29 ต.ค. เวลา 08:35 • การเมือง

โจทย์หินเพื่อไทย เงื่อนไขขี้ขาด รัฐบาลครบเทอม

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เมื่อวันที่27ต.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม” เกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาล นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปต่อไม่ได้
จากการสำรวจความเชื่อของประชาชนการอยู่รอดของรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 41.68 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนครบเทอมในปี 2570
ร้อยละ 19.08 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 2 ปี (2569) ร้อยละ 16.87 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้อีกประมาณ 1 ปี (2568)
ร้อยละ 11.99 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้จนเกือบๆ ครบเทอมในปี 2570 ร้อยละ 9.77 ระบุว่า เชื่อว่าจะไปต่อได้ไม่เกินสิ้นปี 2567 ร้อยละ 0.61 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ไปต่อไม่ได้ พบว่า ร้อยละ 34.43 ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่สัญญาและคาดหวัง ร้อยละ 32.52 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย
ร้อยละ 29.47 ระบุว่า การบริหารที่ผิดพลาด ของนายกฯ แพทองธาร จนนำไปสู่สถานการณ์วิกฤติ ร้อยละ 28.85 ระบุว่า กลุ่มนักร้องเรียนที่พุ่งเป้าไปยังนายกฯ แพทองธาร และพรรคเพื่อไทย
ร้อยละ 19.77 ระบุว่า การบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ร้อยละ 17.25 ระบุว่า ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล ร้อยละ 16.64 ระบุว่า ไม่มีปัจจัยใดๆ ที่จะทำให้รัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ไปต่อไม่ได้ ร้อยละ 10.92 ระบุว่า การชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง
ร้อยละ 9.62 ระบุว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็นจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ร้อยละ 9.08 ระบุว่าการทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล ร้อยละ 8.24 ระบุว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ที่มีประเด็นอ่อนไหวร้อยละ 8.09 ระบุว่า ประเด็นคดีตากใบ ร้อยละ 6.95 ระบุว่า การก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล
จริงอยู่ผลโพลที่ออกมาจะเป็นการสะท้อน “เสียงส่วนใหญ่” ถึงร้อยละ 41.68 ที่ยังเชื่อว่ารัฐบาลนายกฯอิ๊งค์จะอยู่ “ครบเทอม”
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีอีกส่วนที่ยังเชื่อว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอม วิเคราะห์จากเหตุและปัจจัยตามไทม์ไลน์ ที่แตกต่างกันออกไป รวมๆเปอร์เซ็นต์ในแต่ละช้อยส์แล้วมีรวมกันกว่า ร้อยละ50
แน่นอนว่า ประเด็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ถือเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ที่ได้รับความสนใจ แทบทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นต้นตำรับสารพัด “นโยบายประชานิยม” บางนโยบายได้รับมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทยเสียด้วยซ้ำ
ยกตัวอย่าง นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ที่ประเดิมแจกเฟสแรก ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 12.40 ล้านราย และกลุ่มคนพิการประมาณ 2.15 ล้านราย รวมผู้มีสิทธิ์ประมาณ 14.55 ล้านราย
ซึ่งผลสำรวจนิด้าโพลเมื่อวันที่ 6ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า มีผลกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน 86.79% และจะปัจจัยเพิ่มแรงสนับสนุนรัฐบาล 30.31%
📌“4ข้อเสนอเร่งด่วน” โกยเรตติ้ง
เช่นนี้ต้องจับตาบรรดาเรือธงกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลจะทยอยปล่อยออกมาหลังจากนี้ โดยเฉพาะสัญญาณหลังการพบกันระหว่าง “นายกฯอิ๊งค์” และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นำโดย สนั่น อังอุบลกุล ในฐานะประธาน กกร. และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และ สุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร.
ภายใต้ “4เรื่องเร่งด่วน” ที่ถูกระบุใน “สมุดปกขาว” ซึ่งเป็นข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประกอบด้วย
1.การแก้ไขปัญหาหนี้โดยเฉพาะหนี้เสียจากสินเชื่อรถยนต์ (กระบะ) ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน ส่วนนี้จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ เช่น ยืดระยะเวลาชำระหนี้ 3-6 เดือน เป็นต้น
2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จากการแจกเงิน 1 หมื่นของรัฐบาลไปยังกลุ่มเปราะบางแล้ว โดยเสนอให้เสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสอง โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณกึ่งหนึ่ง เพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายช่วงต้นปี 2568 เช่น Easy e-Receipt และมาตรการทางภาษีอื่น ๆ เป็นต้น
3.สานต่อโครงการยกระดับ 10 เมืองนำร่องสู่เมืองหลักที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาหอการค้าฯ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีและทีมงาน มาแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม กาญจนบุรี และราชบุรี และ
4.ขอให้รัฐบาลสนับสนุน Soft Power ผ่านการจัดกิจกรรม เทศกาลอวดเมือง ในจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงช่วยเพิ่มการประชาสัมพันธ์ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดงานซีเกมส์ในปี 2568 และ เจ้าภาพการจัดงานพืชสวนโลกปี 69 จ.อุดรธานี และในปี 2572 จ.นครราชสีมา
📌การเมืองกดดัน “นิติสงคราม” สกัด
จริงอยู่ประเด็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่สำคัญของรัฐบาล แม้ผลสำรวจจะเชื่อมั่นว่า รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ครบเทอม หากฝ่าด่านเหล่านี้ไปได้
แต่ภายใต้ความกดดันทางการเมือง ไม่ต่างจาก“สารพัดนิติสงคราม” ที่รายล้อมพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ในเวลานี้ ถือว่าต้องจับตาเช่นเดียวกัน ทั้งการยื่นคำร้องต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะ2กรณีล่าสุดทั้งกรณีที่กกต. ตั้งคณะกรรมการสอบสวน “6คำร้อง” ยุบพรรคเพื่อไทยที่อาจพ่วงไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล โดยขีดเส้น30วัน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นต่อกรรมการ
หรือกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งอัยการสูงสุด ขอทราบการดำเนินการ และ รวบรวมหลักฐาน ตามคำร้อง “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กล่าวอ้างว่า ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6 ประเด็น
ประเด็นถูกมองว่าถือเป็นศาลตั้งต้นที่นำไปสู่การยื่นยุบพรรคในภายภาคหน้า ยังไม่นับรวมสารพัดนิติสงครามรายวันจากบรรดาฝ่ายแค้น ทิ้งไว้ซึ่งคำถามที่ว่าปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอมหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้นเสถียรภาพรัฐบาล แม้เวลานี้พรรคเพื่อไทยถือตั๋วผู้แทนในมือ 141เสียง แต่ก็ไม่ได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนในอดีต ฉะนั้นอำนาจที่กำลังรอมชอมภายใต้การแบ่งสรรปันส่วน “สมประโยชน์ร่วมกัน” ก็ยังซ่อนไว้ซึ่งหลากหลายอำนาจต่อรอง
ไล่ตั้งแต่ปมร้อนแก้รัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องมากถึงการพิจารณากฎหมายประชามติ ที่เกิดเกม “พลิกมติ” ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันหลายตลบ
ไม่ต่างจาก “กฎหมายนิรโทษกรรม” สะท้อนภาพชัดเพื่อไทยตกอยู่ในวงล้อมพรรคร่วมรัฐบาล จากมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 24 ต.ค. ซึ่งตีตก6ข้อสังเกต ที่แนบท้ายรายงานกมธ.วิสามัญ ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมี ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน กมธ.
ที่ปรากฏว่า สส.ภูมิใจไทย ,รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์ เล่นบทชิงพื้นที่ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ต่างประสานเสียงโหวตคว่ำ6ข้อสังเกต ที่พ่วงความผิดในคดี ม.110 และ ม.112 เสมือนเป็นสัญญาณโดดเดี่ยวเพื่อไทยในสภา
เป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยต้องตัดไฟแต่ต้นลมโหวตคว่ำ6ข้อสังเกต ชนิดที่เรียกว่า “ชงเองคว่ำเอง” เพื่อรักษาดุลอำนาจไว้ในมือ โดยเฉพาะภูมิใจไทย ที่เวลานี้ถือเสียงในสภาล่างและสภาสูง ไม่ใช่หมูในอวยอีกต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น วันที่ 30 ต.ค.นี้ สภาฯจะประชุมเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมนี้ และจะเปิดสมัยประชุมสมัยประชุมหน้าในวันที่ 12 ธ.ค. ท่ามกลางวาระร้อนที่รออยู่เบื้องหน้าไม่ว่าจะเป็น 4ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบ่งเป็น4ร่างพรรคการเมือง 3 พรรคคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคก้าวไกลเดิม พรรคครูไทย และ1 ร่างของภาคประชาชน
หรือร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเตรียมพิจารณาในสมัยประชุมหน้าเช่นเดียวกัน เช่นนี้ต้องจับตาวาระที่ร้อนแรงอาจแฝงไปด้วยเกมวัดพลังอีกระลอก
📌เชียงใหม่กู้ศักดิ์ศรี“ชินวัตร”
ที่ต้องจับตาเช่นเดียวกันคือ การลงพื้นที่ตามจุดยุทธศาสตร์ ของ “นายกฯอิ๊งค์” สนามแรก คือ การตรวจราชการที่ จ.เชียงราย และเป็นประธานประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 24-26 พ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นการประชุม ครม.สัญจรนัดแรกของรัฐบาลชุดนี้ โดยมีวาระสำคัญคือการปล่อยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซัน
แน่นอนย่อมต้องจับตาไปที่ “หมุดหมายการเมือง” หลังจากนี้เพราะอย่างที่รู้กันจ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นบ้านเกิดและ “เมืองหลวงตระกูลชินวัตร” นั้น การเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาบอบช้ำอย่างหนัก ได้สส.เพียง2คน จากทั้งหมด10เขต คือ เขต5 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และเขต10 ศรีโสภา โกฎคำลือ
ส่วนเขตที่เหลือ ถูกสีส้มกลืนกินไปถึง 7เขต และพลังประชารัฐอีก1เขต รวมเป็น8เขตจังทั้งหมด10เขต แม้แต่เขต3 อ.สันกำแพง บ้านเกิดอดีตนายกฯก็ยังเป็นอันต้องเพลี้ยงพล้ำให้กับคู่ต่อสู้
📌“ทักษิณ” บนการเมืองลี้ลับ“อุบัติเหตุ- ยุบสภา-ครบเทอม”
ต้องยอมรับว่า นับแต่อุบัติเหตุทางการเมืองกรณีเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่14ส.ค. ในส่วนของ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่พรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกมองว่าเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญของรัฐบาลนายกฯอิ๊งค์ ย่อมรู้ซึ้งถึงคำว่า การเมืองไทยเป็น “การเมืองลี้ลับ” มากขึ้น
ฉะนั้นการถืออำนาจบริหารในมือ ก็ใช่ว่าจะเป็นต่อเสมอไป แน่นอนว่าหากเกมการเมืองไล่ต้อนจนสุดทาง นายกฯอิ๊งค์และพรรคเพื่อไทย ยังมี“ไพ่ตาย”ใบสุดท้ายนั่นคือการใช้อำนาจ“ประกาศยุบสภา”
ซึ่งไพ่ตายใบสุดท้ายนี้นี่เองที่“พรรคแกนนำรัฐบาล” ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนสมัยไหนก็มักจะหยิบมาใช้เพื่อกำหราบพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันตัวอย่างมีให้เห็นนักต่อนักในอดีต
แต่กระนั้น“ไพ่ตาย”ใบสุดท้ายคือการยุบสภา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยช่วงชิงความได้เปรียบได้ก่อน
เช่นนี้ย่อมต้องจับตา คำถามที่ว่า “นายกฯอิ๊ง” จะอยู่ครบเทอมหรือไม่ทั้งหมดทั้งมวลอาจต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเหล่านี้
#อุ๊งอิ๊ง #นายกรัฐมนตรี #แพทองธาร #รัฐบาล #ทักษิณ #เพื่อไทย #เนชั่นสุดสัปดาห์ #NationweekendOpinion #NationweekendScoop
โฆษณา