Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
•
ติดตาม
27 พ.ย. เวลา 09:56 • หุ้น & เศรษฐกิจ
5 กับดักการลงทุนที่ First Jobbers ต้องระวัง
การเริ่มการลงทุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของชีวิตการทำงาน เป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้นที่จะทำให้เงินเติบโตเพิ่มมากขึ้น สร้างความมั่งคั่งและช่วยให้มีโอกาสได้รับอิสรภาพทางการเงินเร็ว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเริ่มต้นลงทุนเร็วจะมีข้อได้เปรียบ แต่มีกับดักที่ชาว First Jobbers มักเจอบ่อย ๆ และควรต้องระวังดังนี้
1. ไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน
ชาว First Jobbers หลายคนมีความตั้งใจจะออมเงิน แต่เมื่อถึงสิ้นเดือนกลับพบว่าเงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ช็อปปิงออนไลน์จนลืมตัว ซึ่งปัญหาของการไม่มีเป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน
สำหรับการตั้งเป้าหมายทางการเงิน อาจใช้เทคนิคเรียกว่า บอร์ดภาพเป้าหมาย (Vision Board) ทำได้โดยรวบรวมภาพ คำคม หรือสัญลักษณ์ที่แทนเป้าหมายของตัวเอง แล้วจัดวางบนบอร์ดหรือในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งงานวิจัยของ Dr.Gail Matthews แห่ง Dominican University พบว่า การเขียนเป้าหมายและแสดงภาพประกอบเพิ่มโอกาสความสำเร็จถึง 42% โดยเทคนิคนี้สามารถช่วยพัฒนาเป้าหมายทางการเงินได้หลายวิธี
• สร้างความชัดเจน การสร้างภาพของเป้าหมายทางการเงิน เช่น บ้านในฝัน การเกษียณอย่างสบาย ช่วยให้เห็นภาพเป้าหมายชัดเจนขึ้น ทำให้การวางแผนทำได้ง่ายและตรงจุดมากขึ้น
• เพิ่มแรงจูงใจ การเห็นภาพเป้าหมายทุกวันช่วยกระตุ้นแรงจูงใจ ทำให้มีกำลังใจในการออมและลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่ต้องเผชิญความท้าทาย
• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยเตือนใจเกี่ยวกับเป้าหมายระยะยาว ทำให้ตัดสินใจทางการเงินได้ดีขึ้น เช่น ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อเก็บเงินลงทุน
• จัดลำดับความสำคัญ การเห็นภาพรวมของเป้าหมายทางการเงินทั้งหมดช่วยให้จัดลำดับความสำคัญได้ดีขึ้น ทำให้การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่สำคัญควรทบทวนเป้าหมายเป็นระยะ อย่างน้อยทุก 6 เดือน เพราะชีวิตอาจเปลี่ยนแปลง และเป้าหมายก็อาจต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยให้มีทิศทางในการจัดการเงิน และทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ลงทุนโดยไม่มีความรู้เพียงพอ
ชาว First Jobbers อาจตื่นเต้นกับการมีรายได้เป็นของตัวเองครั้งแรก และอยากลองลงทุนบ้าง แต่การลงทุนโดยไม่ระมัดวังอาจเกิดความผิดพลาดและอาจสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด ดังนั้น การศึกษาหาความรู้ก่อนลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจพื้นฐานการลงทุน เช่น ความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภท การกระจายความเสี่ยง และการลงทุนแบบสม่ำเสมอต้นทุนเฉลี่ย (DCA)
นอกจากนี้ การเข้าใจจิตวิทยาการลงทุนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้เข้าใจกลไกการตัดสินใจได้ดีขึ้น รวมถึงการติดตามข่าวสารเศรษฐกิจอยู่เสมอ ที่สำคัญ ถ้ารู้สึกว่ายังไม่พร้อมก็ไม่ต้องรีบร้อนลงทุน สามารถเริ่มต้นด้วยการออมในบัญชีเงินฝาก ระหว่างนั้นก็ค่อย ๆ สะสมความรู้ไป เมื่อพร้อมแล้วค่อยเริ่มลงทุนจริงก็ไม่สาย
3. ไม่กระจายความเสี่ยง
“อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว” ถือเป็นหัวใจของการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน แต่ชาว First Jobbers อาจมองข้ามความสำคัญของเรื่องนี้
หากลงทุนโดยไม่กระจายความเสี่ยงอาจทำให้สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมด เช่น นำเงินทั้งหมดไปลงทุนในหุ้นตัวเดียว แล้วบริษัทประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจหลายปี ราคาหุ้นก็จะปรับลดลง ถ้ายังถือหุ้นต่อไปก็จะขาดทุน ดังนั้น ควรกระจายความเสี่ยงเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเงินลงทุน
• กระจายประเภทสินทรัพย์ แบ่งเงินลงทุนไปในสินทรัพย์หลายประเภท เช่น หุ้น กองทุนรวม พันธบัตร ทองคำ เพราะแต่ละประเภทมีความเสี่ยงและผลตอบแทนต่างกัน การผสมผสานจะช่วยลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ตลงทุน
• กระจายภูมิภาค ลงทุนในหลายประเทศหรือภูมิภาค เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจหรือการเมืองในประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น กองทุนรวมต่างประเทศ กองทุน ETFs หุ้นทั่วโลก
• กระจายอุตสาหกรรม ลงทุนในหลายอุตสาหกรรม เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมีวงจรธุรกิจต่างกัน บางช่วงอุตสาหกรรมหนึ่งเติบโต ในขณะที่อีกอุตสาหกรรมซบเซา ซึ่งการกระจายการลงทุนจะช่วยรักษาสมดุลให้พอร์ตลงทุน
• กระจายระยะเวลา ใช้วิธีการลงทุนแบบ DCA โดยทยอยลงทุนสม่ำเสมอ แทนที่จะลงทุนครั้งเดียวทั้งก้อน วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะตลาดผิดพลาด
สำหรับชาว First Jobbers ที่ลงทุนด้วยเงินจำนวนไม่มาก การเริ่มต้นด้วยกองทุนรวมที่มีการกระจายความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น กองทุนรวมดัชนี หรือกองทุน ETFs ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะไม่ขาดทุน แต่เป็นวิธีช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดได้ดี
ที่สำคัญ ควรทบทวนและปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalancing) อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้พอร์ตลงทุนยังคงสอดคล้องกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้
4. ใจร้อนและตัดสินใจด้วยอารมณ์
เมื่อชาว First Jobbers เห็นราคาหุ้นตัวหนึ่งกำลังปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ตัดสินใจเข้าซื้อทันทีด้วยความตื่นเต้น หรือชาว First Jobbers ซื้อหุ้น 2 ตัวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วันนี้ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างรวดเร็วก็รีบขายออกทั้งหมดด้วยความกลัว โดยสองกรณีดังกล่าวเป็นการตัดสินใจลงทุนด้วยอารมณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อผิดพลาดที่พบเห็นได้บ่อย ๆ
ผลลัพธ์ของการลงทุนด้วยอารมณ์มักจะมีโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนได้สูง หรือพลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น การลงทุนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวจะต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้
• มีแผนการลงทุนที่ชัดเจน กำหนดเป้าหมาย ระยะเวลา และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดความผันผวน จะได้มีหลักยึดและไม่ตัดสินใจผิดพลาดเพราะอารมณ์ชั่ววูบ
• ใช้หลักการ DCA ทยอยลงทุนสม่ำเสมอ ไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลง วิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันจากการจับจังหวะตลาด และลดโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดเพราะอารมณ์
• เข้าใจ Behavioral Finance ศึกษาเรื่องจิตวิทยาการลงทุน เช่น กลัวการขาดทุนมากกว่าความดีใจเมื่อได้กำไร หรือ การทำตามคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล เพราะเมื่อเข้าใจว่าสมองมีอคติแบบไหน ก็จะระวังตัวได้มากขึ้น
• ใช้เครื่องมือช่วยตัดสินใจ เช่น การตั้ง Stop Loss หรือ Take Profit ไว้ล่วงหน้า เพื่อจำกัดการขาดทุนหรือล็อกกำไร โดยไม่ต้องใช้อารมณ์ตัดสินใจในช่วงที่ตลาดผันผวน
• พักสักครู่ก่อนตัดสินใจ เมื่อรู้สึกว่ากำลังจะตัดสินใจด้วยความกลัวหรือความโลภ ลองหยุดพัก นับ 1 ถึง 10 หรือเดินออกไปดื่มน้ำสักแก้ว แล้วกลับมาทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งด้วยเหตุและผล
• จดบันทึกการลงทุน บันทึกเหตุผลที่ตัดสินใจลงทุนหรือขายในแต่ละครั้ง รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก เมื่อกลับมาอ่านภายหลัง จะเห็นรูปแบบการตัดสินใจของตัวเอง และเรียนรู้จากประสบการณ์ได้ดีขึ้น
• มองภาพใหญ่ เมื่อตลาดผันผวน ลองถอยออกมามองภาพใหญ่ อาจพบว่าความผันผวนระยะสั้นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ บนเส้นทางการเติบโตระยะยาว
อย่าลืมว่าการลงทุนต้องอาศัยทั้งความรู้และการควบคุมอารมณ์ การฝึกฝนและสร้างวินัยในการลงทุนอาจต้องใช้เวลา ถ้าทำได้จะเกิดความคุ้มค่า เพราะไม่ได้ช่วยแค่เรื่องการลงทุน แต่ยังช่วยให้ตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ ของชีวิตได้ดีขึ้นด้วย
5. ละเลยการวางแผนภาษีและประกัน
ชาว First Jobbers ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษีและประกันควบคู่ไปกับการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพราะถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยปกป้องความมั่งคั่งที่ตัวเองสร้างขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการเงิน
การวางแผนภาษี
• รู้จักสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การลงทุนในกองทุน SSF และ RMF ที่ช่วยลดหย่อนภาษี แต่ต้องระวังเงื่อนไขการถือครองด้วย
• ลดหย่อนด้วยเงินบริจาคกรณีต่าง ๆ การทำบุญนอกจากจะได้บุญกุศลแล้ว ใบอนุโมทนาหรือใบเสร็จเงินบริจาคยังสามารถนำมาช่วยให้ผู้มีเงินได้จ่ายภาษีน้อยลงอีกด้วย
• ศึกษาสิทธิหักค่าลดหย่อนภาษีกรณีพิเศษจากภาครัฐ ถึงแม้การลดหย่อนกรณีพิเศษอาจเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่หากภาครัฐออกมาตรการลดหย่อนภาษี กรมสรรพากรก็จะเข้ามาจัดรายการพิเศษ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน โดยการลดหย่อนภาษีให้หรือขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษี
• ติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษี กฎหมายภาษีมักมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ควรติดตามข่าวสารและปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ ๆ
การวางแผนประกัน
• ประกันชีวิต ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว หากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับตัวเอง ก็ยังสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย
• ประกันสุขภาพ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายหากเจ็บป่วย ซึ่งอาจกระทบกับแผนการลงทุนของตัวเองได้
• ประกันอุบัติเหตุ เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการทำงานหรือการเดินทาง
• ประกันทรัพย์สิน หากมีทรัพย์สินมีค่า เช่น บ้าน รถยนต์ การทำประกันจะช่วยป้องกันความเสียหายทางการเงินหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน
เป้าหมายชีวิตสำเร็จได้ด้วย นักวางแผนการเงิน CFP®
ติดตามข่าวสารสมาคมฯ ผ่านช่องทางอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่
📌 Facebook Page
https://fb.me/ThaiFinancialPlanners
📌 LINE Official Account
https://page.line.me/cfpthailand
📌 YouTube
https://www.youtube.com/@ThaiFinancialPlanners
📌 TikTok
https://www.tiktok.com/@cfpthailand
📌 Spotify Podcast
https://spoti.fi/45kkuIV
📌 Apple Podcast
https://apple.co/3QwZ4UJ
วางแผนการเงิน
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย