Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
PPTVHD36
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
30 ต.ค. 2024 เวลา 05:45 • สุขภาพ
ตาเข ตาเหล่ ในเด็ก รีบรักษาก่อนมี“ภาวะตาขี้เกียจ”อันตรายถึงขั้นตาบอดได้
ปัญหา ตาเข ตาเหล่ เกิดได้ตั้งแต่ทารกแรกคลอด เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ ส่งผลต่อการสั่งงานกล้ามเนื้อดวงตา รีบรักษาก่อนเด็กมีภาวะตาขี้เกียจ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับการรักษาอาจส่งผลให้ตาข้างนั้นบอดได้
ตาเข ตาเหล่ (Strabismus) ภาวะทางดวงตาที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก โดยพบในเด็กทั่วโลกมากถึง 2-4 % และมักพบในเด็กช่วง 3 ขวบปีแรก ตาเข ตาเหล่ เป็นปัญหาที่ดวงตาทั้ง 2 ข้าง ไม่มองไปในทิศทางเดียว ตาข้างหนึ่งอาจมองตรงไปข้างหน้า ขณะที่ตาอีกข้างมองเฉเข้า ออก ขึ้นหรือลง ซึ่งสามารถเปลี่ยนจากตาข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่งได้ เด็กๆ อาจเกิดมาพร้อมกับภาวะตาเข ตาเหล่ หรืออาจเกิดในภายหลัง บางคนมีอาการเป็นระยะๆ ขณะที่บางคนมีอาการตลอดเวลา
เด็กสายตาสั้น
โดยหลายบ้าน อาจเข้าใจว่าภาวะดังกล่าว จะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น และไม่ส่งผลเสียต่อการมองเห็น แต่ในความเป็นจริงภาวะตาเข ตาเหล่ ส่งผลกระทบร้ายแรง สามารถทำให้เกิดภาวะตามัว หรือที่เรียกว่า “ตาขี้เกียจ” ได้ ซึ่งเกิดจากการใช้สายตาข้างที่มีปัญหาน้อยลง จะไม่สามารถเห็นภาพเป็นสามมิติ และกะระยะความลึกได้
ประเภทอาการตาเข ตาเหล่ ตามลักษณะหรือทิศทางการมอง
ตาเข ตาเหล่เข้าด้านใน (Esotropia) ภาวะที่ดวงตาเคลื่อนเข้ามาด้านในบริเวณสันจมูก เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วง 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ดวงตายังพัฒนาไม่เต็มที่ หากพ้นช่วง 6 เดือนไปแล้ว ยังมีอาการตาเข ตาเหล่ จะถือว่ามีความผิดปกติที่ดวงตา จำเป็นต้องได้รับการรักษา
● ตาเข ตาเหล่ออกนอก (Exotropia) เป็นภาวะตาเข ตาเหล่ ในแนวนอน โดยดวงตาเคลื่อนมองออกด้านข้าง ส่วนใหญ่เกิดในผู้ใหญ่ เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อหัวตาอ่อนแรงจนไม่สามารถดึงตาดำเข้ามาได้
● ตาเข ตาเหล่ขึ้นบน (Hypertropia) เป็นอาการตาเหล่ในแนวตั้ง พบได้น้อยมาก เกิดจากกล้ามเนื้อดวงตาผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือมีการพัฒนากล้ามเนื้อผิดปกติ รวมถึงเกิดจากอุบัติเหตุ
● ตาเข ตาเหล่ลงล่าง (Hypotropia) เกิดจากการที่แกนสายตามองลงล่างอยู่ตลอดเวลา มักเกิดกับเด็กโตหรือผู้ใหญ่ แต่พบได้น้อยมาก
ผลกระทบจากตาเข ตาเหล่ในเด็ก
- ตามัว มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด
- เมื่อยตา ตาล้า
- การเคลื่อนที่ของดวงตาไม่ไปพร้อมกัน และไม่มองในทางเดียวกัน
- ไม่สามารถคาดคะเนระยะใกล้ ไกลได้ถูกต้อง
- ถ้าปล่อยเรื้อรังไม่รักษา จะสูญเสียการมองเห็นในที่สุด
อาการตาเข ตาเหล่ในเด็ก สังเกตอย่างไร
- สังเกตความสมมาตรด้วยตาเปล่า
- ใช้แสงไฟ โดยถ่ายรูปด้วยการใช้แฟลช แสงสะท้อนในรูปต้องอยู่ตรงกลางตาดำทั้งสองข้าง แต่หากพบว่าข้างใดข้างหนึ่งที่แสงแฟลชไม่อยู่ตรงกลาง แสดงว่ามีอาการตาเข ตาเหล่
- ทดสอบการมองเห็น โดยให้มองสิ่งของขนาดเล็กที่อยู่ไกล 6 เมตรขึ้นไป ถ้าเห็นเป็นภาพซ้อนอาจเป็นตาเข ตาเหล่ จากนั้นให้ปิดตาทีละข้าง หากข้างใดข้างหนึ่งมองไม่ชัดมากๆ โฟกัสไม่ได้ หรือมองไม่เห็น ถือว่ามีอาการตาเข ตาเหล่เช่นกัน
- กรณีเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้ อาจต้องสังเกตพฤติกรรมว่าเด็กมักหรี่ตา เอียงคอ หรือหันข้างมองเพื่อมองสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม การสังเกตภาวะตาเข ตาเหล่ในทารกและเด็กเล็ก อาจทำได้ยาก หากผู้ปกครองสงสัย ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
สาเหตุของตาเข ตาเหล่
- เกิดจากกล้ามเนื้อลูกตาทำงานไม่สัมพันธ์กัน จนลูกตาไม่สามารถขยับเพื่อให้โฟกัสวัตถุในตำแหน่งเดียวกันได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด บางรายมีอาการตาเข ตาเหล่ตั้งแต่เกิดหรืออาจพัฒนาขึ้นในช่วงหลัง โดยพบว่ามีหลายปัจจัยกระตุ้น ได้แก่
- เป็นตั้งแต่กำเนิด (Congenital Strabismus) เกิดกับทารกแรกคลอดหรืออาจพัฒนาอาการขึ้นภายใน 6 เดือน เนื่องจากกล้ามเนื้อตาทำงานไม่ประสานกัน ส่วนใหญ่เป็นตาเข ตาเหล่เข้าด้านในและตาเข ตาเหล่ออกด้านนอก ซึ่งสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
- ความผิดปกติทางสายตา อาจเป็นไปได้ทั้งสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง ซึ่งเป็นผลมาจากการหักเหของแสงที่ส่องผ่านแก้วตาผิดปกติ
- ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ ส่งผลให้การสั่งงานกล้ามเนื้อดวงตาผิดปกติ รวมถึงทำให้การพัฒนาทางร่างกายและสมองผิดปกติด้วย ซึ่งสามารถแสดงอาการตั้งแต่ในครรภ์ หรือหลังคลอด
- การติดเชื้อบางอย่าง เช่น โรคหัด ไซนัสอักเสบ
- ใช้สายตามากเกินไป เด็กตาเข ตาเหล่จากการใช้สายตาจ้องโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญของกล้ามเนื้อตาที่ผิดปกติตั้งแต่ต้น หรือใช้สายตามากเกินไปในช่วงที่กล้ามเนื้อตากำลังพัฒนา มักพบในเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ
- พันธุกรรม ลักษณะของตาเข ตาเหล่ทั้งแบบที่ทราบและไม่ทราบสาเหตุ สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ โดยอาจพบตั้งแต่เด็ก หรือพบตอนโตก็ได้
- โรคทางพันธุกรรม ส่งผลให้เด็กตาเข ตาเหล่ เช่น กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้มีโครโมโซมคู่ที่ 18 เกินมา 1 โครโมโซม
เด็กตาเข
การตรวจวินิจฉัยภาวะตาเข ตาเหล่
เนื่องจากภาวะตาเข ตาเหล่ไม่สามารถหายได้เองเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่กลับทำให้การมองเห็นแย่ลงหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ปกครองหรือคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกกำลังเผชิญปัญหาดวงตา ควรพาเด็กมาพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยเบื้องต้นแพทย์จะตรวจการมองเห็น และทิศทางการมองอย่างละเอียด ซึ่งเริ่มตรวจได้ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงเด็กโตทุกช่วงวัย
การรักษาภาวะตาเข ตาเหล่
เมื่อเด็กเผชิญปัญหาตาเข ตาเหล่ ไม่เพียงสูญเสียความมั่นใจเท่านั้น แต่เนื่องจากดวงตาของเด็กกำลังพัฒนา หากเกิดตาเข ตาเหล่ จะส่งผลให้การใช้งานตาข้างนั้นน้อยลง จนเกิดภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้ตาข้างนั้นบอดได้ ดังนั้นการรักษาตาเข ตาเหล่มีเป้าหมายเพื่อกำจัดตาขี้เกียจ หากตรวจพบตั้งแต่ช่วงแรกๆ โดยเฉพาะอายุไม่เกิน 8 ปี มีโอกาสหายเป็นปกติได้สูงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการพัฒนาของดวงตาและสมอง
วิธีการรักษาตาเข ตาเหล่
● สวมแว่นสายตา เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาในระดับปานกลาง เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจน สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นให้ดวงตากลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติ
● ใส่ที่ครอบตา ใช้รักษาผู้ที่เกิดตาขี้เกียจจากภาวะตาเข ตาเหล่ โดยครอบตาข้างที่เป็นปกติในระยะเวลาสั้นๆ หรือตลอดทั้งวัน เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่ขี้เกียจได้ทำงาน แต่ไม่ได้ช่วยให้ตาเข ตาเหล่กลับเป็นปกติ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายมีระยะเวลาสวมที่ครอบตาแตกต่างกัน
● หยอดตา กรณีเด็กไม่ยอมใช้วิธีปิดตา แพทย์อาจพิจารณาให้หยอดตาข้างที่ไม่มีปัญหา โดยใช้สารอะโทรปีน (Atropine) มีผลทำให้ดวงตาเห็นภาพเบลอ ดวงตาที่อ่อนแอจึงต้องทำงานมากขึ้นจนกล้ามเนื้อดวงตากลับมาแข็งแรงและมองเห็นภาพได้ปกติ
● บริหารดวงตา เป็นการฝึกกล้ามเนื้อตาส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา ให้ดวงตาทั้ง 2 ข้างทำงานประสานงานกันได้ดีขึ้น
● การฉีดยา โดยฉีดสารโบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) เข้าสู่กล้ามเนื้อตาที่เป็นสาเหตุให้ตาเข ตาเหล่ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัว สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราวประมาณ 2-3 เดือน
● การผ่าตัดกล้ามเนื้อตา เมื่อวิธีการรักษาอื่นๆ ไม่ได้ผล หรือกรณีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัดกล้ามเนื้อดวงตา เพื่อแก้ไขตำแหน่งของดวงตาและช่วยให้ดวงตาทำงานได้เป็นปกติ ทั้งนี้หากพบว่าเด็กมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย จำเป็นต้องรักษาภาวะตาขี้เกียจก่อนผ่าตัด
ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวป้องกันยาก ดังนั้น ผู้ปกครองควรพาเด็กเข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์เป็นระยะ โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เนื่องจากอยู่ในช่วงที่พบความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาได้มาก สิ่งที่เป็นจริงในทุกกรณีก็คือ ยิ่งวินิจฉัยโรคได้เร็ว การรักษาก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
https://www.pptvhd36.com/health/care/6037
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์
https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
Facebook PPTVHD36 :
https://www.facebook.com/PPTVHD36
YouTube :
www.youtube.com/@PPTVHD36
สุขภาพ
โรค
เด็ก
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย