1 พ.ย. เวลา 00:30 • ข่าวรอบโลก

อำนาจนิวเคลียร์ : อิหร่าน

ในอดีต เมื่อสหรัฐอเมริกาได้ทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2488 และทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2488 เพียงสี่ปีต่อมา สหภาพโซเวียตก็ทำการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรก ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร (2495) ฝรั่งเศส (2503) และจีน (2507) เพื่อพยายามป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์ขยายตัวออกไปอีก
สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ที่มีแนวคิดเดียวกันได้เจรจาสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ในปี 2511 และสนธิสัญญาห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยครอบคลุม (CTBT) ในปี 2539 ซึ่งอินเดีย อิสราเอล และปากีสถาน ไม่เคยลงนามใน NPT และไม่เคยยอมรับว่าครอบครองคลังอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนอิรักได้ริเริ่มโครงการนิวเคลียร์ลับภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน ก่อนสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534
1
ต่อมา เกาหลีเหนือก็ประกาศถอนตัวจาก NPT ในเดือนมกราคม 2546 และทดสอบอุปกรณ์นิวเคลียร์ขั้นสูงสำเร็จตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้ อิหร่านและลิเบียถูกสงสัยว่าดำเนินกิจกรรมนิวเคลียร์ลับโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขของสนธิสัญญา และซีเรียก็ถูกสงสัยว่าทำเช่นเดียวกัน
อิหร่านได้นำกลยุทธ์สงครามตัวแทนมาใช้ตอบโต้แรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และพันธมิตร ซึ่งเครือข่ายพร็อกซีติดอาวุธของอิหร่าน ก็ประสบความสำเร็จมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว เริ่มจากกลุ่มฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ไปจนถึงกลุ่มนักรบชาวปาเลสไตน์ เช่น กลุ่มฮามาสและญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา กลุ่มนักรบอิรักต่างๆ และกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน
อิหร่านหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับอิสราเอลมาเป็นเวลานาน แม้ว่าอิสราเอลจะโจมตีกลุ่มเครือข่ายพร็อกซีติดอาวุธต่างๆ เช่นในซีเรีย ปาเลสไตน์ และลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่านหลายคน ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาก็ตาม
แต่การที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แสดงถึงแรงกดดันของตัวแทนอิหร่านที่มีความเข้มข้นมากขึ้น นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลประกาศจะ “ ตอบโต้ ” อย่างรุนแรงต่อการโจมตีด้วยขีปนาวุธครั้งล่าสุดของอิหร่านต่ออิสราเอล ซึ่งอาจผลักดันให้อิหร่านกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอิสราเอลโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน
แหล่งนิวเคลียร์สำคัญของอิหร่าน
ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นต่อผู้นำอิหร่าน อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายของอิหร่าน ซึ่งยืนกรานมาเป็นเวลานานว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ทางพลเรือนเท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะพัฒนาเพื่อองค์ประกอบทางการทหาร
ทางการอิหร่านส่งสัญญาณเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 รัฐสภาอิหร่านประกาศว่าได้รับร่างกฎหมายสำหรับ "การขยายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน" ซึ่งมีการหารือกันในรัฐสภา โดยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าการขยายตัวดังกล่าวจะรวมถึงโครงการทางทหารหรือไม่
ความเข้มข้นของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างดุเดือดในอิหร่าน กลุ่มหัวรุนแรงของอิหร่านได้ออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้มีการตอบโต้อิสราเอล โดยขอให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการป้องกันประเทศ ควรมีการพิจารณาทบทวนการห้ามผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และผลักดันการพัฒนาระเบิดนิวเคลียร์
สมาชิกรัฐสภา 39 คน ได้เขียนจดหมายถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุด เพื่อเรียกร้องให้สภาฯ ทบทวนนโยบายนิวเคลียร์ในปัจจุบัน ที่อ้างอิงหลักคำสอนด้านการป้องกันประเทศและคำสั่งของผู้นำสูงสุด อายาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ที่ห้ามการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์ปัจจุบันกลุ่มเครือข่ายพร็อกซีติดอาวุธต่างๆ ของอิหร่านกำลังอ่อนแอลง ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อาลี คาเมเนอี สามารถพิจารณาคำสั่งห้ามทางศาสนาเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ของตนใหม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ความสามารถในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสามารถในการยับยั้งและรับรองความมั่นคงของชาติ หากอิสราเอลจะมีอาวุธนิวเคลียร์ อิหร่านก็จำเป็นจะต้องแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตนเอง
โมฮัมหมัด เรซา ซาบาเกียน ส.ส.อิหร่าน  กล่าว
อายาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เข้าร่วมการประชุมกับสมาชิกฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียน ในกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2024 (สำนักงานผู้นำสูงสุดของอิหร่านผ่านเอพี)
ประวัติความเป็นมาของ ฟัตวาแห่งนิวเคลียร์ของผู้นำสูงสุด อายาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี
ในปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ของอิหร่าน คาเมเนอีได้ประกาศห้ามการผลิต การกักตุน และการใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งแรก หกปีต่อมา ช่วงวิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เขาได้ย้ำถึงข้อห้ามนี้อีกครั้งในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณะ
ในช่วงที่อิหร่านถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ระหว่างปี 2549 ถึง 2553 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีการออกมติคว่ำบาตร 6 ฉบับ ทำให้คำสั่งฟัตวาที่อ้างว่าเป็นของคาเมเนอี ได้รับการเผยแพร่ในปี 2553 และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือชี้นำในข้อตกลง JCPOA เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่อิหร่าน
ผู้ประท้วงชาวอิหร่านจุดไฟเผาผ้าคลุมศีรษะขณะเดินขบวนไปตามถนนในกรุงเตหะราน Getty Images
บทความในหนังสือพิมพ์ Javan ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของอิหร่าน ได้เรียกร้องให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงหลักคำสอนเรื่องนิวเคลียร์ คำวินิจฉัยหรือฟัตวา ไม่ใช่เอกสารทางกฎหมายแต่เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายอิสลามที่เสนอโดยนักบวชระดับสูง คำวินิจฉัยนี้ไม่ได้กำหนดตายตัวและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
เราเชื่อว่านอกเหนือจากอาวุธนิวเคลียร์แล้ว อาวุธทำลายล้างสูงประเภทอื่นๆ เช่น อาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ ยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อมนุษยชาติอีกด้วย ชาติอิหร่าน… รู้สึกถึงอันตรายที่เกิดจากการผลิตและสะสมอาวุธดังกล่าวมากกว่าชาติอื่นใด… เราถือว่าการใช้อาวุธดังกล่าวเป็นสิ่งต้องห้าม และเชื่อว่าทุกคนต้องพยายามปกป้องมนุษยชาติจากภัยพิบัติครั้งใหญ่ครั้งนี้
ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อายาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี แถลงต่อการประชุมปลดอาวุธนิวเคลียร์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
นักกฎหมายชีอะห์ไม่เห็นด้วยกับ “ฟัตวานิวเคลียร์” นี้ ด้วยเห็นว่าขัดแย้งกับคำฟัตวาอื่น ๆ ของหลักนิติศาสตร์ชีอะห์ และอาลี คาเมเนอีไม่เคยดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจในการออกคำสั่งฟัตวา
ผู้นำทางทหารและการเมืองของอิหร่านเสนอแนะให้เปลี่ยนนโยบายนิวเคลียร์ไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์อยู่บ่อยครั้ง ความพ่ายแพ้ของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์แห่งเลบานอน ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของอิหร่าน ทำให้เกิดความเชื่อว่าขณะนี้อิหร่านกำลังเผชิญหน้ากับอิสราเอลโดยตรง
จะทำอย่างไรกับนิวเคลียร์ใต้อำนาจของอิหร่าน?
ในปี 2545 มีการค้นพบโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน การค้นพบดังกล่าวทำให้สหรัฐและพันธมิตรเชื่อว่าอิหร่านตั้งใจจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าอิหร่านจะปฏิเสธก็ตาม จึงเป็นที่มาของ The Joint Comprehensive Plan of Action : JCPOA แผนปฏิบัติการร่วมครอบคลุม หรือข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งบรรลุข้อตกลงในปี 2558
จอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกจากเวทีที่ศูนย์นานาชาติเวียนนา ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ในระหว่างการเจรจาที่อิหร่านและมหาอำนาจโลก 6 ชาติได้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์/รอยเตอร์
JCPOA เกิดขึ้นในยุครัฐบาลของบารัค โอบามา เป็นแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างอิหร่าน สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา (5 ประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับเยอรมนี) เพื่อจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร แผนปฏิบัติการนี้ได้รับการรับรองโดยมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 2231 (2558)
นับเป็นความสำเร็จทางการทูตครั้งสำคัญของสหภาพยุโรป (EU) ในฐานะผู้ประสานงานระหว่างรัฐภาคีทั้ง 6 ฝ่าย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการรับประกันสันติภาพและเสถียรภาพในตะวันออกกลาง
เมื่อรัฐสภาอิหร่านได้อนุมัติร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม JCPOA หลังจากนั้น ในวันที่ 18 ตุลาคม 2558 ได้มีการรับรอง JCPOA โดยผู้เข้าร่วมข้อตกลงทุกคนเริ่มเตรียมการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีของตน ซึ่งรวมถึงการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน เมื่อสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตรวจยืนยันว่าอิหร่านได้ดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมดแล้ว
จอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พูดคุยกับโมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ในกรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2559 หลังจากที่สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศยืนยันว่าอิหร่านได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์/AP
JCPOA เกิดขึ้นเพื่อจำกัดความก้าวหน้าของอิหร่านในการพัฒนาด้านอาวุธนิวเคลียร์ โดยในระยะยาวอิหร่านตกลงว่าภายใน 15 ปีข้างหน้า อิหร่านจะลดกิจกรรมแสวงหาหรือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ใดๆ เช่น ไม่เสริมสมรรถนะยูเรเนียมเกิน 3.67% และจะลดปริมาณยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำจาก 9,000 กิโลกรัมเหลือ 300 กิโลกรัม โดยให้ปฏิบัติต่อโครงการนิวเคลียร์ของประเทศในลักษณะเดียวกับประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์อื่นๆ ที่เข้าร่วมสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) เพื่อแลกกับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน
วันที่ 8 พฤษภาคม 2561 สหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากข้อตกลง JCPOA ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงการขีปนาวุธพิสัยไกลของอิหร่านและสงครามตัวแทนในภูมิภาคได้ หลังการประกาศถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวไม่นานสหรัฐอเมริกาก็กลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ เจ. ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โชว์บันทึกความจำของประธานาธิบดีหลังจากประกาศความตั้งใจที่จะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (ภาพ โดย Jonathan Ernst/Reuters)
ในเดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา อิหร่านยังคงละเมิดเงื่อนไขของข้อตกลง JCPOA โดยได้ยกเลิกเพดานปริมาณยูเรเนียมสำรอง สูงกว่าระดับที่ได้รับอนุญาตถึง 30 เท่า และเพิ่มกิจกรรมการเสริมสมรรถนะเป็น 60% ซึ่งสูงกว่า 3.67% ที่ได้รับอนุญาตภายใต้ JCPOA อย่างมาก พร้อมทั้งกลับมาดำเนินกิจกรรมโรงงานนิวเคลียร์ที่เคยถูกห้ามภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงอีกครั้ง
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็ไม่สามารถติดตามกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่านได้อย่างชัดเจน และในช่วงต้นปี 2566 IAEA ยังคงรายงานการค้นพบอนุภาคของยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นถึง 83.7% ซึ่งยูเรเนียมเกรดอาวุธมีความเข้มข้นระดับ 90%
เจ้าหน้าที่จากจีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิหร่าน รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมตัวกันหลังจากสรุปข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านแล้ว Carlos Barria/Reuters
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 มีความพยายามที่จะนำอิหร่านกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อเข้าสู่กระบวนการหารือ JCPOA อีกครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในเดือนกันยายน 2567 IAEA และE3 (สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี) คาดว่าอิหร่านมียูเรเนียมที่เสริมสมรรถนะสูงถึง 90% (ระดับอาวุธ) ซึ่งตามทฤษฎีเพียงพอสำหรับสร้างระเบิดนิวเคลียร์ 4 ลูก
แม้ว่าสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับว่ายังไม่มีหลักฐานว่าอิหร่านกำลังเดินหน้าสร้างอาวุธนิวเคลียร์ แต่สังคมโลกก็เชื่อกันว่า อิสราเอลและอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามเต็มรูปแบบ อีกทั้งยังมีแนวโน้มไปสู่สงครามภูมิภาคเมื่อซาอุดีอาระเบียได้ประกาศว่าจะแสวงหาคลังอาวุธนิวเคลียร์หากอิหร่านยังคงพัฒนาอาวุธดังกล่าว
ภาพหน้าจอจากวิดีโอของกองทัพสหรัฐฯ ที่แสดงให้เห็นเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 ทิ้งระเบิด Massive Ordnance Penetrator สองลูกในปี 2019
สหรัฐอเมริกาได้พัฒนาเครื่อง Massive Ordnance Penetrator ในช่วงทศวรรษปี 2000 เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มมากขึ้นว่าอิหร่านอาจจะสร้างสถานที่ทดลองนิวเคลียร์ให้แข็งแกร่งขึ้นโดยการสร้างไว้ใต้ดิน ระบบ Massive Ordnance Penetrator ที่นำวิถีด้วยดาวเทียม หรือที่เรียกอีกอย่างว่า MOP เป็นระเบิดขนาด 30,000 ปอนด์พร้อมหัวรบระเบิดแรงสูงขนาด 6,000 ปอนด์ที่ออกแบบมาเพื่อทำลายเป้าหมายที่มีความแข็งและฝังลึก เช่น บังเกอร์คอนกรีตเสริมเหล็กและอุโมงค์ที่ฝังลึก
ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Planet Labs PBC เมื่อเดือนเมษายน 2023 แสดงให้เห็นการก่อสร้างโรงงานใต้ดินที่โรงงานนิวเคลียร์นาตันซ์ของอิหร่าน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยระเบิดของอิสราเอลหลายครั้ง [Planet Labs PBC via AP]
จากภาพถ่ายดาวเทียมเป็นหลักฐานยืนยันว่าอิหร่านกำลังสร้างโรงงานนิวเคลียร์บนเทือกเขาซากรอส ใกล้กับแหล่งเสริมสมรรถนะนาตันซ์ และดูเหมือนว่าโรงงานจะอยู่ลึกลงไปใต้ดินมากจนไม่สามารถถูกทำลายได้ แม้จะใช้ระเบิดทำลายบังเกอร์ที่ทรงพลังที่สุดของอเมริกา
James Martin Centre for Non-proliferation Studies ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ของสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวว่า มีทางเข้าสี่แห่งถูกขุดลงไปในไหล่เขา โดยแต่ละแห่งกว้าง 6 เมตร สูง 8 เมตร สถานที่แห่งนี้อยู่ลึกลงไป 80-100 เมตร
30 กรกฎาคม 2024 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Josh Gottheimer และ Brian Mast ประกาศกฎหมาย พระราชบัญญัติ Bunker Buster ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีในการปกป้องอิสราเอลด้วยระเบิด Massive Ordnance Penetrator (MOP) ที่สามารถทำลายโครงสร้างพื้นฐานนิวเคลียร์ใต้ดินของอิหร่านได้.
โฆษณา