Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนแมน
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
2 พ.ย. 2024 เวลา 04:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บทเรียนซาอุฯ VS เวเนซุเอลา มีน้ำมันเหมือนกัน แต่อีกคนรวย อีกคนล้มละลาย
เคยไหมเวลาเราไปสั่งเมนูอาหารประจำ แต่กลับไม่อร่อยเหมือนเดิม เพราะวันนี้เชฟคนเดิมไม่มาทำงาน
2
เพราะแม้อาหารจานเดียวกัน มีวัตถุดิบเหมือนกัน แต่สุดท้ายหน้าตาและรสชาติ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของเชฟแต่ละคน
2
ไม่ต่างอะไรกับซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ประเทศที่มีวัตถุดิบราคาแพงอย่าง “น้ำมัน” เหมือนกันทั้งคู่ แต่มีความสามารถในการปรุงไม่เหมือนกัน จนสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ออกมา ต่างกันราวฟ้ากับเหว
1
ทำไมประเทศแห่งน้ำมันทั้งคู่
ประเทศหนึ่ง ร่ำรวย อีกประเทศหนึ่ง กลับถังแตก ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
2
รู้ไหมว่า ปัจจุบันทั้งเวเนซุเอลาและซาอุดีอาระเบีย มีน้ำมันสำรอง (Oil Reserves) มากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก
- เวเนซุเอลา มีน้ำมันสำรอง 303,000 ล้านบาร์เรล
- ซาอุดีอาระเบีย มีน้ำมันสำรอง 267,000 ล้านบาร์เรล
โดยแค่ 2 ประเทศนี้ มีน้ำมันสำรองรวมกันมากถึง
570,000 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 46% ของน้ำมันสำรองทั้งโลกเลยทีเดียว
1
ถ้าถามว่ามากขนาดไหน ลองเทียบกับปริมาณน้ำมัน
เชื้อเพลิงที่คนไทยใช้เฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 1 ล้านบาร์เรล
เท่ากับว่า น้ำมันสำรองแค่ 2 ประเทศ คนไทยสามารถ
ใช้ได้ยาว ๆ ไปอย่างน้อย 1,561 ปี..
4
ด้วยปริมาณที่มากมายขนาดนี้ เป็นใครก็คงมองว่า ถ้าเวเนซุเอลาและซาอุดีอาระเบีย เลือกกินบุญเก่าอย่างการขายน้ำมันไปเรื่อย ๆ ประเทศตัวเอง ก็ยังไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย
1
แต่ความเป็นจริงนั้น มันไม่เสมอไป..
ซึ่งในช่วงแรก ทั้งคู่ก็ตัดสินใจบริหารจัดการปริมาณน้ำมันสำรองที่มีอยู่ไม่ต่างกัน ด้วยการให้สัมปทาน
กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ ให้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ
เพราะตัวเองยังไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการขุดเจาะน้ำมัน
ผลประโยชน์ก็ถูกแบ่งกันอย่างแฟร์ ๆ
ประเทศได้เงินสัมปทาน เกิดการจ้างงานในประเทศ
และเรียนรู้เทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมันจากต่างชาติ
1
ส่วนบริษัทน้ำมันก็สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำมัน และได้กำไรจากการขายน้ำมันเข้ากระเป๋าไป
แต่นานวันเข้า ทั้งเวเนซุเอลาและซาอุดีอาระเบีย
เริ่มรู้สึกว่า ตัวเองได้ผลประโยชน์จากน้ำมันน้อยไป
ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันเลยนะ
3
ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจ ที่จะเอาบ่อน้ำมันที่ให้สัมปทานไป กลับมาเป็นของตัวเองแบบ 100% อีกครั้ง
1
ซึ่งตรงนี้เอง เป็นจิกซอว์เริ่มต้น ที่ทำให้ภาพของทั้ง 2 ประเทศ แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว อย่างในทุกวันนี้..
4
โดยในปี 1950 ฝั่งซาอุดีอาระเบีย เริ่มกดดันให้บริษัท Aramco ที่มีบริษัทน้ำมันต่างชาติหลายแห่งถือหุ้นรวมกัน
แบ่งกำไรครึ่งหนึ่งจากการขายน้ำมันให้กับรัฐบาล
1
ต่อมาก็จับมือกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อื่น ๆ ตั้งกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC เพื่อกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก และสร้างอำนาจต่อรองกับบริษัทน้ำมันต่างชาติ
2
พร้อมกับไล่ซื้อหุ้น Aramco ตั้งแต่ปี 1973 จนเป็นเจ้าของ 100% ในปี 1980
ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น Saudi Aramco ที่กลายมาเป็นบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่สำรวจและผลิตน้ำมันดิบ โรงกลั่นน้ำมัน ไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำอย่างปิโตรเคมี
3
ซึ่งปัจจุบัน Saudi Aramco มีรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ถือหุ้นอยู่กว่า 97.5%
และสามารถทำกำไรหลักหลาย “ล้านล้านบาทต่อปี”
2
ปี 2023 มีรายได้ 16.7 ล้านล้านบาท และกำไร 4.1 ล้านล้านบาท
และเงินตรงนี้ก็เข้ากระเป๋ารัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เต็มเม็ดเต็มหน่วย
2
และนอกจากเข้ากระเป๋ารัฐบาลแล้ว ซาอุดีอาระเบียยังเอาเงินตรงนี้ไปเข้ากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เพื่อนำเงินไปลงทุนต่อยอดในโครงการและธุรกิจต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศ
2
ข้ามไปอีกซีกโลกหนึ่งที่เวเนซุเอลา เป้าหมายของรัฐบาลเวเนซุเอลา ก็ไม่ต่างกัน เพราะต้องการได้ผลประโยชน์จากน้ำมัน และไม่ต้องการให้บริษัทต่างชาติได้กำไรอีกต่อไป
แต่สิ่งที่เวเนซุเอลาทำ ไม่ได้ไล่ซื้อหุ้นบริษัทต่างชาติแบบที่ซาอุดีอาระเบียทำกับ Aramco เพราะรัฐบาลเวเนซุเอลา ตัดสินใจตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติที่ชื่อว่า PDVSA ขึ้นมาในปี 1976
1
พร้อมไฟเขียวให้บริษัทแห่งนี้ เข้าไปยึดกิจการน้ำมันจากบริษัทต่างชาติ เข้ามาอยู่ในมือตัวเอง จนทำให้ PDVSA แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมเลยแม้แต่น้อย
2
ซึ่งหลายปีผ่านไป บริษัทน้ำมันแห่งชาติ ก็กลายมาเป็นเครื่องจักรผลิตเงินสดให้รัฐบาล ทำให้ประเทศมีสถานะการเงินที่เข้มแข็งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2
ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป โดยที่รัฐบาลใช้ส่วนแบ่งกำไรที่ได้มาจากการขายน้ำมัน ไปต่อยอดในสิ่งที่มีประโยชน์ คนเวเนซุเอลา ก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีต่อไปเรื่อย ๆ
1
แต่สิ่งที่ทำกลับตรงกันข้าม..
1
เพราะนับตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา รัฐบาลเวเนซุเอลาใช้นโยบายประชานิยมอย่างหนัก เพื่อสร้างคะแนนเสียงให้กับผู้นำประเทศ ด้วยการแจกเงินให้กลุ่มคนยากจน
11
1
พร้อมผลักดันโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ มากมาย เช่น สร้างถนน สร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า กำหนดราคาพลังงานในราคาถูก เพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ และจ้างข้าราชการเพิ่มเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการออกกฎหมายแรงงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
3
และเดาไม่ยากเลยว่าเอาเงินจำนวนมหาศาลมาจากไหน ก็เอามาจากส่วนแบ่งกำไรน้ำมันจาก PDVSA ที่เป็นเหมือนตู้ ATM ให้รัฐบาลกดเงินออกมาใช้เรื่อย ๆ
2
แต่ทุกอย่างที่พึ่งพิงน้ำมันเพียงอย่างเดียว ทำให้เรื่องนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่นับถอยหลังรอวันหายนะ..
ด้วยความที่ร่ำรวยจากน้ำมัน ทำให้สินค้าส่วนใหญ่ในท้องตลาดของเวเนซุเอลา เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือยจากยุโรป และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น
3
เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงทุนภาคเอกชนของเวเนซุเอลา ก็แทบไม่เกิดขึ้น เพราะไม่มั่นใจว่า ลงทุนผลิตอะไรไปแล้ว จะขายออกหรือไม่ สู้สินค้านำเข้าได้หรือเปล่า
บวกกับฝั่งนายจ้างต้องแบกรับค่าแรงที่สูง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ภาคเอกชนจึงเลือกที่จะไม่ผลิตอะไรเลย ประสิทธิภาพในภาคการผลิตของประเทศนี้จึงลดลงเรื่อย ๆ กระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว
2
ที่สำคัญ PDVSA ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญของรัฐบาล แทนที่กำไรของบริษัทจะถูกนำไปใช้ในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ หรือนำไปใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการสำรวจและผลิตน้ำมันของบริษัท
1
แต่กำไรเหล่านั้นกลับถูกนำมาใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ตามที่ได้สัญญากับประชาชนไว้
เมื่อเวลาผ่านไป กำลังการผลิตของบริษัทน้ำมันหลายแห่ง ก็ได้ลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนหายไปเกือบ 80% เลยทีเดียว
เพราะน้ำมันในประเทศเป็น Extra-Heavy Crude Oil หรือน้ำมันดิบชนิดหนักพิเศษ ทำให้ขั้นตอนการกลั่นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อน ซึ่งต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง
โดยเวเนซุเอลา เป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก มากกว่าซาอุดีอาระเบียด้วยซ้ำ แต่ถ้ามาดูความสามารถในการผลิตต่อวัน เวเนซุเอลา กลับผลิตได้น้อยกว่าเป็น 5 เท่า..
2
และ PDVSA ก็เริ่มขาดทุนหนัก จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
ประกอบกับปัญหาการคอร์รัปชันภายในบริษัท ที่เงินได้ถูกยักยอกนำออกไป
ทำให้บริษัทเริ่มมีปัญหาทางการเงิน และผิดนัดชำระหนี้ มูลค่ารวมกันมากกว่า 2 แสนล้านบาท
2
ในที่สุดตู้ ATM เครื่องนี้ก็พังลง รัฐบาลกดเงินออกมาใช้ไม่ได้แล้ว จนต้องหันไปกู้ยืมจนเป็นหนี้สินระยะยาวของประเทศ กลายเป็นวิกฤติเวเนซุเอลา ที่เราเห็นมาถึงทุกวันนี้
3
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นภาพชัดเจนเลยว่า แม้ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา จะมีวัตถุดิบอย่างน้ำมันเหมือนกัน แต่การปรุงประเทศที่ไม่เหมือนกัน จนทำให้ชะตากรรมต่างกันมาก
ในขณะที่ฝั่งซาอุดีอาระเบีย เลือกบริหารจัดการอุตสาหกรรมในประเทศอย่างเหมาะสม มีลูกล่อลูกชนกับบริษัทต่างชาติอย่างเป็นระบบ
และมีแผนต่อยอดเงินจากน้ำมันในอนาคต ออกไปเรื่อย ๆ
2
เวเนซุเอลา กลับตัดสินใจแบบหวังผลระยะสั้น
ทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจบิดเบี้ยว
ภาคเอกชนของประเทศ ไม่สามารถอยู่ได้
เกิดโครงการประชานิยมมากมาย
และปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึก
5
ท้ายที่สุด PDVSA ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลเวเนซุเอลา เคยตั้งใจจะให้เป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก กลับกลายมาเป็นบริษัทน้ำมันที่เลวร้ายที่สุดของโลก ด้วยน้ำมือของรัฐบาลเวเนซุเอลาเอง
3
และกลายเป็นว่า เวเนซุเอลา ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจหลายครั้ง จนนำมาสู่ภาวะล้มละลายในที่สุด..
91 บันทึก
168
8
125
91
168
8
125
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย