Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
30 ต.ค. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป 5 ข้อ จาก KKP Research GDP ไทยปีนี้และปีหน้า อาจโตได้ดี แต่หลังจากนี้ จะเป็นอย่างไร ?
ปัญหาเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ยังเป็นที่ถกเถียงกันมานาน หลายปีติดต่อกัน
ตั้งแต่การคาดการณ์การเติบโตที่สมเหตุสมผลกับสภาพประเทศในปัจจุบัน ไปจนถึงการวางนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ
อย่างที่เราได้เห็นว่า ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีรัฐบาลของใครเข้ามา ก็จะมีนโยบายประเภทเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ออกมาให้เห็นทุกปี
แต่คำถามที่สำคัญคือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ แท้จริงแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะทำไปตลอด อยู่หรือไม่
โดยบทวิเคราะห์ฉบับล่าสุดของ KKP Research บอกเราว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ GDP โตได้จริง แต่ไม่ยั่งยืน
เพราะปัญหาที่แท้จริงของประเทศ ยังไม่ได้รับการแก้ไข..
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ยังมีรายละเอียดอะไรของบทวิเคราะห์ ที่เราคนไทย ควรรู้บ้าง ?
MONEY LAB จะย่อยให้เข้าใจง่าย ๆ ใน 5 ข้อ
1. ประมาณการเติบโต GDP ประเทศไทย
ทาง KKP Research คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2567 GDP จะเติบโต 2.8% และปี 2568 GDP มีโอกาสจะเติบโต 3%
โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ
- มาตรการแจกเงินให้กับกลุ่มเปราะบาง ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ตั้งเตรียมไว้สำหรับปีหน้า
- การส่งออกในสินค้าบางกลุ่ม มีการปรับตัวดีขึ้น เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังฟื้นตัวตามวัฏจักรโลก
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ทาง KKP Research ก็ยังมองว่า GDP ไทย ยังจะปรับตัวดีขึ้น แค่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ไปจนถึงแค่กลางปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแจกเงิน
แต่หากไม่ได้จัดการที่ต้นตอของสาเหตุ คือปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว ในระยะยาว GDP จะเติบโตได้ต่ำกว่า 2.5%
2. แม้การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจน้อยลง
ในปีนี้ มีการปรับคาดการณ์ไว้ว่า การส่งออกจะเติบโต 2.3% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.3%
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาจจะไม่ได้สูงมากนัก โดยมีสาเหตุ เช่น
- การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น มาจากบางสินค้าเท่านั้น เพราะเกิดการ Rerouting จากจีน
โดย Rerouting ก็คือการที่ทางประเทศจีนต้องการส่งสินค้าไปสหรัฐอเมริกา แต่ไม่สามารถส่งออกไปได้ทางตรงแล้ว เพราะเจอกับมาตรการกีดกันทางการค้า
ทำให้ทางจีนต้องส่งสินค้าผ่านทางไทยก่อน แล้วส่งต่อไปที่สหรัฐอเมริกาอีกทีหนึ่ง
พอเป็นแบบนี้ มูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงมีไม่มากนัก เลยทำให้ไทยไม่ค่อยได้ประโยชน์มากเท่าไร
- การส่งออกที่เป็นตัวเงิน อาจจะปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อปรับเป็นการส่งออกที่แท้จริงแล้ว กลับเติบโตขึ้นน้อยกว่า
โดยทาง KKP Research ประเมินไว้ว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ GDP โตขึ้นเพียงแค่ 0.1% - 0.2% เท่านั้น
3. ท่องเที่ยวไทย ยังฟื้นตัวช้า
โดยคาดการณ์ไว้ว่า ในปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวรวมจะอยู่ที่ 35.7 ล้านคน และในปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยว จะเพิ่มขึ้นเป็น 38.9 ล้านคน
แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนี้ ก็ยังไม่กลับไปเท่ากับในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดโรคระบาดอยู่ดี และดูแล้ว หลังจากปีหน้าเป็นต้นไป อัตราการเติบโตก็จะเริ่มชะลอตัวลง
พอเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวเริ่มส่งผลต่อการเติบโตของ GDP น้อยลง และอาจจะถึงเวลาที่ไทย จะต้องพึ่งพาปัจจัยอื่น หากอยากให้ GDP กลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง
4. ประเทศไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ยังไม่ได้แก้ไข
แม้ว่าในปีนี้และปีหน้า GDP ประเทศไทย จะยังมีโอกาสที่จะเติบโตที่ประมาณ 3% ได้อยู่บ้าง
แต่ในระยะยาวแล้ว มีการวิเคราะห์เอาไว้ว่า การเติบโตของ GDP จะต่ำกว่าปีละ 2.5% โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง 4 ข้อ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
- ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากร
ตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว และจำนวนคนวัยทำงาน ก็ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2558
หมายความว่า ต่อไปนี้ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ประเทศไทยก็จะมีผู้สูงอายุมากขึ้น ๆ และคนวัยทำงานได้ ก็จะน้อยลง ๆ
เมื่อมีคนทำงานน้อยลง ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ช้าลง แถมยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านงบดูแลสุขภาพ เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
2
- ปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน
การผลิตในหลายอุตสาหกรรมของไทย มีการหดตัวลง เพราะเจอกับปัญหา เช่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ทัน และยังเจอกับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศจีน
สิ่งหนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนก็คือ ประเทศไทยขาดดุลการค้าจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ มานานหลายปีติดต่อกัน
- ปัญหาจากภาคการผลิต และการลงทุนภาคเอกชน
ในไตรมาส 2 ของปี 2567 พบว่า การลงทุนจากภาคเอกชนไทย ลดลงถึง 5.7% โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจาก การที่ภาคการผลิตไทยตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องมานาน
ในขณะเดียวกัน ก็ยังพบว่า การลงทุนในการก่อสร้างลดลงด้วยเช่นกัน เพราะตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย อยู่ในช่วงอ่อนแอ
- ปัญหาจากการเงินภาคครัวเรือน
ปัจจุบัน หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ประมาณ 90% ต่อ GDP ซึ่งถือว่าสูงมาก และเริ่มฉุดให้เศรษฐกิจไทยจะเริ่มโตต่ำลง ในระยะยาวแล้ว
นอกจากหนี้ครัวเรือนจะสูงแล้ว การเติบโตของรายได้ฝั่งครัวเรือนก็กลับเติบโตต่ำ
ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้เห็นข่าวว่าหนี้เสียของธนาคารเพิ่มสูงขึ้น และธนาคารจึงเลือกปล่อยกู้น้อยลง เพื่อสกัดหนี้เสียนั่นเอง
5. ยุคดอกเบี้ยต่ำ กำลังจะกลับมา
เมื่อไม่นานมานี้ ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ทำให้ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยของไทย อยู่ที่ 2.25%
ทาง KKP Research วิเคราะห์ไว้ว่า ในปีหน้า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ลงอีก 2 ครั้ง เหลือ 1.75%
1
สาเหตุหลักของการเตรียมปรับลด มาจาก 3 ข้อ คือ
- อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ถือว่าสูงแล้ว เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ระดับอัตราดอกเบี้ยในอดีต และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของประเทศที่พัฒนาแล้ว
- ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง กำลังปรับตัวลดลงแล้ว
- ถึงเวลาต้องผ่อนคลายนโยบายทางการเงินลงบ้าง เพราะดอกเบี้ยที่สูง ทำให้ภาวะทางการเงินโดยรวมของประเทศ เริ่มตึงตัวเกินไป
โดยภาวะการเงินที่ตึงตัว ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ ก็คือ ดอกเบี้ยภาคธนาคารเพิ่มสูงขึ้น และนอกจากนี้ ธนาคารก็ยังปล่อยกู้น้อยลง นั่นเอง
กล่าวโดยสรุปก็คือ จากบทวิเคราะห์ของทาง KKP Research พบว่า ในระยะสั้น ๆ GDP ของไทย ก็ยังมีลุ้นเติบโตได้ที่ 3% อยู่บ้าง
แถมตอนนี้ เราก็กำลังจะได้กลับเข้าสู่ยุคดอกเบี้ยต่ำ กันอีกครั้ง เพราะหนี้ครัวเรือนเริ่มดีขึ้น และเราก็จะได้เห็นธนาคารเริ่มกลับมาปล่อยกู้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญที่สุด ที่ขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจไทย กลับไปเติบโตได้สูง ๆ ในระยะยาวได้อีกครั้ง อย่างปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขเสียที
ก็เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า ปัญหาเหล่านี้ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงกันบ่อย ๆ เป็นเวลาหลายต่อหลายปีติดต่อกัน จะได้รับการแก้ปัญหากันอย่างจริงจังเมื่อไร
หรือสุดท้ายแล้ว หากไม่ได้รับการแก้ไข ต่อไปคนไทยเรา ก็จะได้เห็น GDP โตต่ำกว่าปีละ 2.5%
และในชั่วชีวิตของคน Gen Y และ Gen Z ก็อาจจะไม่ได้เห็นประเทศไทย หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ก็ได้..
#เศรษฐกิจ
#เศรษฐกิจไทย
#KKPResearch
References:
-KKP Research มาตรการแจกเงินหนุนเศรษฐกิจไทย (ชั่วคราว)
-
https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Atricle_07Nov2017
เศรษฐกิจ
39 บันทึก
48
2
48
39
48
2
48
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย