30 ต.ค. เวลา 01:42 • ท่องเที่ยว
ตำบล เขาพระงาม

พืชสกุลหยาด ชนิดใหม่ของโลก!

นักวิจัยไทยค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก โดยตั้งชื่อว่า หยาดวานรพักตร์ เนื่องจากดอกมีรูปร่างคล้ายหน้าลิงเมื่อมองจากด้านหน้า
วันที่ 9 ตุลาคม 2567 ทีมงานนักวิจัยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลหยาด 4 ชนิด จากจังหวัดสระบุรี 2 ชนิด ระยอง 1 ชนิด และลพบุรี 1 ชนิด พบขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัดในระบบนิเวศจำเพาะคือระบบนิเวศเขาหินปูน เป็นพืชที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ พืชชนิดใหม่ของโลกทั้ง 4 ชนิด ถูกสำรวจพบตามการดำเนินงานโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand)
ทีมงานนักวิจัยประกอบด้วยนางสาวนัยนา เทศนา นายพาโชค พูดจา นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง นายคุณานนต์ ดาวนุไร และนายสมราน สุดดี หน่วยงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และนายเกริกวิทย์ ภูมิพยัคฆ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี
โดยทางทีมได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการด้านพฤกษศาสตร์ และได้ประสานงานกับนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ชาฤๅษีของไทย (Gesneriaceae) Dr. David Middleton เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ในสกุลหยาด (Microchirita) จึงได้ร่วมกันตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 52(2) หน้า 80-88 ปี 2024 ทั่วโลกพบพืชในสกุลนี้ 51-55 ชนิด ประเทศไทยพบทั้งหมดถึงปัจจุบัน 41 ชนิด นับว่าเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ของพืชสกุลนี้
หยาดวานรพักตร์ 𝑀𝑖𝑐𝑟𝑜𝑐ℎ𝑖𝑟𝑖𝑡𝑎 𝑠𝑖𝑚𝑖𝑎 D. J. Middleton, Thananth., Tetsana & Suddee พบบริเวณเขาหินปูน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงเข้มตลอดต้น มีขนสั้นหนาแน่น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ยกเว้นใบที่โคนต้น เรียงเวียน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน หลอดกลีบดอกด้านนอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างสีเหลืองสด ด้านในแฉกกลีบดอกและหลอดกลีบดอกส่วนบนสีม่วงแดง ส่วนล่างมีแถบสีเหลืองสดและม่วงแดงเข้มสลับกัน โคนหลอดกลีบดอกด้านในมีเส้นสีม่วงจางและเข้มสลับกัน
คำระบุชนิด ‘𝑠𝑖𝑚𝑖𝑎’ เป็นภาษาละตินที่หมายถึงลิง มาจากลักษณะของดอกที่ดูคล้ายหน้าลิงเมื่อมองจากด้านหน้า
ตัวอย่างต้นแบบ 𝑇𝑒𝑡𝑠𝑎𝑛𝑎, 𝑃𝑢𝑢𝑑𝑗𝑎𝑎, 𝐾𝑒𝑟𝑑𝑘𝑎𝑒𝑤, 𝐻𝑒𝑚𝑟𝑎𝑡 & 𝐽𝑖𝑟𝑎𝑘𝑜𝑟𝑛 2785 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
วันที่เราไปถ่ายภาพได้พบกับคณะของผู้นำท้องถิ่น สื่อมวลชน และนักวิชาการท้องถิ่น พากับมาบันทึกภาพเพื่อประชาสัมพันธ์ และส่วนหนึ่งเพื่อวางแผนการจัดการดูแลรักษาและเพื่อจัดให้มีการท่องเที่ยวในอนาคต
จากการพูดคุยกับคณะดังกล่าวเราพบว่ามีความจำเป็นที่นักพฤกษศาสตร์ นักวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ฯ ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะต้องมาให้ความรู้ความเข้าใจ แล้วร่วมกันสร้างเครือข่ายเพื่อการดูแลและพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชนในพื้นที่ ผู้นำท้องถิ่น นักวิชาการในพื้นที่ และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรืออยากมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่พัฒนาจริงๆ เกิดการท่องเที่ยวเรียนรู้แบบสร้างสรรค์และรักษาทรัพยากรเอาไว้ได้อย่างดี
ของดีมีแล้ว โอกาสมาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็มี ความตั้งใจก็มา ที่เหลือก็คือการบริหารจัดการแล้วล่ะ
ที่มาข้อมูล
กรมอุทยานแห่งชาติฯ
หอพรรณไม้
โฆษณา