30 ต.ค. เวลา 10:43 • สัตว์เลี้ยง

PUPPY 101: การฝึกหมาเด็ก 2 เดือน ทุกเรื่องประเด็นในโพสต์เดียว

หมาเด็ก 2 เดือนคือช่วงเวลาที่พิเศษสำหรับทุก ๆ บ้าน เพราะนี่คือเวลาที่ลูกหมาส่วนใหญ่จะมาอยู่บ้านเราเป็นครั้งแรก และมีเรื่องให้ทำ และปรับตัวเยอะทั้งสำหรับเจ้าของและน้องหมา ที่ทำให้หลาย ๆ บ้านต้องเครียด และสับสนกันไปเยอะแล้ว เพื่อช่วยให้ทุกบ้านรับมือกับลูกหมา 2 เดือนได้ง่ายขึ้น ผมจึงได้สรุปทุกเรื่องเกี่ยวกับการฝึกของหมาเด็กวัยนี้ไว้ที่นี่ และหวังว่าช่วยหลาย ๆ ท่านได้ไม่มากก็น้อยครับ
สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับหมาเด็ก 2 เดือนคือ:
ลูกหมาวัย 2 เดือนคือวัยที่ท้าทายเป็นพิเศษครับ สาเหตุมาจากทั้งธรรมชาติของลูกหมาวัยนี้ และสถานการณ์ของเขาด้วย
2 เดือนคืออายุที่เจ้าลูกหมาจะออกจากฟาร์มมาอยู่กับเรา
- เครียดจากการถูกแยกจากครอบครัว ช่วงแรกของการย้ายบ้านลูกหมาวัยนี้จะเครียดจากการแยกคอกและคนดูแลเดิม และยังต้องเจอกับการเดินทางไกล และการปรับตัวกับบ้านใหม่กับคนใหม่ ๆ
- พัฒนาการของหมาเด็กจะแตกต่างไปตามฟาร์ม แต่ละฟาร์มมีมาตรฐานการเลี้ยงดูในช่วงก่อน 2 เดือนไม่เหมือนกัน นั่นทำให้เจ้าของต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักกับพัฒนาการของเจ้าหมาเด็กเราด้วย
- ลูกหมาจะยังไม่คุ้นกับเรา แม้เราจะพร้อมรักเขาแล้ว แต่สำหรับเขาเราจะยังเป็นแค่คนแปลกหน้าอยู่ เขาจะเป็นมิตรกับเรา แต่ยังไม่ได้ไว้ใจเราเต็มร้อย นั่นทำให้เป็นวัยที่ต้องใจเย็นในการฝึก
หมาเด็ก 2 เดือนเป็นวัยที่ร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลง
- ลูกหมาวัยนี้อั้นฉี่ได้ไม่นาน เพราะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะยังไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่จะยังอั้นไม่ได้ตลอดคืน
- ลูกหมาวัยนี้เรียนรู้ผ่านการเล่น ดังนั้นจะพลังงานสูงและชวนเล่นอย่างไม่มีขอบเขต
- ฟันน้ำนมกำลังขึ้น ฟันน้ำนมคือฟันที่คมกว่าฟันแท้มาก บวกกับเหล่าหมาเด็กจะมีความต้องการในการกัดแทะสูงไปด้วยเพราะสัญชาติญาณในการลองฟัน ดังนั้นเขาจะพยายามกัดเล่นกับเจ้าของ และกัดข้าวของ ด้วยฟันคม ๆ ของเขา
- เป็นวัยเดียวที่สมองจะพัฒนาด้านสังคมได้ ช่วง 2 ถึง 4 เดือนจึงเป็นเวลาสำคัญของการเปิดโลกให้หมาเด็กได้เจอกับโลกภายนอก เพื่อให้โตไปอย่างมั่นใจและไม่ขี้กลัว
- วัคซีนยังไม่ครบ นั่นทำให้การพาออกนอกบ้านนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากและต้องระวัง
- เป็นช่วง Fear Period หรือช่วงที่เขาจะเริ่มเรียนรู้ที่จะกลัว
หมาเด็กมี Deadline ในด้านพัฒนาการอยู่ 3 อย่าง
1. Socialization Period (2 เดือน ถึง 4 เดือน)
หมาเด็กวัย 2 เดือนจนถึงสี่เดือนจะเป็นช่วงของการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เพื่อคุ้นเคยกับโลกใบใหม่ของเขา อธิบายง่าย ๆ คืออะไรก็ตามที่เขาเคยเจอในช่วงนี้จะถูกจัดอยู่ในหมวด “ปกติ” ในสมองเขา และอะไรที่ไม่เคยเจอในช่วงนี้ถือเป็น “สิ่งแปลกปลอม” และเป็นช่วงเวลาเดียวที่การจัดหมวดแบบนี้จะเกิดขึ้น เมื่อเขาโตไปอะไรที่เป็นหมวดปกติเขาจะไม่เครียดและไม่กังวลกับมัน ในขณะที่อะไรที่ไม่เคยเจอในวัยเด็กเมื่อเจอตอนโตเขาจะเครียดและอาจต้องใช้เวลาในการรับมันเข้ามาในระบบนาน
2. Fear Period (2 เดือน ถึง 3 เดือน)
ในช่วงเดียวกันนี้เองก็เป็นช่วงที่เขาเรียนรู้สิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายกับเขาได้ และเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงมัน นั่นทำให้ประสบการณ์ไม่ดีที่เกิดขึ้นในหมาเด็ก 2 เดือนจนถึง 3 เดือนนั้นจะมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นความกลัวที่ฝังใจได้ และเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องระวังในการพาหมาออกไปเปิดโลกในช่วงวัยนี้ที่ทำให้เราต้องพยายามสร้างประสบการณ์ที่ดีเวลาพาเขาออกไปเจอสิ่งต่าง ๆ ในหมาเด็กวัย 2 เดือนให้ได้
3. Bite Inhibition Period (ก่อน 5 เดือน)
การฝึก Bite Inhibition หรือการฝึกควบคุมแรงกัดมักไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง แต่เป็นเรื่องหนึ่งที่มีประโยชน์มาก ๆ ต่อการใช้ชีวิตกับหมา โดยวัยก่อน 5 เดือนคือช่วงที่หมาจะยังมีฟันน้ำนมอยู่ และเป็นช่วงที่เขากำลังเรียนรู้การใช้ฟันของเขาอยู่ ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่ง่ายที่สุดที่จะสอนให้เขารู้จักการออมแรงกัด และกัดเบา ๆ ซึ่งจะฝึกได้ยากมาก ๆ เมื่อฟันแท้เขามาครบแล้ว
เรารู้กันดีว่าโดยทั่วไปแล้วหมาไม่ควรที่จะกัดคนแม้แต่นิดเดียว แต่แม้หมาที่เรียบร้อยและเป็นมิตรที่สุดก็สามารถเกิดกรณีสุดวิสัยได้ เช่น เวลาที่เดินอยู่ข้างนอกแล้วมีเด็กวิ่งมาสะดุดจนหมาตกใจ สถานการณ์แบบนี้หมาส่วนใหญ่แม้จะใจดีแค่ไหนก็อาจหันไปกัดได้ด้วยความตกใจ แต่หมาที่ควบคุมแรงกัดได้จะไม่สร้างแผล ซึ่งคือความแตกต่างระหว่างการต้องขึ้นศาลกับไม่ขึ้นศาล นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าหมาที่ผ่านการฝึกกัดเบามาจะเล่นกับคนและหมาตัวอื่นได้อย่างระมัดระวังและนุ่มนวลกว่าหมาที่ไม่ได้ฝึกมาด้วย
6 หมวดหมู่ สำหรับการฝึกหมาเด็ก 2 เดือน
ด้วยความพิเศษของหมาวัยนี้ รวมไปถึงเส้นตายในด้านพัฒนาการต่าง ๆ น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมครับว่าทำไหมหมาวัยนี้ถึงได้ท้าทายนัก เพราะมีหลายอย่างที่เราต้องทำในเวลาที่จำกัด และเพื่อไม่ให้ทุกอย่างน่าปวดหัวเกินไป ผมสรุปให้ว่าหลัก ๆ ที่เราควรทำมี 6 หมวดหมู่ ที่แต่ละอย่างมีความเร่งด่วน และสำคัญแตกต่างกันดังนี้ครับ:
1. สอนมารยาทในบ้าน
หัวข้อการฝึก: ฝึกให้ชอบแทะของเล่นเป็นนิสัย ฝึกขับถ่ายเฉพาะจุดที่กำหนด
ความสำเร็จ: หมาเด็กกัดแทะเฉพาะของเล่น ไม่กัดข้าวของ และขับถ่ายในที่ที่กำหนด
ความเร่งด่วน: ⏳⏳⏳⏳⏳
ฝึกตั้งแต่วันแรกที่เข้าบ้าน เพราะผมเชื่อว่าเจ้าของทุกคนไม่อยากให้หมาฉี่ในบ้านเลยแม้แต่ครั้งเดียวใช่ไหมครับ และถ้าเราเริ่มเรื่องนี้เร็วเราจะมีนิสัยที่ดีในการขับถ่ายและแทะข้าวของ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราปล่อยให้เขาขับถ่ายไม่เป็นที่และแทะข้าวของไปนาน ๆ การฝึกจะยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกลายเป็นนิสัยไปแล้ว
ความสำคัญ: 💙💙💙💙💙
สำคัญมาก เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เรากับเขาอยู่ร่วมกันได้ หมาที่แทะข้าวของและขับถ่ายไม่เป็นที่คือหมาที่ไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้หมาหลายตัวโดนทิ้งหมาแล้ว
2. ฝึกการอยู่คนเดียว
หัวข้อการฝึก: ฝึกชอบอยู่ในกรง ฝึกให้สนุกกับการเล่นแทนข้าวของในบ้าน
ความสำเร็จ: หมาเด็กอยู่คนเดียวอย่างมีความสุขทั้งในบ้าน และในกรงโดยไม่ร้องโวยวาย
ความเร่งด่วน: ⏳⏳⏳⏳
ทำตั้งแต่วันแรก และควรทำไปพร้อม ๆ กับการฝึกขับถ่าย เพราะหลายบ้านมีงานที่ต้องไปทำ นั่นทำให้ไม่ว่าจะฝึกหรือไม่เขาก็ต้องอยู่คนเดียวอยู่ดี การตั้งใจฝึกตั้งแต่วันแรก ๆ จะทำให้เราและเขาเครียดน้อยลงเวลาที่ต้องออกไปทำงาน
ความสำคัญ: 💙💙💙💙
ค่อนข้างสำคัญแต่จะขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์คน บางบ้านที่มีคนอยู่บ้านตลอดเวลาเป็นส่วนใหญ่อาจจะไม่จำเป็นเท่ากับบ้านที่ออกไปทำงานทุกวัน แต่ช่วยในเวลาที่ออกไปธุระทั้งบ้าน หรือมีช่างมาซ่อมบ้าน
3. ทำความคุ้นเคยกับมนุษย์คนอื่น
หัวข้อการฝึก: พาหมาเด็กออกไปเจอมนุษย์คนอื่น และทำให้เขามีประสบการณ์ที่ดีเวลาที่เจอมนุษย์คนอื่น
ความสำเร็จ: หมาเข้าใกล้มนุษย์คนอื่นได้อย่างสงบ ไม่เห่า ไม่ขู่ ไม่หนี
ความเร่งด่วน: ⏳⏳⏳⏳
เริ่มทำภายใน 1-2 สัปดาห์หลังรับมา ช่วงสัปดาห์แรกควรให้เวลาเขาปรับตัวเข้ากับบ้านใหม่พร้อม ๆ กับทำความคุ้นเคยกับเจ้าของ หลังจากนั้นควรรีบพาเขาออกไปสร้างประสบการณ์ดี ๆ เยอะ ๆ เพราะมีเวลาไม่ถึง 2 เดือนก่อนที่มันจะยากขึ้น
ความสำคัญ: 💙💙💙💙💙
สำคัญที่สุดต่อสุขภาพจิตหมา เพราะหมาต้องอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยมนุษย์ และไม่ว่าเราจะพาเขาออกไปนอกบ้านหรือไม่ไม่มากก็น้อยก็ต้องมีคนเข้าบ้านเราอยู่ดี ดังนั้นหมาที่เครียดเวลาต้องเจอคนคือหมาที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเครียดไปตลอดชีวิต
4. ทำความคุ้นเคยกับหมาอื่น
หัวข้อการฝึก: พาหมาเด็กออกไปเจอหมาตัวอื่น และทำให้เขามีประสบการณ์ที่ดีเวลาที่เจอหมาอื่น
ความสำเร็จ: หมาเข้าใกล้หมาอื่นได้อย่างสงบ ไม่เห่า ไม่ขู่ ไม่หนี
ความเร่งด่วน: ⏳⏳⏳
ไม่ด่วนมาก เพราะสำหรับหมาแล้วหมาไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม การให้เขาได้เจอหมาอื่นบ้างเล็กน้อยในช่วงวัย 2 เดือนก็ช่วยให้เขาคุ้นชินกับหมาได้แล้ว เพียงแต่เราต้องระวังว่าการเจอหมาอื่นนั้นเกิดขึ้นในบรรยากาศที่ดี ถ้าเจอแล้วโดนขู่ หรือทำร้าย เขาสามารถกลายเป็นกลัวหมาได้ ดังนั้นไม่ต้องเจอเยอะ แค่ต้องให้ชัวร์ว่าเจอแล้วเป็นประสบการณ์ที่ดี
ความสำคัญ: 💙💙💙
ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์เจ้าของ สำหรับบ้านที่ชอบพาหมาไปเที่ยวอาจจะจำเป็นมาก แต่บ้านที่คิดว่าอยู่ด้วยกันในบ้านเป็นหลักและแทบจะไม่ได้เจอหมาอื่นเลยเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ไม่ต้องจริงจังมาก
5. ฝึกคำสั่งพื้นฐาน
หัวข้อการฝึก: ฝึกคำสั่งนั่ง หมอบ รอ เรียกมาหา เดินในสายจูง และอื่น ๆ
ความสำเร็จ: หมาเดินในสายจูงโดยไม่กระชาก อยู่ในความสงบได้นอกสถานที่ นั่ง หมอบ และมาหาเราได้เวลาที่ขอ
ความเร่งด่วน: ⏳
เป็นเรื่องที่ไม่ต้องรีบแต่แนะนำให้ทำได้เลยถ้ามีเวลาเพราะเป็นเรื่องที่สามารถฝึกได้ทุกช่วงอายุ ถ้าเวลาจำกัดแนะนำให้ใช้เวลากับการพาลูกหมาเปิดโลกก่อนดีกว่า แต่ถ้ามีเวลาการฝึกตั้งแต่เด็กก็เป็นกิจกรรมที่ดีที่จะเล่นกับหมา และหมาส่วนใหญ่จะสนุกไปกับการฝึกเชิงบวกและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ได้เร็วขึ้นด้วย
ความสำคัญ: 💙💙
คำสั่งพื้นฐานเป็นตัวช่วยให้เราอยู่กับเขาได้อย่างสงบสุขขึ้น และมีประโยชน์ในด้านของความปลอดภัย เช่น เราสามารถใช้คำสั่งนั่งให้เขาอยู่ในความสงบเวลาที่สายจูงหลุดให้เขาไม่หนีไปไหนได้ การเดินในสายจูงโดยไม่กระชากก็ช่วยให้เราเดินเล่นกับเขาได้มีความสุขขึ้น แต่หมาส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตกับเราได้แม้ไม่ได้ฝึกคำสั่งพื้นฐานเหล่านี้ตราบใดที่ฝึกขับถ่ายแล้ว ดังนั้นเรื่องนี้ถือว่าสำคัญกลาง ๆ
6. ฝึกการควบคุมแรงกัด
หัวข้อการฝึก: ฝึกการควบคุมแรงกัด
ความสำเร็จ: หมาหยุดการใช้ฟันกับคน และถ้าเผลอกัดจะกัดเบาจนแทบไม่รู้สึก
ความเร่งด่วน: ⏳⏳
กลาง ๆ เป็นเรื่องที่แม้จะมีเส้นตายที่ 5 เดือน แต่อาศัยความสม่ำเสมอมากกว่าการพยายามใช้เวลาทำ เพราะหลักการฝึกง่าย ๆ คือ เมื่อเขากัดเรา ให้เราร้อง “โอ้ย” และหยุดเล่นกับเขาจนกว่าเขาจะปล่อย แล้วจึงจะชม และเล่นด้วยใหม่ หรือถ้าไม่ปล่อยให้เดินหนีและค่อยกลับมาเล่นด้วยใหม่ ทำซ้ำ ๆ เขาจะกัดเบาลงเรื่อย ๆ และหยุดกัดไปเอง โดยทำแบบนี้ไปตลอด 3 เดือน
ความสำคัญ: 💙💙💙💙
ค่อนข้างสำคัญ แม้เราจะสามารถฝึกให้เขาหยุดกัดไปโดยสิ้นเชิงได้ง่ายกว่าการฝึกคุมแรง แต่หมาที่กัดเบาได้ หากเกิดเหตุสุดวิสัยเขาจะกัดโดยไม่เปิดแผลซึ่งเลี่ยงปัญหาคดีความได้ดีกว่าหมาที่คุมแรงกัดไม่เป็น นอกจากนั้นหมาที่คุมแรงเป็นจะเล่นกับคนและหมาตัวอื่นได้อ่อนโยนมากขึ้นด้วย
แถม: อย่าลืมถ่ายรูปหมาเด็กเยอะ ๆ !
หัวข้อการฝึก: อย่าลืมถ่ายรูป
ความสำเร็จ: ถ่ายให้เม็มเต็มไปเลย
ความเร่งด่วน: ⏳⏳⏳⏳⏳⏳⏳⏳⏳⏳
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่พูดเล่น ๆ นะครับ เพราะถ้าไม่เตือนก่อนเนี่ย บางท่านกว่าจะรู้ตัวอีกทีหมาก็ไม่เด็กซะแล้ว คือหมาขนาดเล็กถึงกลางนี่ 6 เดือนก็โตเต็มที่แล้วครับ และช่วงระหว่างนี้หน้าตาเขาจะเปลี่ยนไปทุกวันจริง ๆ ดังนั้นแม้เราจะวุ่น ๆ กับพัฒนาการเขาอยู่ก็อย่าลืมถ่ายความน่ารักในวัยเด็กไว้เยอะ ๆ นะครับ
ความสำคัญ: 💙💙💙💙💙💙💙💙💙💙
วัยเด็กของหมามันสั้นมาก ๆ และมันจะไม่ย้อนกลับมาแล้ว
สรุป
ในการเป็นผู้ปกครองหมาเด็ก 2 เดือนนั้นมีอะไรให้ต้องทำเยอะในเวลาที่จำกัดครับ ผมหวังว่าโพสต์นี้จะช่วยให้แต่ละท่านสบายใจขึ้นได้บ้างไม่มากก็น้อย และสำหรับท่านที่ไม่มีเวลาและกำลังมองหาโรงเรียนประจำสำหรับช่วงวัยเด็กอย่าลืมเช็คดี ๆ นะครับว่าโรงเรียนฝึกหัวข้อไหนบ้าง เพราะคำสั่งพื้นฐานนั้นเป็นเรื่องที่หลายโรงเรียนเน้น แต่ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญหรือเร่งด่วนแต่อย่างไร การพาไปฝากโรงเรียนประจำที่เน้นฝึกแค่คำสั่งพื้นฐานนั้นจะทำให้นอกจากจะเสียเงินฟรีแล้ว เขายังเสียโอกาสในด้านของพัฒนาการวัยเด็กอีกด้วย
หรือถ้าหากสนใจฝากพร้อมฝึกกับโรงเรียนฝึกหมา Dogology ของเราก็ยินดีครับ ที่นี่เราเน้นการฝึกตามระดับพัฒนาการที่ถูกต้องของหมาเด็กโดยเฉพาะลูกหมา 2 เดือน เน้นเรื่องสำคัญตามระดับพัฒนาการมากกว่าการฝึกแค่คำสั่งพื้นฐานเพื่อป้องกันปัญหาพฤติกรรมในอนาคต ด้วยการดูแลอย่างเข้มข้นแบบที่อยู่กับครูฝึกแบบตัวต่อตัว 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ติดตามเราได้ที่: www.dogology.org
โฆษณา