Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
4 พ.ย. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สรุป 5 ขั้นตอน วางแผนเกษียณวันนี้ แถมประหยัดภาษีง่าย ๆ ลงมือทำตามได้จริง
ชีวิตเปรียบเสมือนฤดูกาลที่หมุนเวียนไปเรื่อย ๆ ซึ่งในหลายครั้ง เราเองก็มัวแต่เพลิดเพลินกับช่วงเวลาในวัยเด็ก และความเร่งรีบในวัยหนุ่มสาว ที่ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความมั่งคั่ง
ก็ทำให้หลายคน อาจเผลอลืมคิดถึงช่วงชีวิตบั้นปลาย นั่นก็คือ วัยเกษียณ ที่เราไม่สามารถใช้แรงกายหาเงินได้ มากเท่าแต่ก่อนอีกแล้ว
การเตรียมตัววางแผนการเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรมองข้าม
ถ้าหากอยากรู้เทคนิคการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ และเครื่องมือการวางแผนเกษียณที่น่าสนใจ
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
การเตรียมความพร้อมทางการเงินสำหรับวัยเกษียณ เป็นการวางแผนเพื่อให้เรามีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในแบบที่เราต้องการ โดยไม่ต้องพึ่งพา หรือเป็นภาระให้ลูกหลาน
เราสามารถวางแผนเกษียณได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจาก
1. กำหนดอายุที่จะเกษียณ
การกำหนดอายุเกษียณ เป็นสิ่งที่บอกเราว่า ตอนนี้เหลือเวลาเก็บเงินเตรียมเกษียณอีกนานเท่าไร เพราะว่าหลังจากพ้นอายุเกษียณไป การจะหารายได้จากการทำงานมาเพิ่มก็ยากขึ้นแล้ว
โดยคนส่วนใหญ่ก็จะเกษียณจากการทำงาน ในอายุประมาณ 55 ถึง 60 ปี
แต่ในปัจจุบันนี้ก็อาจจะมีเทรนด์เกษียณเร็ว โดยเกษียณอายุในช่วงวัยแค่ 40 ปีเท่านั้น แต่ก็ต้องแลกมากับการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูง ๆ หรือเก็บต่อเดือนให้ได้มากที่สุด เพราะเวลาเก็บเงินค่อนข้างสั้นกว่าคนทั่วไป
2. ประมาณการช่วงระยะเวลาหลังเกษียณ
เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่เงินหมด แต่เรายังไม่ตาย จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การรู้ว่าเราจะต้องใช้เงินหลังเกษียณไปอีกกี่ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
1
แน่นอนว่าไม่มีใครรู้วันตายของตัวเองได้ แต่เราสามารถประเมินจากอายุขัยเฉลี่ย ของญาติพี่น้องในครอบครัวได้
ดูประกอบกับความแข็งแรงของร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรา ว่ามีความเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยแค่ไหน
หรือไม่ก็ใช้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรไทยเลยก็ได้ โดยจากข้อมูลสถิติประชากร ผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ยที่ 75 ปี และผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ยที่ 81 ปี
หรือก็คือโดยเฉลี่ยแล้ว เวลาใช้เงินของเราหลังเกษียณจะอยู่ที่ประมาณ 15 ถึง 20 ปีนั่นเอง ในกรณีที่เกษียณอายุเมื่ออายุ 60 ปี
3. ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ
ตามหลักการแล้ว ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ
เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับการทำงานก็จะลดลง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเข้าสังคม รวมถึงภาษี
โดยสูตรในการคำนวณ จำนวนเงินที่ควรจะมีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ก็คือ
ค่าใช้จ่ายต่อปีหลังเกษียณ x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ
คุณ A มีค่าใช้จ่ายช่วงก่อนเกษียณเท่ากับ 50,000 บาท และคาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณไปอีก 20 ปี
ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ที่ 35,000 บาทต่อเดือน
คิดเป็นปีละ 420,000 บาท
และเมื่อนำไปคูณกับ 20 ปี ก็จะได้เท่ากับ 8,400,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่คุณ A ต้องเตรียมไว้สำหรับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เราก็ควรระวังไว้ว่า จำนวนเงินนี้ยังไม่ได้คำนวณรวมเงินเฟ้อ จึงทำให้เราอาจจะต้องมีเงินสำหรับการเกษียณจำนวนมากกว่าที่คำนวณได้เล็กน้อย
4. ประมาณการแหล่งรายได้หลังเกษียณ
แม้หลังเกษียณเราจะไม่ได้ทำงานแล้ว แต่รัฐก็ยังมีสวัสดิการให้กับผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณอยู่ เช่น เงินชราภาพ เงินบำเหน็จบำนาญประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับพนักงานเอกชน หรือบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
โดยเราก็จะเอารายได้เหล่านั้น มาคิดรวมว่าหลังเกษียณเราจะมีรายได้จากแหล่งรายได้เหล่านี้ ทั้งหมดเท่าไร
จากนั้นเราก็นำมาเทียบกันกับค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่คำนวณไว้ก่อนหน้านี้ ว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้าไม่เพียงพอ ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเริ่มทำขั้นตอนต่อไป
5. วางแผนการออมและการลงทุน
จากการประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายหลังเกษียณในขั้นตอนก่อนหน้านี้ เราก็จะรู้ว่าเราต้องเก็บเงินเพิ่มอีกเท่าไร เพื่อจะได้วางแผนการออม การลงทุนให้เหมาะสม
โดยการวางแผนเกษียณก็มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่านหุ้น ตราสารหนี้ หรืออสังหาฯ ทั้งด้วยตัวเอง และผ่านกองทุนรวม
แต่ถ้าหากเราอยากวางแผนเกษียณในวันหน้า แต่ก็อยากได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในวันนี้ด้วย ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
แต่รู้หรือไม่ว่า มีอีกหนึ่งเครื่องมือทางการเงินที่ออกแบบมาเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ นั่นคือ ประกันแบบบำนาญ
โดย ประกันบำนาญ มีลักษณะเหมือนการนำเงินออมไปฝากไว้ตามระยะเวลาของแบบประกัน จากนั้นในช่วงวัยเกษียณเราจะได้รับเงินผลตอบแทนกลับมาในจำนวนเงินที่แน่นอนเป็นงวด ๆ ตามที่ระบุในกรมธรรม์
ด้วยความที่ได้เงินบำนาญกลับมาแน่นอน โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของตลาดการเงิน ก็ถือเป็นจุดเด่นของประกันบำนาญ ที่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ที่มั่นคงหลังเกษียณเป็นอย่างดี
อีกหนึ่งข้อดีสำคัญของประกันบำนาญคือ เบี้ยประกันสามารถลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุน RMF และกองทุน SSF แล้ว สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
อ่านถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่า เราสามารถวางแผนเกษียณได้ง่าย ๆ โดยเริ่มต้นจากการกำหนดอายุเกษียณ ประมาณการระยะเวลาและค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ตรวจสอบแหล่งรายได้ ไปจนถึงการวางแผนการออมและการลงทุน
1
โดยการวางแผนการออมและการลงทุน ก็มีเครื่องมือหลากหลายมาก เราควรศึกษาข้อมูลและเลือกใช้ให้เหมาะกับตัวเราเอง
1
ซึ่งถ้าหากถามว่า เราควรจะเริ่มต้นทำเรื่องเหล่านี้วันไหน คำตอบเดียวที่ได้ก็คือ “วันนี้”
เพราะสุดท้ายการเริ่มต้นวางแผนเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้เราสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในวัยเกษียณได้มากขึ้นเท่านั้น
เพื่อให้บั้นปลายชีวิตเราเต็มไปด้วยความสุขและความมั่นคง โดยไม่ต้องเป็นภาระให้กับใคร..
References
-
https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/glossary/retirement-planning
-
https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/knowledge/article/46-retirement-planning-with-annuity
-
https://www.boi.go.th/index.php?page=demographic&language=th
วางแผนการเงิน
การเงิน
การลงทุน
94 บันทึก
66
2
89
94
66
2
89
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย