Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ห้องเรียนผู้ประกอบการ
•
ติดตาม
29 ต.ค. 2024 เวลา 12:00 • ธุรกิจ
กลยุทธ์การสืบทอดธุรกิจครอบครัวของตระกูลวอลเลนเบิร์ก
ธุรกิจครอบครัวของตระกูลวอลเลนเบิร์ก (Wallenbergs) มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและเป็นที่รู้จักในฐานะครอบครัวนักธุรกิจแห่งสวีเดน ตระกูลวอลเลนเบิร์กได้สร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาเป็นเวลาเกือบ 170 ปี และยังคงเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการธุรกิจของสวีเดนมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีบทบาทสำคัญในการถือหุ้นและบริหารบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง
เช่น ธุรกิจโทรคมนาคมอย่าง Ericsson, บริษัทเภสัชกรรมที่จดทะเบียนในลอนดอน AstraZeneca, บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง Electrolux และยักษ์ใหญ่ด้านวิศวกรรมระดับโลกอย่าง ABB หรือธุรกิจสายการบิน SAS และบริษัทรถยนต์ SAAB เป็นต้น
จากจุดเริ่มต้นเมื่อเกือบ 170 ปีที่แล้ว อังเดร ออสการ์ วอลเลนเบิร์ก หนึ่งในต้นตระกูล Wallenberg ได้ก่อตั้ง Stockholms Enskilda Bank ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของสวีเดนขึ้น (ซึ่งปัจจุบันคือ Skandinaviska Enskilda Banken: SEB) และรุ่นต่อมาได้พัฒนาต่อยอดธุรกิจของครอบครัวซึ่งล่าสุดอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รุ่นที่หกและเจ็ดแล้ว!
กลยุทธ์อะไรบ้างที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวนี้ประสบความสำเร็จ?
1. สร้างเครือข่าย Wallenberg (The Wallenberg Ecosystem)
ตระกูลวอลเลนเบิร์กบริหารจัดการทรัพย์สินและการลงทุนของพวกเขาผ่านมูลนิธิ (The Wallenberg Foundations) และบริษัทการลงทุน เช่น Investor และ FAM ซึ่งเน้นการสนับสนุนการศึกษาและวิจัย (R&D) รวมถึงการลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพที่จะเติบโตในระดับสากล
🟨ทรัพย์สินของครอบครัวผูกติดกับมูลนิธิ
ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของครอบครัวจะผูกติดอยู่กับมูลนิธิวอลเลนเบิร์ก ซึ่งมีสินทรัพย์รวมประมาณ 45 พันล้านโครนา สวีเดน (6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มูลนิธิดังกล่าวใช้เงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในบริษัทต่างๆ ของครอบครัว เพื่อสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศล การศึกษาและวิจัย โดยให้ทุนสนับสนุนประมาณ 1 พันล้านโครนาสวีเดนต่อปี สำหรับงานศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะในสวีเดน
🟨โครงสร้างการถือหุ้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมูลนิธิ
มูลนิธิวอลเลนเบิร์กถือสิทธิ์โหวต 46% ใน บริษัท Investor และถือหุ้น 22% ของทุน (Investor เป็นหนึ่งในสองบริษัทเพื่อการลงทุนของตระกูล และถือเป็นบริษัทแม่ของบริษัทประกอบการต่างๆ ในเครือ อีกบริษัทคือ FAM)
รวมถึงการเป็นเจ้าของหุ้นใหญ่ใน SAS สายการบินหลักของสแกนดิเนเวีย Stora Enso บริษัทกระดาษยักษ์ใหญ่ และ SKF ผู้ผลิตตลับลูกปืน ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถรักษา “อำนาจควบคุม” เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจได้ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำรุ่นต่อรุ่น
🟨ผลประโยชน์ทางธุรกิจควบคู่กับคุณค่าต่อสังคม
มูลนิธิแรก และเป็นมูลนิธิที่ใหญ่ที่สุดของครอบครัวก่อตั้งขึ้นในปี 1917 โดย คณุต วอลเลนเบิร์ก ซึ่งไม่มีทายาท เพื่อเป็นวิธีการประหยัดภาษี และรักษาความมั่งคั่งของครอบครัว โดยทุกรุ่นของตระกูลวอลเลนเบิร์กได้ทำบางสิ่งเพื่อปรับปรุงธุรกิจของครอบครัวให้ดีขึ้น
เช่น อังเดร วอลเลนเบิร์ก ได้ก่อตั้งธนาคาร SEB อันเป็นกลจักรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของสวีเดน คณุต วอลเลนเบิร์ก และพี่ชายได้นำพาธุรกิจครอบครัวผ่านช่วงทศวรรษ 1920 เมื่อสวีเดนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก มาร์คัส วอลเลนเบิร์ก แชมป์เทนนิส และปู่ของมาร์คัส คนปัจจุบัน (ใช้ชื่อเดียวกัน) บริหารธุรกิจดังเช่นนักอุตสาหกรรมยุคก่อน
ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับยุโรปในช่วงหลังสงครามที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นฟู ปีเตอร์ วอลเลนเบิร์ก พ่อของเจค็อบ ผู้เป็นประธานของ Investor ในทศวรรษ 1980 และเปลี่ยน Investor ให้กลายเป็นบริษัทการลงทุนที่หลากหลายยิ่งขึ้น
ตระกูลวอลเลนเบิร์กไม่ได้เป็นเพียงตระกูลนักธุรกิจแต่เพียงเท่านั้น สมาชิกครอบครัวได้ทำคุณูปการต่างๆ ให้กับสวีเดน ทั้งการเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ นักเทนนิสเดวิสคัพ รวมถึง ราอูล วอลเลนเบิร์ก นักการทูตชาวสวีเดน วีรบุรุษแห่งสงครามโลกครั้งที่สองที่ช่วยเหลือชาวยิวเชื้อสายฮังการีหลายพันคนให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
2. การลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ
ตระกูลวอลเลนเบิร์กมุ่งเน้นไปที่การขยายพอร์ตการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตในอนาคต และกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจของพวกเขา โดยเน้นการลงทุนในบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เช่น เทคโนโลยีโทรคมนาคม โดย มาร์คัส วอลเลนเบิร์ก (Marcus Wallenberg) ได้ลงทุนใน “3 Scandinavia” ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือร่วมกับ Hutchison Whampoa ของฮ่องกง
ถึงแม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ และยังขาดทุนอยู่ แต่ครอบครัววอลเลนเบิร์กยังคงสนับสนุนการลงทุนนี้ด้วยความหวังว่าจะคุ้มทุนในอนาคต และแม้ว่าครอบครัวจะเคยล้มเหลวจากการลงทุนใน Spray Networks และ Bredbandsbolaget (B2) แต่ก็ยังสามารถทำกำไรได้จากการขาย B2 ให้กับ Telenor ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพลิกฟื้นการลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จให้กลับมาทำกำไรได้
🟨การลงทุนใน Private Equity และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียน
Investor ได้กลายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไพรเวทอิควิตี้ โดยมีการลงทุนใน EQT และ Investor Capital Partners ซึ่งตั้งอยู่ในฮ่องกง รวมถึงการลงทุนในบริษัทใหม่ๆ ในอเมริกาที่เน้นเรื่องสุขภาพและเทคโนโลยี
3. การใช้ผู้จัดการมืออาชีพ
เมื่อ เบอรี เอคโฮล์ม เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ Investor และมีบทบาทในการปรับปรุงการลงทุนของกลุ่มวอลเลนเบิร์ก เขาได้ทำการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อปรับปรุงพอร์ตการลงทุนผ่านการทำธุรกรรม M&A ต่างๆ เช่น การซื้อกิจการ Gambro การแยกตัวของ Husqvarna ออกจาก Electrolux และการขายหุ้นใน WM-Data Nordic เป็นต้น
นอกจากนี้ เอคโฮล์ม ยังเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงแต่ให้ผลตอบแทนสูง โดยปัจจุบันสินทรัพย์เหล่านี้คิดเป็น 16% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ Investor เขายังได้ขยายการลงทุนในไพรเวทอิควิตี้ และบริษัทใหม่ๆ ในด้านการดูแลสุขภาพและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นสำหรับผู้ลงทุนของ Investor
4. ความยึดมั่นกับธุรกิจของพวกเขา
ตระกูลวอลเลนเบิร์กยึดมั่นกับธุรกิจของพวกเขาผ่านทั้งช่วงเวลาที่ดีและร้าย แต่ก็ไม่ลังเลที่จะขายหากมีแนวโน้มว่าสถานการณ์ของธุรกิจจะเลวร้ายลงอย่างถาวร “การเปลี่ยนแปลงจากอดีตสู่อนาคตเป็นคติประจำใจของสมาชิกครอบครัวในรุ่นก่อนๆ และเป็นคติประจำใจเดียวที่ควรค่าแก่การรักษาต่อไป”
ความเชื่อมั่นใน “ระยะยาว” ยังคงเป็นเสาหลักของการทำธุรกิจของวอลเลนเบิร์ก บริษัทของตระกูลได้รับประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจครอบครัวที่ถูกพัฒนามาเป็นอย่างดี ผู้บริหารในเครือมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน บริษัทต่างๆ ตอบแทนตระกูลวอลเลนเบิร์กด้วยหุ้นที่มีสิทธิพิเศษในการโหวต และตำแหน่งในคณะกรรมการ
นอกจากนี้ การแต่งตั้งตำแหน่งที่สำคัญจะต้องได้รับการอนุมัติจากครอบครัววอลเลนเบิร์กเสมอ และพวกเขาจะมีส่วนร่วมในทุกการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับกลยุทธ์ของบริษัท นอกจากนี้ ครอบครัวยังตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้น แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นของพวกเขาในบางบริษัทอาจลดลงอันเป็นผลมาจากการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการระดับโลก
ตระกูลวอลเลนเบิร์กเป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว โดยอาศัยความยืดหยุ่นในการปรับตัว การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างมูลค่าให้แก่สังคมผ่านการก่อตั้งมูลนิธิ และการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์
อ้างอิง:
- The Economist. “The Wallenbergs, Sweden's enduring business dynasty”
- Wikipedia/Wallenberg family (10 September 2024)
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
โดย นวพล วิริยะกุลกิจ
ธุรกิจ
ผู้ประกอบการ
ธุรกิจครอบครัว
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย