30 ต.ค. เวลา 08:18 • ปรัชญา

การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21: การเคลื่อนไหวร่วมกันของทักษะเหมือนตะข่ายโกลฟุตบอล

ในปัจจุบันเราสังเกตได้อย่างง่ายดายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่นานมานี้เกิดการเปิดตัว AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ทั้งค่ายของ Openai อย่าง Chatgpt และ ค่าย Google ที่เปิดตัว Gemini ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไหลลื่นมากยิ่งขึ้น
สิ่งที่ AI เข้ามาแทรกแซงส่วนใหญ่เป็นทักษะจำพวก Hard Skills หรือทักษะหนัก ๆ อย่างเช่น การสอน การซ่อม การขับเครื่องยนต์ หรือการทำงานกับเอกสารต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่ทักษะติดตัวจำพวก Soft Skills ที่เป็นทักษะติดตัว และเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ถูกพูดถึงขึ้นมาจำเป็น เพราะทักษะเหล่านี้จะสามารถทำให้มนุษย์ทำงานร่วมกันกับทั้งคนด้วยกันและ AI ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเตรียมความพร้อมของนักเรียนและบุคคลทั่วไป แต่โชคดีของพวกเราที่ทักษะเหล่านี้สามารถฝึกไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง เปรียบเสมือนตะข่ายโกลฟุตบอลที่เคลื่อนไหวไปพร้อมกันเมื่อถูกดึงด้วยแรงจากลูกฟุตบอล บทความนี้จะสำรวจและอธิบายการเชื่อมโยงและการพัฒนาร่วมกันของทักษะในศตวรรษที่ 21 ผ่านการเปรียบเปรยนี้
ตะข่ายโกลฟุตบอล
ตะข่ายโกลฟุตบอลถูกออกแบบมาให้สามารถรับแรงกระแทกจากลูกฟุตบอลได้ เมื่อมีลูกฟุตบอลถูกเตะเข้าสู่ตะข่าย แรงจากลูกฟุตบอลจะดึงให้ตะข่ายส่วนต่าง ๆ เคลื่อนไหวไปด้วยกัน การเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะจุดที่ลูกฟุตบอลกระทบเท่านั้น แต่กระจายไปทั่วทั้งตะข่ายอย่างเป็นระบบ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นการพัฒนาทักษะหนึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ตามมา ผมจะยกตัวอย่างทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้
โดยผมขอยกตัวอย่างทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นอย่างมากในยุคสมัยนี้ ประกอบด้วย การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม การบริหารเวลาและการจัดการงาน การเข้าใจข้ามวัฒนธรรม การปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การบริหารการเงินส่วนบุคคล และการเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาทักษะเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น
การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เนื่องจากการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนต้องการความคิดสร้างสรรค์ในการหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ (Facione, 2011) ยิ่งในปัจจุบันและอนาคตปัญหาจะมีความแตกต่างกับในอดีต การหาวิธีใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยเหตุนี้จึงแสดงให้เห็นว่าการคิดเชิงวิพากษ์เป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
การสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพช่วยส่งเสริม การทำงานร่วมกัน และ ความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม การสื่อสารที่ดีทำให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่นและเข้าใจถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมต่าง ๆ การสื่อสารที่ดีจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยทางจิตใจระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร สอดคล้องกับงานวิจัยโดย Hargie (2016) ที่ชี้ให้เห็นว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นกุญแจสำคัญในการทำงานร่วมกันและการเข้าใจข้ามวัฒนธรรม
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยให้สามารถ ปรับตัวและเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ดีขึ้น เพราะเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและการเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้อีกด้วย ยกตัวอย่าง Application สำหรับการศึกษามากมาย งานวิจัยโดย Voogt et al. (2013) ระบุว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในห้องเรียนช่วยพัฒนาทักษะการปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การบริหารเวลาและการจัดการงาน ส่งเสริม การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา การมีทักษะในการจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้สามารถมุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ปัญหาและหาวิธีแก้ไขอย่างเป็นระบบ หากไม่สามารถจัดการปัญหาและเรียงลำดับความสำคัญในชีวิตได้อย่างเป็นระบบ ก็จะส่งผลต่อกระบวนการคิดที่ไม่เป็นระบบตามมาด้วย
งานวิจัยโดย Macan et al. (1990) แสดงให้เห็นว่าการบริหารเวลามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการแก้ปัญหา เพราะการจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีระบบการคิดที่เหมาะสม
ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ช่วยส่งเสริม การเป็นผู้ประกอบการ เนื่องจากการมีความคิดริเริ่มและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญในการระบุโอกาสและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ หรือการหาการหา Pain Point ก็จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน สอดคล้องกัยงานวิจัยโดย Fillis & Rentschler (2010) ที่แสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการ
การทำงานร่วมกัน ส่งเสริม การสื่อสาร และ การปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำงานเป็นทีมที่ดีช่วยให้สมาชิกทีมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้จากกันและกัน ทำให้การสื่อสารและการปรับตัวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมหรือการทำงานโดยมีเป้าหมายร่วมกันเป็นแบบฝึกชั้นดีในการฝึกฝน Soft Skills หลาย ๆ ทักษะพร้อมกัน อีกทั้งการทำงานร่วมกันส่งเสริมการสื่อสารที่ดีและการเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างดี (Johnson & Johnson, 2009)
การบริหารการเงินส่วนบุคคล ส่งเสริม การเป็นผู้ประกอบการ การมีทักษะในการจัดการเงินส่วนบุคคลช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการใช้ทรัพยากรและการลงทุนได้อย่างมีเหตุผลและมีประสิทธิภาพ การเป็นผู้ประกอบการที่ดีจะต้องวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ และมีการบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่ดี ซึ่งงานวิจัยโดย Lusardi & Mitchell (2014) ชี้ให้เห็นว่าการบริหารการเงินส่วนบุคคลมีผลต่อความสำเร็จของผู้ประกอบการ
การเปรียบเทียบทักษะในศตวรรษที่ 21 กับตะข่ายโกลฟุตบอลช่วยให้เราเข้าใจถึงความเชื่อมโยงและการส่งเสริมกันของทักษะต่าง ๆ การพัฒนาทักษะหนึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ตามมา ทำให้การพัฒนาทักษะเป็นไปได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษที่ 21 จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะเหล่านี้อย่างเป็นระบบและครอบคลุม
ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือนักเรียนสามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้จากแบบฝึกหัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมกลุ่มในชั้นเรียน การทำกิจกรรมร่วมกัน หรือการประสานงานทำงานร่วมกันในที่ทำงาน สิ่งสำคัญก็คือการพบเจอกับอุปสรรคและเรียนรู้จักการแก้ไขปัญหาผ่านการสื่อสารและการร่วมมือ
เป็นที่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันบุคลากรต่าง ๆ หลีกหนีปัญหาและพร้อมจะโทษกันไปมา จนทำให้โอกาสพัฒนาทักษะดังกล่าวหลุดลอยไป อีกทั้งการโทษกันไปมายังสร้างสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายให้เกิดขึ้นในสถานทำงานอีกด้วย
ดังนั้นพวกเราทุกคนจึงควรเตรียมพร้อมที่จะเจอปัญหาและหาทางแก้ไขร่วมกันโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจให้กับทั้งสถานที่ทำงานหรือแม้แต่ในห้องเรียนก็ตาม เพราะเราจะต้องไม่ลืมว่าชีวิตมันพร้อมจะแตะเราจากข้างหลังเสมอ
อ้างอิง
Facione, P. A. (2011). Critical Thinking: What It is and Why it Counts. Insight Assessment.
Fillis, I., & Rentschler, R. (2010). The Role of Creativity in Entrepreneurship. Journal of Enterprising Culture, 18(2), 49-69.
Hargie, O. (2016). The Handbook of Communication Skills. Routledge.
Johnson, D. W., & Johnson, R. T. (2009). An Educational Psychology Success Story: Social Interdependence Theory and Cooperative Learning. Educational Researcher, 38(5), 365-379.
Lusardi, A., & Mitchell, O. S. (2014). The Economic Importance of Financial Literacy: Theory and Evidence. Journal of Economic Literature, 52(1), 5-44.
Macan, T. H., Shahani, C., Dipboye, R. L., & Phillips, A. P. (1990). College students’ time management: Correlations with academic performance and stress. Journal of Educational Psychology, 82(4), 760-768.
Voogt, J., Knezek, G., Cox, M., Knezek, D., & Brummelhuis, A. (2013). Under which conditions does ICT have a positive effect on teaching and learning? A Call to Action. Journal of Computer Assisted Learning, 29(1), 4-14.
โฆษณา