2 พ.ย. 2024 เวลา 05:45 • สุขภาพ

ค่าสายตาสั้นเท่าไหร่? ควรใส่แว่นสายตา ไม่อยากใส่รักษาอย่างไรได้บ้าง?

ปัญหาสายตา นับเป็นปัญหาจุกจิกของใครหลายคน ยิ่งพนักงานออฟฟิศที่ต้องอยู่หน้าจอทั้งวัน ยิ่งต้องรีบรักษา เผยวิธีอ่านค่าสายตา และค่าสายตาสั้นเท่าไหร่ควรรีบใส่แว่น
ค่าสายตา คือค่าความสามารถในการมองเห็น วัดจากกำลังของกระจกตาและเลนส์ตารวมกัน ค่าสายจะมีหน่วยสากลคือไดออปเตอร์ (Diopter หรือ D.) ซึ่งหมายถึงกำลังของเลนส์ (Optical Power) เราอาจจะคุ้นเคยการเรียกค่าสายตาเป็น สายตายาว หรือสายตาสั้น 50 75 150 200 หรือ 300 ซึ่งการเรียกค่าสายตาดังกล่าวไม่ใช่วิธีเรียกแบบสากล หากนับตามหน่วยไดออปเตอร์แล้วจะนับเป็นเลขทศนิยมสองตำแหน่ง
แว่นสายตา
วิธีอ่านค่าสายตา
RE -2.00 -0.50x180
● RE และ LE คือการบอกว่าค่าสายตานี้เป็นของดวงตาข้างใด RE หรือ OD จะหมายถึงตาด้านขวา ส่วน LE หรือ OS จะหมายถึงตาด้านซ้าย จากในตัวอย่างจึงแสดงว่าค่าสายตานี้เป็นของตาด้านขวา
● ค่าสายตาสั้นหรือยาว หากเครื่องหมายด้านหน้าตัวเลขเป็นเครื่องหมายลบ (-) แสดงว่าเป็นค่าสายตาสั้น ถ้าเป็นเครื่องหมายบวก (+) แสดงว่าเป็นค่าสายตายาว ดังนั้นจากตัวอย่าง “-2.00” จึงหมายถึงสายตาสั้น 2.00 ไดออปเตอร์ หรือสายตาสั้น 200 นั่นเอง
● ค่าสายตาเอียง ค่าสายตาเอียงจะมีค่าที่บอกว่าค่าสายตาเอียงเท่าไหร่ หน่วยเป็นไดออปเตอร์ และมีค่าที่บอกองศาการเอียงด้วย ดังนั้นจากตัวอย่าง “-0.50x180” หมายถึงสายตาเอียง -0.50 ไดออปเตอร์ หรือสายตาเอียง 150 ที่มุม 180 องศา
การวัดค่าสายตา เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อตรวจสอบการมองเห็นเบื้องต้น หลังจากรู้สึกว่าการมองเห็นไม่ชัดเท่าเดิม เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา หลังผ่าตัดดวงตา ทำในขั้นตอนการตรวจสุขภาพดวงตา หรือทำเพื่อวัดสายตาประกอบแว่น เพื่อให้แว่นตามีค่าสายตาที่พอดีกับดวงตาผู้ใช้งาน
ค่าสายตาเท่าไหร่ควรใส่แว่น
● สายตาสั้น 50 จะใส่แว่นหรือไม่ใส่ก็ได้ เนื่องจากสายตาจะค่อนข้างใกล้เคียงกับสายตาปกติ จึงสามารถเลือกที่จะไม่ใส่ได้ บางคนเลือกใส่แค่เฉพาะตอนที่ใช้สายตามากๆ เช่นตอนใช้โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ หรือไม่ใส่เลยก็ได้เช่นกัน
● สายตาสั้น 75 ถึงสายตาสั้น 100 เป็นค่าสายตาที่ก้ำกึ่ง บางคนรู้สึกว่าทำให้ใช้ชีวิตประจำวันยากขึ้น บางคนอาจรู้สึกว่าไม่ได้ต่างจากค่าสายตาปกติ ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่สายตาสั้นว่าต้องการใส่แว่นหรือไม่ ซึ่งนับเป็นค่าสายตาที่ไม่อันตราย สายตาสั้น 100 เป็นอาการสายตาสั้นเพียงเล็กน้อยที่เกิดได้จากทั้งพันธุกรรมและความผิดของดวงตาที่ไม่อันตราย แต่หากมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามาก ค่าสายตาเปลี่ยนเร็ว ให้รีบพบจักษุแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
● สายตาสั้น 150 ถึงสายตาสั้น 200
ส่วนใหญ่จะเริ่มมองเห็นไม่ชัด หากมีปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวันหรือการทำงานก็ควรใส่แว่นสายตาเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุระหว่างวัน หรือหากไม่ได้มีผลกระทบกับการใช้ชีวิต แต่ต้องเพ่งสายตาเพื่อให้มองเห็นก็ควรใส่แว่นเช่นกัน เพื่อลดอาการตาเมื่อ ตาล้า ปวดหัวจากการใช้สายตามากเกินไป
● สายตาสั้น 300 ถึงมากกว่า 300
ถือว่าค่อนข้างเยอะ และมีผลกับการมองเห็นมากแล้ว ผู้ที่สายตาสั้น 300 ขึ้นไปควรใส่แว่นตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ตาเมื่อย ตาล้า และจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดจากการมองเห็นไม่ชัดด้วย
สัญญาณ “ต้อหิน” จากความดันในตาสูง ที่ 90% คนไทยเป็น แต่ไม่เคยรู้ตัว
● เรื่องที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสายตาสั้น
ถ้าไม่ใส่แว่นตลอดเวลาจะสายตาสั้นลง?
เรื่องนี้ไม่ได้จริงเสมอไป เพราะจะเกิดแค่กับเด็กเท่านั้น เนื่องจากเด็กเป็นวัยที่ดวงตายังเติบโตได้อยู่ หากไม่ได้ใส่แว่นตลอดเวลาจนทำให้ใช้สายตาเพ่งมองอยู่บ่อยครั้ง ลูกตาจะยืดออกผิดปกติ (Elongation) ทำให้สายตาสั้นมากขึ้นกว่าเดิมได้ แต่ในผู้ใหญ่จะไม่เกิดขึ้น เพราะการเพ่งสายตาชั่วขณะของผู้ใหญ่ไม่ได้ทำให้ลูกตายืดตาออก เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการตาเมื่อย ตาล้า ปวดศีรษะเท่านั้น ไม่ได้ทำให้สายตาสั้นขึ้นแต่อย่างใด
● ไม่ควรให้เด็กใส่แว่นตามค่าสายตา เพราะจะทำให้สายตาสั้นลง?
หลายคนเข้าใจว่าดวงตาของเด็กยังอ่อนแอเกินกว่าจะใส่แว่น หากใส่แว่นค่าสายตามากๆตามค่าสายตาจริง จะเป็นการทำร้ายดวงตามากเกินไปและทำให้สายตาสั้นมากขึ้น ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย เพราะถ้าเด็กไม่ได้ใส่แว่นตามค่าสายตาที่ควรเป็น เด็กจะเพ่งมองและทำให้ลูกตายืดออกจนสมดุลระยะสายตาผิดปกติและทำให้สายตาสั้นมากขึ้น ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าสายตาเปลี่ยน หรือเปลี่ยนน้อยลง ควรให้เด็กได้ใส่แว่นตาที่เหมาะกับค่าสายตาตั้งแต่ต้น
● สายตาสั้นไม่ทำให้ตาบอด?
ความจริงแล้ว สายตาสั้นอาจทำให้ตาบอดได้ หากสายตาสั้นมากเกินไปและไม่ได้รักษาด้วยการปรับค่าสายตา อย่างการใส่แว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือทำเลสิก จนทำให้มองเห็นเพียงภาพเบลอๆ ก็จะถือว่าเป็นอาการตาบอด นอกจากนี้สายตาสั้นมากๆอาจจะทำให้เกิดโรคที่ทำให้ตาบอดสนิทหรือตาบอดบางส่วนได้ เช่น จอประสาทตาเสื่อม, น้ำวุ้นตาเสื่อม, จอตาฉีกขาดและหลุดลอก เป็นต้น
● ค่าสายตายาวและสายตาสั้น สามารถหักลบกันได้?
สายตายาวและสายตายาวไม่สามารถหักลบกันได้ เพราะเป็นความผิดปกติคนละส่วนกัน กรณีส่วนใหญ่ที่พบได้มากคือเป็นผู้ที่สายตาสั้นจากสรีระดวงตามาตั้งแต่ต้น เมื่ออายุมากขึ้นเกิดเป็นสายตายาวตามอายุจากกล้ามเนื้อควบคุมเลนส์ตาเสื่อม ทำให้มองใกล้ไม่ชัด มองไกลก็ไม่เห็น
● ค่าสายตาที่วัดออกมาได้ จึงจะมีทั้งค่าสายตาสั้น แยกกับค่าสายตายาว เช่น “LE -1.00 +2.00 add” ตัวเลข +2.00 add นั่นคือค่าสายตายาวที่เพิ่มขึ้นมา ในการประกอบแว่น หากอยากให้แว่นแก้ไขได้ทั้งสองค่าสายตา เลนส์จะถูกแบ่งเป็นสองส่วน ครึ่งบนจะเป็นค่าสายตาสั้นใช้สำหรับมองไกล ส่วนครึ่งล่างจะเป็นค่าสายตายาวใช้สำหรับมองใกล้นั่นเอง
● สายตาสั้นจะกลับมาเป็นปกติเมื่ออายุมากขึ้น
มีกรณีที่เด็กสายตาสั้น เมื่อโตขึ้นค่าสายตาสั้นน้อยลงเช่นกัน เกิดจากการเติบโตของลูกตาที่สมดุลมากขึ้น แต่ส่วนที่คนมักเข้าใจผิดคือหากตอนอายุน้อยสายตาสั้น เมื่ออายุมากขึ้นและสายตายาว จะหักล้างทำให้ค่าสายตาสั้นหายไป ซึ่งไม่เป็นความจริง
สายตาสั้นแต่ไม่อยากใส่แว่น รักษาอย่างไรได้บ้าง
● เลือกใส่คอนแทคเลนส์
● การทำเลสิค (Laser-Assisted In-Situ Keratomileusis หรือ LASIK)
● รีแลกซ์สมายล์ (Relex Smile)
● เฟมโตเลสิค (Femto LASIK)
● พีอาร์เค (Photorefractive Keratectomy หรือ PRK)
● Implantable Collamer Lens หรือ ICL
ซึ่งการรักษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณารายบุคคลตามความเหมาะสม ทั้งนี้หากรู้ตัวว่าการมองเห็นเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ชัดเท่าเดิม ควรเข้าตรวจวัดสายตาเพื่อหาค่าสายตา และตรวจเช็คสุขภาพของดวงตาในเบื้องต้น เพื่อป้องกันโรคที่ทำให้สายตามีปัญหาลุกลามจนยากจะรักษา
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/health/care/6052
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา