31 ต.ค. เวลา 05:45 • หุ้น & เศรษฐกิจ

คนเจน Z “จุ่มฮีลใจ” ดันรายได้ Pop Mart โต 125% สวนเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

Pop Mart รายงาน คาดรายได้ไตรมาส 3/2024 โตขึ้น 125% ผู้เชี่ยวชาญชี้เกิดจากกระแส “บริโภคตามอารมณ์” ของคนรุ่นใหม่
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัวเป็นวงกว้าง กลับมีอยู่ธุรกิจหนึ่งที่โตวันโตคืนอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง นั่นคือธุรกิจ “ตุ๊กตากล่องสุ่ม” (Blind Box) ของ Pop Mart
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา Pop Mart เผยแพร่รายงานอัปเดตสถานการณ์ธุรกิจ และประเมินว่า รายได้ในไตรมาสที่ 3/2024 อาจพุ่งสูงขึ้น 120 ถึง 125% ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้นักวิเคราะห์กล่าวว่า “เกินความคาดหมายของตลาดไปมาก”
Pop Mart คาดรายได้ไตรมาส 3/2024 โตขึ้น 125%
รายงานระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 นั้น Pop Mart มีการเติบโตที่แข็งแกร่งทั้งยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและร้านค้าออฟไลน์ ขณะที่รายได้จากตลาดต่างประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้น
การเติบโตท่ามกลางความซบเซาของการใช้จ่ายในจีนนี้เกิดจากคนรุ่นใหม่หลายล้านคนที่อาจไม่ได้มีรายได้มากนัก แต่เป็นผู้บริโภคที่ใจป้ำและยอมทุ่มสุดตัวสำหรับของเล่นชิ้นเล็ก ๆ ที่ให้คุณค่าทางอารมณ์และสังคมนี้
นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า คนรุ่น Gen Z (เกิดระหว่างปี 1996 ถึง 2012) มีอยู่ประมาณ 280 ล้านคนในประเทศจีน กำลังเป็นผู้ขับเคลื่อนกระแส “การบริโภคตามอารมณ์” (Emotional Consumption)
ม่อ ไต้ชิง นักวิเคราะห์อาวุโสของศูนย์วิจัยอีคอมเมิร์ซจีน กล่าวว่า ผู้บริโภครุ่นใหม่ชาวจีนเต็มใจที่จะใช้จ่ายเงินให้กับสิ่งของที่อาจดูไร้ประโยชน์และมีราคาแพง แต่กลับทำให้พวกเขามีความสุขหรือทำให้มีอารมณ์ดีขึ้น
“เด็ก ๆ มีความต้องการทางอารมณ์สูงเนื่องจากต้องใช้ชีวิตในสังคมที่เร่งรีบและอยู่ภายใต้ความกดดันสูง” ม่อกล่าว โดยชี้ให้เห็นว่า สินค้าอย่างของเล่นกล่องสุ่ม หรือของตกแต่งแปลก ๆ กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาว สินค้าเหล่านี้มักไม่จำเป็นต้องใช้งานได้จริง แต่เป็นแหล่งความสบายใจ ความบันเทิง หรือการแสดงออกถึงตัวตน
กล่องสุ่มขนาดเล็กของ Pop Mart มักมีราคาอยู่ระหว่าง 69-79 หยวน (ราว 320-380 บาท) ในขณะที่กล่องขนาดใหญ่สามารถขายได้หลายพันหยวน
เฉา จั่ว นักศึกษามหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ที่เป็นแฟนตัวยงของของเล่นจากร้าน Pop Mart กล่าวว่า ผู้คนที่ซื้อกล่องสุ่มอย่างต่อเนื่องนั้นกำลัง “จ่ายเงินเพื่อความรัก” เนื่องจากกล่องสุ่มสินค้าเหล่านี้มีสินค้าน่ารัก ๆ ที่ “ให้ความพึงพอใจทางจิตใจในระดับหนึ่ง”
เธอบอกว่า “คนหนุ่มสาวโดยทั่วไปมักจะหุนหันพลันแล่นและกล้าที่จะเสี่ยงในสิ่งที่ไม่รู้จัก ... ของเล่นในกล่องสุ่มของ Pop Mart มีองค์ประกอบทางจิตวิญญาณที่คนหนุ่มสาวหาได้ยากในโลกความเป็นจริง”
ความชอบดังกล่าวยังส่งผลต่อความสำเร็จของ Jellycat ซึ่งเป็นแบรนด์ของเล่นตุ๊กตาจากสหราชอาณาจักรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแบรนด์หนึ่งในจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จากผลการสำรวจที่เผยแพร่โดย Seashell Finance ในเดือน ก.ค. พบว่า คนหนุ่มสาวชาวจีนเกือบ 30% ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการรักษาจิตใจหรือมีคุณค่าทางอารมณ์
ขณะที่ในเดือน พ.ค. สมาคมผู้บริโภคจีนรายงานสิทธิผู้บริโภคประจำปีซึ่งพบว่า การปลดปล่อยทางอารมณ์จะกลายเป็น “ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภครุ่นใหม่”
เรียบเรียงจาก SCMP
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/wealth/stock-investment/235656
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา