามรัฐธรรมนูญของเลบานอนซึ่งเป็นสาธารณรัฐที่มีรัฐสภา เป็นสิทธิพิเศษของนายกรัฐมนตรีในการจัดการกับประเด็นนโยบายในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงการเจรจาและข้อตกลงระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังต้องมีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าสภาป้องกันสูงสุดและเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด หากไม่มีลายเซ็นของประธานาธิบดี รัฐบาลก็ไม่มีอำนาจในการเจรจาหยุดยิง
สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และประเทศอาหรับหลายประเทศหวังว่าจะได้เห็นผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธเลบานอนคนปัจจุบัน “นายพลโจเซฟ อูน” ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเลบานอนและเป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างสถานะของกองทัพเลบานอนในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของประเทศหลังสงครามในตะวันออกกลาง - อ้างอิง: [9]
ในขณะนี้กองทัพเลบานอนเป็นหน่วยงานเดียวที่ยังคงได้รับความไว้วางใจจากประชาชน แต่ทว่ายังไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะเผชิญหน้าจังจังกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ วิกฤตเศรษฐกิจกลายเป็นวิกฤตสำหรับกองทัพ และบุคลากรทางทหารของเลบานอนได้รับเงินเดือนก็ต่อเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากกาตาร์เท่านั้น โดฮาได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่พวกเขาด้วย - อ้างอิง: [10]
นายพลโจเซฟ อูน ที่ถูกคาดหวังให้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของเลบานอนคนต่อไป เครดิตภาพ: mtv Lebanon
แต่ยังมีอุปสรรคอยู่ นาบีห์ เบอร์รี ประธานรัฐสภาเลบานอนและผู้นำขบวนการอามาลที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางระหว่างกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กับกลุ่มต่างชาติ การลงคะแนนเสียงของเขาจะกำหนดว่าใครจะได้รับการเลือกเป็นประธานาธิบดี ซึ่งแน่นอนว่าเขาก็สกัดกั้นไม่ให้คนที่ฝ่ายตนเองไม่สนับสนุนได้ขึ้นมาเป็น
แน่นอนว่าหากไม่มีความช่วยเหลือจากต่างประเทศก็จะไม่มีเงินทุนสำหรับการฟื้นฟูเลบานอนหลังสงคราม สหรัฐฯ ได้แสดงความปรารถนาอย่างชัดเจนแล้วว่าจะจำกัดอิทธิพลของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยระบุว่าวอชิงตันจะไม่แทรกแซงการกระทำของอิสราเอลในเลบานอน จนกว่าเบรุตจะจัดการเรื่องการเมืองในประเทศให้เรียบร้อย
แน่นอนว่ากลุ่มฮิซบอลเลาะห์ต้องการผู้มาแทนที่ผู้บัญชาการระดับสูงและระดับกลางที่เพิ่งถูกสังหารไปอย่างเร่งด่วน โดยยังไม่รวมถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาผู้มาแทนที่นัสรัลเลาะห์ สมาชิกที่ยังคงเหลือในสภาที่ปรึกษาซึ่งเป็นหน่วยงานสูงสุดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ไม่สามารถจัดประชุมเลือกได้เนื่องจากกลัวการโจมตีของอิสราเอล (ซ้ำรอย) หากการสู้รบยังคงดำเนินต่อไป ความสูญเสียของกลุ่มจะยิ่งเลวร้ายลง
■
บทบาทระหว่าง “ซีเรีย” กับ “อิหร่าน”
ช่วงนี้ข่าวแลดูซาไปสำหรับฮิซบอลเลาะห์ แต่พวกเขาก็ยังไม่แสดงความตั้งใจที่จะถอนตัวออกจากเวทีการเมืองของเลบานอนแต่อย่างใด ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามในเลบานอนก็ยังคงแตกแยกและอ่อนแออยู่ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เลยยังคงเป็นตัวแทนของชุมชนชีอะห์ส่วนใหญ่ในเลบานอน แม้ว่าทัศนคติจะเริ่มสั่นคลอนเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม
เรื่องราวมันเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วสำหรับความไม่พอใจลึกๆ ที่สะสมไว้อยู่ หลังจากที่ฮิซบอลเลาะห์ตัดสินใจสนับสนุนเข้าร่วมการต่อสู้ของ “บาชาร์ อัล-อัสซาด” เพื่อรักษาอำนาจของเขาไว้ในซีเรียช่วงทศวรรษ 2010 ส่งผลให้นักรบชาวเลบานอนหลายร้อยคนต้องล้มตายในซีเรีย นักรบเหล่านี้หลายคนพบว่าตนเองอยู่แนวหน้าโดยไม่เต็มใจ - อ้างอิง: [11]
บาชาร์ อัล-อัสซาด กับ ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ เครดิตภาพ: Flickr
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในเลบานอนและในภูมิภาครวมถึงสถานะของฮิซบอลเลาะห์เมื่อสิ้นสุดสงคราม ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ปัจจัยเรื่องอิหร่านยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ
อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนเองก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าข้างฝ่ายอิสราเอลได้ แม้แต่ชาวเลบานอนที่ตำหนิกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่ว่าเป็นผู้ลากเลบานอนเข้าสู่สงครามครั้งใหม่ก่อให้เกิดความหายนะและมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน รวมถึงเรื่องเก่าๆ อย่างที่เกริ่นมาเช่น การเปลี่ยนเลบานอนให้กลายเป็นหุ่นเชิดของซีเรียและอิหร่าน ความรับผิดชอบในเหตุระเบิดที่ท่าเรือเบรุต หรือการสกัดกั้นทางการเมืองในประเทศ พวกเขาก็ยังมองว่าอิสราเอลต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามมากมายเช่นกันด้วยเช่นกัน
1
ชาวเลบานอนที่ไม่ชอบฮิซบอลเลาะห์ก็คงหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลทางการเมืองในประเทศ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากกองกำลังภายนอกทั้งตะวันตกและประเทศกลุ่มอาหรับ เพื่อให้แน่ใจว่าสมดุลนี้จะไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และอิหร่านจนเกินไป
หากซีเรียพึ่งพาอิหร่านน้อยลงและมีการติดต่อกับซาอุดิอาระเบียมากขึ้น อนาคตของเลบานอนและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะถูกกำหนดเป็นส่วนใหญ่โดยการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างริยาดและเตหะราน รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางของผู้ที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้
1
1
เรียบเรียงโดย Right Style
28th Oct 2024
■
เชิงอรรถ:
[1]
https://www.aljazeera.com/news/2009/6/4/timeline-lebanon
[2]
https://english.alarabiya.net/topics/palestinian-israeli-conflict/2023/10/23/Hezbollah-armed-with-200-000-rockets-up-to-100-000-fighters-Israel-based-think-tank
[3]
https://forbes.co.il/e/iran-drugs-real-estate-and-meat-this-is-the-financial-empire-built-by-nasrallah
[4]
https://www.reuters.com/world/middle-east/lebanon-parliament-passes-2022-budget-2022-09-26
[5]
https://theins.press/en/society/268270
[6]
https://gsi.s-rminform.com/articles/lebanons-whatsapp-revolution-no-new-taxes
[7]
https://abcnews.go.com/International/lebanon-desperate-reform-beirut-explosion-analysis/story?id=72231604
[8]
https://www.axios.com/2024/10/04/israel-lebanon-hezbollah-new-leader-us
[9]
https://www.washingtoninstitute.org/policy-analysis/us-french-cooperation-preventing-israel-hezbollah-war
[10]
https://thecradle.co/articles-id/3560
[11]
https://carnegieendowment.org/research/2019/03/power-points-defining-the-syria-hezbollah-relationship?lang=en¢er=middle-east
<เครดิตภาพปก: The Washington Institute>
อิสราเอล
ปาเลสไตน์
ข่าวรอบโลก
บันทึก
34
4
7
34
4
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย