30 ต.ค. 2024 เวลา 06:43 • ข่าวรอบโลก

In Focus: นับถอยหลังศึกเลือกตั้งพญาอินทรี จับตารัฐสมรภูมิที่อาจพลิกโฉมหน้าปธน.สหรัฐฯคนต่อไป

เหลืออีกเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ชาวอเมริกันและคนทั่วโลกก็จะได้เห็นโฉมหน้าประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ กันแล้ว จะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกอย่าง คามาลา แฮร์ริส แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต หรือประธานาธิบดีหน้าเดิมอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกัน
แต่จนถึงขณะนี้ ยังคงเป็นเรื่องยากเกินจะคาดเดาว่าใครจะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากแคนดิเดตทั้งสองมีคะแนนเบียดกันมากชนิดหายใจรดต้นคอ โดยผลการสำรวจความเห็นหลายสำนักต่างชี้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สูสีคู่คี่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปีเลยทีเดียว
ผลสำรวจความคิดเห็นทั่วประเทศล่าสุดจาก FiveThirtyEight เผยแฮร์ริสนำทรัมป์อยู่ที่ 48.1% ต่อ 46.7% ส่วนโพลของ The New York Times ชี้ว่า แฮร์ริสมีคะแนนนำทรัมป์อยู่ไม่ถึง 1% ซึ่งเป็นคะแนนนำที่น้อยที่สุดสำหรับแฮร์ริสนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม
ท่ามกลางการแข่งขันที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นเช่นนี้ ทุกสายตาจึงต่างจับจ้องไปยังรัฐสมรภูมิ เนื่องจากผลการเลือกตั้งในรัฐเหล่านี้อาจชี้ชะตาว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ดังเช่นตัวเต็งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายคนในอดีตที่ต้องฝันสลายเพราะปราชัยในรัฐเหล่านี้มาแล้ว
แล้วรัฐสมรภูมิคืออะไร ทำไมรัฐจำนวนเพียงหยิบมือจึงมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เราขอนำผู้อ่านไปหาคำตอบ
  • การเลือกตั้งทางอ้อม
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนชาวอเมริกันไม่ได้ลงคะแนนเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง แต่เป็นการเลือกตั้งผ่าน “คณะผู้เลือกตั้ง” (Electoral College) เพื่อให้ไปทำหน้าที่ออกเสียงเลือกประธานาธิบดีอีกต่อหนึ่ง
โดยคะแนนเลือกตั้งมี 2 แบบ เรียกว่า Popular Vote และ Electoral Vote การที่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเกือบ 186.5 ล้านคนในทุกรัฐทั่วประเทศออกไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ตนชื่นชอบในวันที่ 5 พฤศจิกายนนั้น ถือเป็น Popular Vote จากนั้นคณะผู้เลือกตั้งจะเลือกประธานาธิบดีอีกทอดหนึ่งเรียกว่า Electoral Vote
ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 270 เสียง ของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด 538 เสียง และผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งมากที่สุดจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
  • คณะผู้เลือกตั้งเป็นใคร มาจากไหน
ก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองในแต่ละรัฐจะคัดเลือกรายชื่อ “ผู้เลือกตั้ง” (Elector) ในรัฐนั้น ๆ ซึ่งผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของพรรคหรือผู้สนับสนุนพรรค และต้องไม่มีตำแหน่งทางการเมือง
1
แต่ละรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐนั้น บวกกับจำนวนวุฒิสมาชิกที่มีอยู่ 2 คนเท่ากันหมดทุกรัฐ ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียมีสส. 52 คน บวกสว. 2 คน เท่ากับว่าแคลิฟอร์เนียมีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้ง 54 เสียง เป็นต้น
คณะผู้เลือกตั้งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 538 คน โดย 535 คนมาจาก 50 รัฐ และ 3 คนมาจากดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย (District of Columbia) ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา
  • ผู้ชนะกินรวบ
การเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ใช้ระบบ Winner-Take-All หรือผู้ชนะกินรวบ หมายความว่า ใครชนะเลือกตั้งในรัฐไหน ก็จะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด ระบบนี้ใช้กับ 48 รัฐ และดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย ยกเว้น 2 รัฐ คือ รัฐเมนและรัฐเนแบรสกาที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งคะแนน (Split Vote) ซึ่งซับซ้อนมากกว่า
ภายใต้ระบบ Winner-Take-All นี้ จึงไม่ได้การันตีว่าแคนดิเดตที่ชนะ popular vote จะได้เป็นประธานาธิบดีเสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่ใกล้ไม่ไกล คือ การเลือกตั้งปี 2559 เมื่อฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ชนะ popular vote แต่กลับแพ้คะแนน electoral vote ให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งลงชิงเก้าอี้ปธน.ในนามพรรครีพับลิกันเป็นสมัยแรก เนื่องจากทรัมป์พลิกล็อกเก็บชัยชนะในรัฐสมรภูมิสำคัญ ได้แก่ เพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน ซึ่งล้วนแต่เป็นรัฐที่เคยสนับสนุนพรรคเดโมแครตมาก่อน
  • รัฐสมรภูมิคืออะไร เหตุใดจึงอาจพลิกเกมการเลือกตั้ง
โดยทั่วไปแล้ว รัฐส่วนใหญ่จะเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคต่าง ๆ เช่น แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีผู้เลือกตั้ง 54 คน เป็นฐานเสียงของเดโมแครต เรียกว่า รัฐสีน้ำเงิน (Blue State) ในขณะที่รัฐเท็กซัส มีผู้เลือกตั้ง 40 คน เป็นรัฐที่คนส่วนใหญ่สนับสนุนรีพับลิกัน เรียกว่า รัฐสีแดง (Red State) จึงเรียกได้ว่า ผลการเลือกตั้งของรัฐเหล่านี้แบเบอร์หรือนอนมาสำหรับแคนดิเดตแต่ละพรรค
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกรัฐจะมีพรรคครอบครอง รัฐที่ว่านี้เรียกว่า “รัฐสมรภูมิ” (Battleground State หรืออีกคำหนึ่งที่ใช้แทนกันคือ Swing State) ซึ่งอาจเปลี่ยนขั้วในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง สำหรับเกณฑ์ที่จะกำหนดว่ารัฐใดเป็นรัฐสมรภูมิก็คือ คะแนนนิยมของแคนดิเดตจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต้องใกล้เคียงกันมาก โดยห่างกันน้อยกว่า 5%
กลุ่มรัฐสมรภูมิส่วนมากจะซ้ำเดิมหรือคล้ายกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก 4 ปี แต่อาจมีปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ ที่ทำให้รัฐซึ่งเคยเป็นสีแดง หรือสีน้ำเงิน กลายเป็นสีม่วง หรือในทางกลับกัน ทำให้รัฐที่เคยเป็นสมรภูมิการแข่งขันกลายเป็นรัฐฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น จอร์เจียกลายเป็นรัฐสมรภูมิในการเลือกตั้งปีนี้หลังจากชัยชนะเหนือความคาดหมายของไบเดนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2563 รวมถึงชัยชนะของราฟาเอล วอร์น็อค วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้งกลางเทอมปี 2565 หรือฟลอริดาที่เป็นรัฐสวิงสเตตมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 แต่ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มเป็นรัฐสีแดง โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งของพรรครีพับลิกันที่เพิ่มสูงขึ้นในรัฐนี้
รัฐสมรภูมิที่ถูกจับตาในศึกเลือกตั้งคราวนี้มีอยู่ 7 รัฐ ได้แก่ แอริโซนา (มีคะแนนผู้เลือกตั้ง 11 คะแนน) จอร์เจีย (16 คะแนน) มิชิแกน (15 คะแนน) เนวาดา (6 คะแนน) นอร์ทแคโรไลนา (16 คะแนน) เพนซิลเวเนีย (19 คะแนน) และวิสคอนซิน (10 คะแนน) นักวิเคราะห์ต่างฟันธงว่า คะแนนเสียงจากผู้เลือกตั้งรวม 93 คะแนนใน 7 รัฐชี้ชะตานี้ จะมีบทบาทสำคัญอย่างมาก และอาจถึงกับพลิกผลแพ้ชนะได้เลย
  • โหมลงพื้นที่หาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายในรัฐสมรภูมิ
ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ การหาเสียงเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิจึงเป็นไปอย่างเข้มข้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง โดยแทนที่จะหาเสียงในรัฐที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคอยู่แล้ว ผู้สมัครแต่ละพรรคต่างทุ่มสุดตัวเพื่อดึงคะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิด้วยการจัดกิจกรรมชุมนุมเพื่อกล่าวปราศรัยหาเสียง ลงพื้นที่พบปะประชาชน ทุ่มงบโฆษณาทางทีวีและโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกลุ่มประชากรต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
อย่างเช่นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม แฮร์ริสฉลองวันเกิดครบรอบ 60 ปีของเธอด้วยการกล่าวปราศรัยที่โบสถ์ในรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐสมรภูมิทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ขณะที่ในวันเดียวกันนั้นเอง ทรัมป์ยอมถอดเสื้อสูท เปลี่ยนไปสวมผ้ากันเปื้อน แล้วลงมือทอดเฟรนช์ฟรายส์ พร้อมเสิร์ฟให้กับลูกค้าที่ร้านแมคโดนัลด์สาขาหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐสวิงสเตตเช่นกัน
ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดในรัฐสมรภูมิพบว่า คะแนนของผู้สมัครทั้งสองยังสูสีกินกันไม่ลง โดยแฮร์ริสและทรัมป์มีคะแนนเท่ากันในวิสคอนซิน เนวาดา เพนซิลเวเนีย แฮร์ริสนำอยู่ 1 จุดในมิชิแกน และทรัมป์มีคะแนนนำ 1-3 จุดในนอร์ทแคโรไลนา จอร์เจีย และแอริโซนา
  • ไทม์ไลน์ตั้งแต่วันเลือกตั้งถึงวันรับตำแหน่งประธานาธิบดี
  • 5 พ.ย. 2567 – วันเลือกตั้งทั่วไป
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กำหนดให้ “วันเลือกตั้งทั่วไป” (Election Day) เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายนในปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งในครั้งนี้ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน
ในวันนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เพียงลงคะแนนเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีที่ตนชื่นชอบเท่านั้น แต่ชาวอเมริกันยังเข้าคูหาเพื่อเลือกผู้สมัครดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในระดับรัฐบาลกลาง ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่นด้วย ประกอบไปด้วยที่นั่งในวุฒิสภา 34 ที่นั่ง และในสภาผู้แทนราษฎร 435 ที่นั่ง รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ 12 รัฐ
  • 17 ธ.ค. 2567 – การประชุมคณะผู้เลือกตั้ง
ผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐจะประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ควบคุมโดยกฎหมายของรัฐ ผู้เลือกตั้งจะลงนาม ประทับตราและรับรองคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยคะแนนเสียงที่ได้จะถูกส่งไปยังรัฐสภาเพื่อประกาศผลอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม
  • 3 ม.ค. 2568 – สภาคองเกรสชุดที่ 119 เปิดสมัยประชุม
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่ชนะเลือกตั้งจะเข้าพิธีสาบานตน
  • 6 ม.ค. 2568 – สภาคองเกรสรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
สภาคองเกรสจัดการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้ง โดยผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่า 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง จะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
  • 20 ม.ค. 2568 – วันรับตำแหน่งประธานาธิบดี
รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดจากปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า สหรัฐอเมริกาจะได้ประธานาธิบดีคนที่ 47 อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2568 นั่นเอง
ระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังมีรายละเอียดซับซ้อนกว่าที่กล่าวมามาก อย่างไรก็ดี หวังว่าผู้อ่านจะได้เห็นภาพรวมของกระบวนการสรรหาผู้นำประเทศแม่แบบประชาธิปไตยแห่งนี้ไม่มากก็น้อย และน่าจะเพิ่มอรรถรสให้การลุ้นผลเลือกตั้งสนุกยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
โฆษณา