29 ต.ค. 2024 เวลา 14:50 • ศิลปะ & ออกแบบ

Awaken เว Soulcity สร้างสรรค์พื้นที่เมืองด้วยแนวคิดคนรุ่นใหม่

เป็นพื้นที่แรกของ จ.นครพนม กับการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องราวถึงอัตลักษณ์เมืองเรณูนคร ให้เป็นพื้นที่กิจกรรมงานศิลป์ในรูปแบบสตรีทอาร์ต (Street Art) ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนเมืองให้มีสีสัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “เด๋กเมิงเวแปงเมิง” ที่ร่วมกับ กลุ่มศิลปินคนรุ่นใหม่ของ อ.ธาตุพนม “ธาตุพนม That City of Art” ซึ่งมีกลุ่มปราชญ์อาวุโสเรณูนคร สมาคมผู้ไทโลก และผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุน
ศิลปะบนผนัง
กิจกรรมนี้ต้องบอกว่าเป็นการรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักงานด้านศิลป์ ที่จะพัฒนาเมืองหรือพื้นที่ของตนให้มีสีสัน มีชีวิตชีวา ด้วยแนวคิดที่มีเป้าหมายเดียวกัน ภายใต้กิจกรรม “Awaken เว Soulcity” เรามีดูว่าทำไมถึงใช้ชื่อนี้ หากแปลตรงตัวเลย Awaken คือ ปลุก หรือตื่น เว คือ ชื่อเมืองเดิมของ อ.เรณูนคร และ Soulcity คือ จิตวิญญาณ หากนำมารวมกันของชื่อก็หมายถึง พื้นที่สื่อสารเรื่องราวชาติพันธุ์ผู้ไทของเรณูให้เป็นเมืองแห่งความฝันและความหวัง ที่ผ่านการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในรูปแบบสตรีทอาร์ต นั่นเอง
ปั่นจักรยานล้อเดียวของเด็ก ๆ
งานนี้มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น มีการพูดถึงกิจกรรมของงาน, จุดประสงค์การจัดงานพร้อมที่ไปที่มา, การฟ้อนรำบายศรีสู่ขวัญ ของชมรมปราชญ์อาวุโสผู้ไท, การเสวนา หัวข้อ ตำนานผู้ไทเรณูนครที่ต้องเว้า จาก ดร.เฉลิมชัย แก้วมณีชัย ประธานชมรมปราชญ์อาวุโสผู้ไทเรณูนคร, การเสวนา หัวข้อ การพัฒนาเมืองเรณูนครอย่างมีส่วนร่วม และช่วง Art & Creative Talk เป็นการเสวนาพูดคุยถึงการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์และสอดคล้องกับอัตลักษณ์พื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีภาพศิลปะบนผนังที่สอดแทรกเรื่องราวความหมายต่าง ๆ ให้ผู้ที่มาร่วมงานได้นึกคิดที่นอกจากการถ่ายภาพเพื่อบันทึกความทรงจำ, นิทรรศการภาพถ่ายที่สื่อถึงความเป็นอัตลักษณ์ของเมืองเว หรือเมืองเรณูนครในปัจจุบัน, การแสดงปั่นจักรยานล้อเดียวของนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองแซง, การแสดงดนตรี ของกลุ่มยุวศิลป์และสามัคคีศึกษา, การแสดงดนตรีโฟล์คซอง และการแสดงดนตรีของกลุ่มเด็กเยาวชน โดยมีนายภัทรชัย หาญวิศิษฎ์ นายอำเภอเรณูนคร เป็นประธานเปิดงาน
ซึ่งหากดูรายละเอียดกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า มีการจัดงานที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกันจริง ๆ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ เหมือนเป็นพื้นที่ให้ทุกคนทุกกลุ่มได้มาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่
จารุพัฒน์ พงษ์เลิศหิรัญ (บูม) กลุ่มศิลปิน อ.ธาตุพนม บอกว่า จุดเริ่มต้นจริง ๆ เกิดจากการที่ตนถูกเชิญไปร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ในแบบเดียวกันหลายที่ จึงเกิดแนวคิดขึ้นมาว่า พื้นที่ในจังหวัดนครพนมยังไม่มีกิจกรรมในลักษณะนี้ หากจะมีสัก 1 แห่ง น่าจะเป็นสิ่งที่ดี และก็จะเป็นที่เดียวและที่แรกของนครพนม จึงได้รวมกลุ่มพูดคุยกัน ซึ่งทุกคนมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน เกิดเป็นงาน “Awaken เว Soulcity” ภายใน 1 เดือน
ส่วนสาเหตุที่เลือกพื้นที่ของ อ.เรณูนคร เพราะสมาชิกมองว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความโดดเด่นในด้านเอกลักษณ์ จึงใช้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดกิจกรรมเป็นพื้นที่แรก
“อ.เรณูนคร อีกหนึ่งเมืองที่น่าสนใจ ด้วยบริบทและวัฒนธรรมเขาชัดเจนที่สุด เราเลยเริ่มจากที่นี่ คือ เรณูมีภาษาเขียน ภาษาพูดเป็นของตนเอง ด้วยความเป็นชนเผ่าภูไทและมีวัฒนธรรมเรื่องผ้า ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ แม้กระทั่งข้าวปุ้นเรณู (ขนมจีน) ที่เป็นข้าวปุ้นดั้งเดิมก็เกิดจากที่นี่ และในตัวเมืองมีความน่าสนใจหลาย ๆ อย่าง ทั้งเรื่องโทนสี Movement ต่าง ๆ ตึก อาคาร และพื้นที่ เลยเลือกพื้นที่นี้
อีกอย่างเรามีกลุ่มสมาคมผู้ไทโลกที่อยู่ใน อ.เรณูนคร เป็นหน่วยงานหลักให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองเรณู ประวัติศาสตร์ผู้ไท และเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลสำคัญในการพัฒนางานสร้างสรรค์ครั้งนี้ด้วย... ผมมองว่าผู้ใหญ่จะต้องสนับสนุนเด็ก ๆ เราเห็นเด็กออกมาทำกิจกรรม เด็กได้ออกจากโทรศัพท์มือถือ ได้เห็นสิ่งที่เป็นยุคอนาล็อก (Analog) ที่มันน่าสนใจ เด็กได้เห็นสีสัน ได้เห็นทุกคนมาใช้ชีวิตร่วมกัน
เราหวังว่าในอนาคตผู้ใหญ่จะต้องสนับสนุนเด็ก ๆ รุ่นใหม่ต่อไป อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก ๆ ว่าพวกเขาต้องการอะไรมากกว่า เป็นกิจกรรมเชื่อมโยงความสัมพันธ์กัน ผู้ใหญ่ได้แนะนำเด็กว่าภาษาเรณูพูดอย่างไร เพราะเด็กบางคนไม่ได้พูดภาษาผู้ไทแล้ว หรือบางคนไม่รู้ว่าลายผ้าพื้นถิ่นเป็นแบบไหน มันทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่” จารุพัฒน์ กล่าว
ปิยาพัชร บัวชุม (น้ำอ้อย) หนึ่งในผู้นำกิจกรรมกลุ่ม “เด๋กเมิงเวแปงเมิง” มองว่า แม้งานครั้งแรกที่จัดไป เมื่อ 31 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพชัดเจนและตอบโจทย์คำถามต่าง ๆ ได้ทันทีว่าเราจัดแล้วได้อะไรขึ้นมา เราเห็นรอยยิ้มความสนุกสนานของเด็ก ๆ ที่มาร่วมกิจกรรม เด็กได้พื้นที่เรียนรู้กิจกรรมใหม่ พ่อแม่พาลูกหลานมาเที่ยวงาน เห็นภาพครอบครัวได้มาร่วมในกิจกรรม เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และยังทำให้ชุมชน หรือชาวบ้านได้นำของมาขายในงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย
เช่นเดียวกับ ศิรประภา บุตรติลา และจิราวรรณ รามฤทธิ์ แอลจี นักเรียนจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เรณูนคร ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม “เด๋กเมิงเวแปงเมิง” บอกว่า พวกเขาได้มาสมัครเป็นทีมงาน (Staff) สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ คือ รูปแบบของการจัดงาน ได้เรียนรู้วิธีการทำงานในฐานะผู้จัดกิจกรรม ร่วมกับหลาย ๆ คน ได้เรียนรู้มุมมองจากคนอื่น ๆ เป็นการพัฒนาตนเองในประสบการณ์จริง
และสิ่งที่มองเห็นภายในงานครั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เมื่อมีกิจกรรมก็มีการจับจ่ายซื้อของเกิดขึ้น ทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม ได้ลงมือทดลองปฏิบัติ เรียนรู้วิถีท้องถิ่นของตนในรูปแบบกิจกรรมที่มีสีสันและสร้างสรรค์ หากเป็นไปได้อยากให้มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่องอย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้ง ก็ยังดี
ถือเป็นกิจกรรมที่ผู้ใหญ่ควรให้การสนับสนุนและสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมไปพร้อม ๆ กัน ส่วนกิจกรรมครั้งหน้ามีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ครั้งนี้จัดที่ อ.ธาตุพนม ซึ่งอาจเป็นชื่อใหม่แต่รูปแบบกิจกรรมคล้าย ๆ กัน หรือมีบางกิจกรรมที่จะเพิ่มเติมต้องรอติดตาม เพจ : “Awaken-เว-Soulcity โดย เด๋กเมิงเวแปงเมิง” และ เพจ : “ธาตุพนม That City of Art”
ภาพ/บทความ : นครพนมโฟกัส
โฆษณา