29 ต.ค. เวลา 04:05 • ความคิดเห็น

ระยะห่างระหว่าง "ตัวเราในปัจจุบัน" กับ "ตัวเราในอนาคต"

เจ้าของวลีข้างต้นชื่อ Gilbert Keith Chesterton (กิลเบิร์ต คีธ เชสเตอร์ตัน) หรือที่เรียกกันว่า G.K. Chesterton นักเขียนและนักปรัชญาชาวอังกฤษ เขียนไว้ในหนังสือตัวเองช่วงปีค.ศ. 1910
ถ้าจะลองแปล ก็จะได้ความว่า "สิ่งที่อยากทำหรือสิ่งที่เราคิดว่ามีคุณค่า ก็คู่ควรที่จะลงมือทำแม้ว่าอาจจะทำได้ไม่ดีนัก (ในช่วงแรก)"
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประเทศอังกฤษเริ่มเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด เปลี่ยนผ่านจากยุคเกษตรเป็นยุคการผลิต มีโรงงานผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีการจ้างงานมากขึ้น ผู้คนหลั่งไหลแห่เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ มีการขยายและพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเติบโตของประชากรและกำลังการผลิต
ยุคนี้เป็นยุคที่ทุนนิยมรุ่งเรือง เป็นช่วงเริ่มต้นของการ ”เน้นผลลัพธ์” เริ่มมีการคิดเรื่องประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องทำอย่างไรถึงจะให้คนงานปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รีดมันออกมาให้ได้มากที่สุด เริ่มมีการมองและตัดสินมูลค่าคนจากความสามารถในการผลิต
แนวคิดการทำงานมีอิทธิพลต่อทัศนคติการดำเนินชีวิต เชสเตอร์ตันสังเกตเห็นเทรนด์ “หมกมุ่นกับประสิทธิภาพ” (Productivity Obsession) ที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคม เกิดเป็นความกดดันว่าทำอะไรแล้วต้องมีความสำเร็จอันวัดผลได้ หรืออย่างน้อยต้องได้ผลตาม “มาตรฐาน” หรือว่าง่ายๆ ก็คือต้อง “ดีเลิศ” นั่นแหละ
และเชสเตอร์ตันก็ยังสังเกตเห็นว่า การที่เกิดกรอบอะไรแบบนี้ขึ้นมาทำให้คนเราไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ไม่กล้าเริ่มต้นทำในสิ่งที่หัวใจตนเองเรียกร้อง เพียงเพราะว่าผลที่ออกมาอาจจะไม่เป็นไปตามที่ “คาดหวังเอาไว้”
ซึ่งเชสเตอร์ตันเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเค้ามองว่า ความสุขของมนุษย์นั้นคือการ “เติบโตจากการลงมือทำ” ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่า “มีคุณค่าและมีความสำคัญสำหรับตัวเอง” โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าจะทำได้ดีหรือไม่
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” มากกว่า “ผลลัพธ์”
สมมติว่าเราเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำอะไรสักอย่าง ยกตัวอย่างเช่น อยากทำคอนเทนท์ อยากเล่นเปียโนเป็น อยากแต่งนิยาย หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราก็มักจะจินตนาการวาดฝันถึง “ตัวเราในอนาคต” ที่เก่งกาจเชี่ยวชาญในสิ่งนั้น แต่เอาเข้าจริง พอไปแตะๆ จะเริ่มต้น ก็พบกับความเป็นจริงว่า…
มันมีระยะห่างระหว่าง “ตัวเราในปัจจุบัน” กับ “ตัวเราในอนาคต” อยู่
หลายๆ คนก็รู้สึกทดท้อใจ เพราะตระหนักว่า “ระยะห่าง” นั้นมันช่างไกลเหลือเกิน
ไม่รู้ต้องจะต้องใช้เวลาและความอดทนนานขนาดไหน ต้องทุ่มเทตั้งใจมากสักเพียงใด โดยที่สุดท้ายแล้วก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลอย่างที่คิดเอาไว้หรือเปล่าด้วย
หลายๆ คนก็เลยเลือกที่จะ "ไม่ทำ" มันซะเลย เพราะ "ทำไปก็ไม่ดี" หรือ "ทำไปก็ไม่ดีเท่าคนนั้นคนนี้" หรือ "มันต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล"
แต่ก็อย่าคิดเยอะ อย่ากังวลไปเลย
ถ้าเรื่องนี้มันครองพื้นที่ในใจเรามานานแล้ว คิดวนเวียนว่า "ถ้าฉันเริ่มตอนนั้น ตอนนี้ฉันคงจะ..."
ก็อาจจะถึงเวลาทดลองทำดู
ถ้าไม่เคยทำมาก่อน มันก็ต้องเริ่มต้นจากความ “ไม่รู้” และ “ทำไม่เป็น” เป็นเรื่องธรรมดา
เรามักจะเห็นและได้ยินเรื่องราวของคนที่่ผลิตผลงานใดๆ แล้วปัง หรือคนที่ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงตั้งแต่อายุยังน้อย เลยถูกชี้นำให้คิดว่าการลงมือทำอะไรบางอย่างของเรามันจะต้อง “เป็นอะไรที่พิเศษ” เราเลยมีความกังวลถ้าสิ่งที่เราจะทำมันไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิด
 
แน่นอนว่า ถ้าเรา “เริ่มต้น” ผลงานที่ออกมาร้อยทั้งร้อยมันก็ต้อง “ไม่ค่อยเข้าท่า” ก่อนเป็นธรรมดา
แหงล่ะ ก็คนเพิ่งเริ่มทำนี่หว่า!
จะให้ได้ผลงานที่ “เพอร์เฟค” ตั้งแต่แรกเลยมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
ทำครั้งแรกแล้วไม่ดีหรอ ก็ช่างศีรษะมันสิ!
พรุ่งนี้ก็ทำใหม่
แล้วก็วันมะรืน
แล้วก็วันต่อๆ ไป
เพราะ ”กระบวนการ” คือเรื่องหลัก และ “ผลลัพธ์” คือเรื่องรอง
เพราะ “กระบวนการ” คือเหตุ และ “ผลลัพธ์” คือผล
ทำ “เหตุ” ให้ดี แล้ว “ผล” ที่ตามมาจะดีเอง
อย่าเทียบ “ตัวเราในปัจจุบัน” กับ “ตัวเราในอีกหลายปีข้างหน้า”
ให้เทียบ “ตัวเราในวันนี้” กับ “ตัวเราในเมื่อวาน” แทน
Start badly today, tomorrow, and the day after. Keep going, and one day, your future self will thank you.
ธนิท กิตติจารุรักษ์
29 ตุลาคม 2567
โฆษณา