31 ต.ค. 2024 เวลา 04:58 • หนังสือ

เหตุละเมิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เสียหายต้องฟ้องใคร ที่ศาลใด?

ในชีวิตประจำวัน เรามักจะพบกับการให้บริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐ เช่น การจัดเก็บขยะ การรักษาความสะอาด การซ่อมถนน ซึ่งการให้บริการเหล่านี้มักมีผลกระทบต่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของประชาชน หากเกิดความเสียหายจากการให้บริการดังกล่าว ประชาชนสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐได้หรือไม่ ?
เหตุการณ์ที่จะนำมาเล่าในครั้งนี้ เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของเทศบาลแห่งหนึ่งขับรถยนต์ราชการเพื่อเก็บขยะในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่รายนี้ขับรถด้วยความประมาท ไม่ใช้สัญญาณไฟเลี้ยวเมื่อเปลี่ยนเลน ทำให้เกิดอุบัติเหตุชนกับรถจักรยานยนต์ที่มีนายโชค(ร้าย) เป็นผู้ขับขี่ และมีภรรยานั่งซ้อนท้ายมาด้วย ส่งผลให้ทั้งคู่เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ
เมื่อคนขับรถหรือผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือที่เรียกว่าผู้กระทำละเมิดนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและ ได้กระทำละเมิดในขณะปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานของรัฐในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายแทนเจ้าหน้าที่ของตน
โดยผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ได้ แต่จะฟ้องตัวเจ้าหน้าที่ไม่ได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หรือจะเลือกใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ก็ได้
กรณีหากผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า #จะต้องไปยื่นฟ้องที่ศาลใด ? ระหว่างศาลปกครองกับศาลยุติธรรม ?
หลายท่านอาจจะเข้าใจว่า หากผู้กระทำละเมิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และความเสียหายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว คดีจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองทุกกรณี จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เรามาดูแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องนี้กันครับ
โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียชีวิตเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของเทศบาลได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงยื่นฟ้องเทศบาลในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า เทศบาลมีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 ในการรักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลในเขตเทศบาลอันเป็นการให้บริการสาธารณะ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
และเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ และเจ้าหน้าที่ของเทศบาลถือเป็นเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ความเสียหายที่เกิดแก่ผู้เสียชีวิตทั้งสองรายนั้น เป็นผลมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ในขณะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเทศบาลในการรักษาความสะอาดในเขตพื้นที่เทศบาล เทศบาลจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว
เมื่อพิจารณาอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ แล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น ละเมิดจากการออกกฎ หรือจากการออกคำสั่งทางปกครอง หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
ซึ่งไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไปของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เมื่อคดีนี้เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจาก การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ขับรถบรรทุกเก็บขยะมูลฝอยอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาได้
คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา 194 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น #ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม
สรุปได้ว่า การกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ทุกกรณี แต่กรณีใดจะฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมนั้น ต้องพิจารณาถึงลักษณะของการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ เช่น การออกคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งลงโทษทางวินัย การออกโฉนดที่ดิน) ถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการไว้ อันเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วนการขับรถนั้นมีลักษณะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไปเช่นเดียวกับการรักษาคนไข้ของแพทย์ ซึ่งไม่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมาย หากมีการกระทำละเมิด ผู้เสียหายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลยุติธรรม
***อ้างอิง คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 14/2563
#กฎหมายปกครอง
#คดีปกครอง
#คดีเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด
#คดีเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล
โฆษณา