31 ต.ค. เวลา 00:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มา DCA กองทุนลดหย่อนภาษี SSF, RMF, Thai ESG 3 เดือนที่เหลือของปีกันเถอะ

ว่าแต่เราควรซื้อกองทุนประเภทไหนก่อนดี? โพสต์นี้มีคำตอบ!
ช่วงนี้ก็มาถึงไตรมาสสุดท้ายของปีกันแล้ว เวลาผ่านไปไวมาก ใครที่ยังไม่ได้เริ่มซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี ก็ต้องมาวางแผนลงทุนกันแล้ว
กองทุนลดหย่อนภาษีเป็นเครื่องมือช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงิน ระยะกลาง-ยาว หรือเป้าหมายเกษียณ เราต้องเลือกไปประกอบการวางแผนการเงินของเรา นอกจากเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งแล้วยังได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอีกด้วย
ปัจจุบันมีกองทุนลดหย่อนภาษีถึง 3 แบบ คือ SSF, RMF และ Thai ESG
ใครที่ยังไม่เข้าใจว่ากองทุนลดหย่อนภาษี 3 กองแตกต่างกันอย่างไร ควรซื้อกองไหนก่อนดี แนะนำให้ไปอ่านจากลิงก์ในคอมเมนต์ก่อนได้เลย
สำหรับใครที่เข้าใจแล้วว่าตัวเองควรเลือกกองทุนอะไร และจะลงทุนผ่านแพลตฟอร์มไหน วันนี้ #เด็กการเงิน ขอมาแชร์ไอเดียให้ DCA กองทุนลดหย่อนภาษีในช่วง 3 เดือนที่เหลือ และอยากให้เห็นว่าเมื่อลงทุนแล้วจะช่วยประหยัดการจ่ายภาษีไปเท่าไร (ไม่เกี่ยวข้องกับกำไรหรือขาดทุนของกองทุนนะ)
ในตัวอย่างที่เรากำลังจะอธิบายต่อไปนี้ เราแนะนำให้ทำ DCA (Dollar Cost Average) ซึ่งก็คือการทยอยลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่ากันในทุกๆ เดือน
ประโยชน์ของการทำ DCA คือช่วยเฉลี่ยต้นทุน เนื่องจากบางครั้งในช่วงที่ราคาลดลง เราจะซื้อได้จำนวนหน่วยมากขึ้น แต่ถ้าหากช่วงไหนราคาเพิ่มขึ้น เราก็จะซื้อได้จำนวนหน่วยที่ลดลง ดังนั้นราคาที่เราได้ก็เป็นราคาเฉลี่ยนั่นเอง
นอกจากนี้การทำ DCA ก็ช่วยเพิ่มวินัยการลงทุน และช่วยตัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกออกไป ไม่ต้องมานั่งจับจังหวะการลงทุนอีกด้วย
ก่อนจะไปที่ตัวอย่างการวางแผน DCA กองทุนรวมกัน เราจะสมมติให้ทุกตัวอย่างในเคสนี้มีสิทธิ์ลดหย่อนและหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้
หักค่าใช้จ่าย 100,000 บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 5% ของรายได้
ประกันสังคม 9,000 บาท
เคสที่ 1️⃣ เงินเดือน 40,000 บาท (รายได้ปีละ 480,000 บาท)
หากต้องการลดหย่อนภาษีสูงสุด ซื้อ SSF ตามเกณฑ์ จะซื้อได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ นั่นก็คือ 144,000 บาท
แต่ในที่นี้ซื้อ SSF เพียง 137,000 บาท
และไม่จำเป็นต้องซื้อ Thai ESG หรือ RMF ก็สามารถประหยัดภาษีได้ทั้งหมดแล้ว จากที่ต้องจ่ายภาษี 6,850 บาท
หากตั้ง DCA 3 เดือนที่เหลือ ก็จะ DCA SSF เดือนละ 45,667 บาท
เคสที่ 2️⃣ เงินเดือน 60,000 บาท (รายได้ปีละ 720,000 บาท)
ถ้าเราใช้สิทธิ์ลดหย่อนและหักค่าใช้จ่ายไปหมดแล้ว ปกติเราจะต้องเสียภาษี 29,750 บาท
แต่ถ้าเราแบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่ง
(1) เริ่มซื้อ SSF, RMF รวม 216,000 บาท
(2) ตามด้วยซื้อกองทุน Thai ESG 100,000 บาท (จริงๆ แล้วในกรณีที่รายได้ปีละ 720,000 บาท จะซื้อได้สูงสุดถึง 216,000 บาท)
เราจะเหลือรายได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษี 199,000 บาท
คิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายแค่ 2,450 บาท
หรือประหยัดไปได้ถึง 27,300 บาท
หากตั้ง DCA 3 เดือนที่เหลือ ก็จะ DCA SSF, RMF เดือนละ 72,000 บาท และ DCA Thai ESG เดือนละ 33,334 บาท
ก่อนจะไปตัวอย่างถัดไปที่เป็นเคสรายได้สูง ต้องบอกก่อนว่าแม้เราจะมีรายได้สูงๆ แต่ก็ไม่สามารถซื้อกองลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด จะมีเกณฑ์คือ ซื้อ SSF, RMF ได้อย่างละไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน:
SSF สูงสุด 200,000 บาท ส่วน RMF สูงสุด 500,000
แต่เมื่อรวมกับ PVD และประกันบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ในส่วนของกองทุน Thai ESG ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมินเช่นกัน แต่สามารถซื้อได้สูงสุด 300,000 บาท (ไม่รวมอยู่ใน 500,000 บาทแรก)
เคสที่ 3️⃣ เงินเดือน 80,000 บาท (รายได้ปีละ 960,000 บาท)
ถ้าเราใช้สิทธิ์ลดหย่อนและหักค่าใช้จ่ายไปหมดแล้ว ปกติเราจะต้องเสียภาษี 63,950 บาท
แต่ถ้าเราแบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่ง
(1) เริ่มซื้อ SSF, RMF รวม 452,000 บาท (PVD อีก 48,0000 บาท รวมทั้งหมดจะเป็น 500,000 บาทตามเกณฑ์)
(2) ตามด้วยซื้อกองทุน Thai ESG 100,000 บาท (จริงๆ แล้วในกรณีที่รายได้ปีละ 960,000 บาท จะซื้อได้สูงสุดถึง 288,000 บาท)
เราจะเหลือรายได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษี 191,000 บาท
คิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายแค่ 2,050 บาท
หรือประหยัดไปได้ถึง 61,900 บาท
หากตั้ง DCA 3 เดือนที่เหลือ ก็จะ DCA SSF, RMF เดือนละ 150,667 บาท และ DCA Thai ESG เดือนละ 33,334 บาท
เคสที่ 4️⃣ เงินเดือน 100,000 บาท (รายได้ปีละ 1,200,000 บาท)
ถ้าเราใช้สิทธิ์ลดหย่อนและหักค่าใช้จ่ายไปหมดแล้ว ปกติเราจะต้องเสียภาษี 109,200 บาท
แต่ถ้าเราแบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่ง
(1) เริ่มซื้อ SSF, RMF รวม 440,000 บาท (PVD อีก 60,0000 บาท รวมทั้งหมดจะเป็น 500,000 บาทตามเกณฑ์)
(2) ตามด้วยซื้อกองทุน Thai ESG สูงสุด 300,000 บาท
เราจะเหลือรายได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษี 231,000 บาท
คิดเป็นภาษีที่ต้องจ่ายแค่ 4,050 บาท
หรือประหยัดไปได้ถึง 105,150 บาท
หากตั้ง DCA 3 เดือนที่เหลือ ก็จะ DCA SSF, RMF เดือนละ 146,667 บาท และ DCA Thai ESG เดือนละ 100,000 บาท
📌ทั้งนี้การตัดสินใจที่จะลงทุนเท่าไรนั้น แต่ละคนก็ต้องพิจารณาถึงภาระของตัวเองด้วย ควรลงทุนเท่าที่เหมาะสม แต่ถ้าหากใครไม่มีภาระอะไร เราก็แนะนำให้ลงทุนให้ได้มากที่สุด สำหรับ PVD หลายบริษัทเปิดโอกาสให้เราเลือกหักเงินสะสมได้ตั้งแต่ 2%-15% เลย ถ้าใครไม่แน่ใจว่าของบริษัทตัวเองหักได้เท่าไร ก็ลองสอบถาม HR ดูนะ
📌สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติม: ถ้ารู้สึกว่าใจนึงก็อยากลงทุนเพราะอยากใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี แต่อีกใจก็ยังกังวลถึงความไม่แน่นอนของตลาดหุ้น สิ่งที่เพื่อนๆ สามารถทำได้คือลงทุน SSF, RMF กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) ไปก่อนได้
เมื่อตลาดลดความผันผวนลง จึงค่อยสับเปลี่ยนมายังกองทุนที่ต้องการ
โฆษณา